โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'No Pain ก็ Gain ได้' เมื่อการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเจ็บปวดเสมอไป

The MATTER

อัพเดต 08 ส.ค. 2565 เวลา 09.36 น. • เผยแพร่ 05 ส.ค. 2565 เวลา 09.16 น. • Lifestyle

“สมัยก่อนโดนหนักกว่านี้อีกนะ”

มักจะเป็นคำพูดเกริ่น ก่อนจะตามมาด้วยเรื่องราวของการอดทนกับไม้เรียวในโรงเรียน การแบกรับถ้อยคำหยาบคายเมื่อทำผิดพลาด การยอมทำงานหามรุ่งหามค่ำแต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม ราวกับหยาดเหงื่อที่ทุ่มเทลงไปนั้นไร้ความหมาย แล้วตบท้ายด้วยคำปลอบใจว่า 'No pain, no gain.'—หากไม่เจ็บปวด เราคงไม่ได้เรียนรู้

จริงอยู่ที่หนทางสู่ความสำเร็จหรือการเก็บเกี่ยวบทเรียนสำคัญนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสีหวาน แต่คำถามที่ตามมาคือ เราสามารถเรียนรู้ โดยไม่ต้องเจ็บปวดได้บ้างหรือเปล่า?

เส้นแบ่งระหว่าง ‘ความยากลำบาก’ กับ ‘ความเจ็บปวด’

No pain, no gain เป็นวลีแสนคุ้นหูเพื่อบอกว่า บาดแผลและการทนทุกข์นั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องก้าวผ่านก่อนจะไปถึงความสำเร็จ แม้คำพูดนี้จะมีมาอย่างยาวนาน แต่เพิ่งจะเริ่มฮิตเมื่อราวๆ ทศวรรษที่ 1980 โดย เจน ฟอนดา (Jane Fonda) นักแสดงหญิงชาวอเมริกันที่พูดคำนี้ในวิดีโอออกกำลังกายของเธอ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนมีแรงฮึดออกมาฟิตหุ่นขยับร่างกาย

นอกจากในยิมแล้ว วลีนี้ยังใช้ในบริบทการเรียน การทำงาน ไปจนถึงการใช้ชีวิต ซึ่งในมุมหนึ่งก็ทำให้เข้าใจธรรมชาติของชีวิตว่า เราอาจเจอความไม่แน่นอนและเรื่องที่ไม่ได้อย่างใจแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เลยต้องพยายามเรียนรู้ อดทนและก้าวผ่าน

แต่บางครั้งความหมายของถ้อยคำนี้กลับถูกบิดเบือนไป กลายเป็นการเลี่ยงหรือบิดเบือนปัญหาที่ควรแก้ไข อย่างการใช้คำวิจารณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ การทำโทษด้วยความรุนแรง การละเมิดสิทธิสวนบุคคล หรือการทำให้อับอาย แล้วใช้เหตุผลว่า “ก็ No pain, no gain ไงล่ะ เราช่วยสร้าง ‘ภูมิคุ้มกัน’ ให้ เดี๋ยวคุณจะออกไปเจอโลกภายนอกที่โหดร้ายกว่านี้อีก”

สุดท้าย No pain, no Gain เลยเปลี่ยนบทบาทจากถ้อยคำ ‘ปลอบใจคนเจ็บปวด’ กลายเป็น ‘ข้ออ้าง’ ให้คนที่สร้างบาดแผลให้กับคนอื่นว่า การกระทำของเขาเป็นเรื่องชอบธรรมและควรจะเกิดขึ้น

จอห์น ชิลโคตอว์สกี (John Chilkotowsky) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจในบทความ Success = Suffering? No Pain, No Gain, No More! ว่า บางทีเราอาจจะมองชีวิตเป็นสองด้านเหมือนสวิตช์ที่มีแค่ ‘เปิด-ปิด’ กันอยู่หรือเปล่า? เพราะเรากำลังมองว่าชีวิตมีทางเลือกแค่ ‘ความสบาย’ (comfort) กับ ความเจ็บปวด (pain) เท่านั้น โดยหลงลืมสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองอย่างนี้ นั่นคือ ‘ความยากลำบาก’ (discomfort) ที่ทำให้เราเรียนรู้ได้เหมือนกัน อย่างการกลับมาปรับแก้ผลงานนั้นอาจจะทำให้เรารู้สึกว่าหนทางไม่ได้ราบรื่น 100% แต่เราก็ได้พัฒนาตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องเจ็บปวด

ในบริบทของการทำงาน ถ้าเราต้องทนทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ ทนต่อถ้อยคำรุนแรงหยาบคายของหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน ยอมรับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมหรือถูกละเมิดสิทธิ สุดท้ายแล้วสิ่งที่ตามมาอาจจะกลายเป็น pain ที่ไม่ gain อะไรเลยก็ได้ แถมปัญหาเชิงโครงสร้างหรือระบบการทำงานที่ควรได้รับการแก้ไข ก็จะยังคงเกิดขึ้นต่อไปจนกลายเป็นเรื่องปกติ

“ครั้งหนึ่งผมเคยร่วมงานกับผู้นำระดับสูงที่จะพร้อม ‘เดินฝ่าทุกความโหดหิน’ เพื่อองค์กรของเขาอย่างจริงจัง พวกเขามองว่าความเจ็บปวดเป็นเหมือนกับ ‘ดาวเหนือ’ และก้าวตามมันไปเพื่อความสำเร็จและความล้มเหลวอันยิ่งใหญ่ พวกเขาเป็นที่รู้จักในนามคนที่ 'ทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จ' และยังขึ้นชื่อในฐานะ 'คนนิสัยแย่ตัวจริง' สำหรับคนรอบตัวหลายคน ผู้นำเหล่านี้มักผลักดันตัวเองและทีมอย่างไม่ลดละ จนคนในทีมเริ่มเปลี่ยนงาน และสุขภาพของเขาดิ่งลงเหว” จอห์น ชิลโคตอว์สกี เขียนในบทความของเขา

No pain ก็ Gain ได้เหมือนกัน

นอกจากมุมมองข้างต้น ในเว็บไซต์ sciencedaily ได้เล่าถึงงานวิจัยที่พบว่า เวลาคนเราทำกิจกรรมพัฒนาทักษะ เพิ่มความสามารถ ไม่ว่าจะในโรงเรียน ที่ทำงาน หรือโรงยิม ระดับความเพลิดเพลินจะลดลงชั่วคราว ขณะที่ความเครียดเพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วย้อนกลับมามองภาพรวม ผู้เข้าร่วมการทดลองส่วนใหญ่รายงานว่าพวกเขารู้สึกมีความสุขและพึงพอใจ

การศึกษานี้ยังลงลึกไปถึงคำถามว่า จะมีวิธีไหนไหมที่จะบรรเทาความเครียดและเติมความสุขให้กับตัวเองได้ตั้งแต่ตอนทำกิจกรรมเหล่านี้?

ข่าวดีคือพวกเขาพบว่า ถ้าได้ทำกิจกรรมที่สร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ และตรงกับความต้องการของตัวเอง โดยไม่ได้ถูกบังคับให้ทำหรือเป็นสิ่งที่พวกเขามองว่าควรจะทำ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะรายงานว่าตัวเองมีความสุขทั้งตอนทำกิจกรรมนั้นๆ และตอนที่มองย้อนกลับมาทีหลัง

ดังนั้นถ้าอยากจะลดความเครียดระหว่างการทำงาน หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความสามารถ เราอาจจะสอดแทรกกิจกรรมที่ได้ร่วมทำกับคนอื่นๆ หรือกิจกรรมที่คนคนนั้นเต็มใจจะทำได้เหมือนกัน

สุดท้ายแล้ว No pain, no gain ก็ยังคงเป็นคำพูดที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา แต่อาจไม่ได้เป็นจริงในทุกๆ เงื่อนไขของชีวิต เพราะแม้บาดแผลจะเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต แต่กว่าจะทำความเข้าใจและก้าวข้ามไปได้คงไม่ใช่เรื่องง่าย และเชื่อว่าถ้าเลือกได้ เราคงไม่อยากวิ่งเข้าหาหรือสร้างความปวดร้าวให้กับตัวเองมาตั้งแต่ต้น

อ้างอิงข้อมูลจาก

Linkedin

Sciencedaily

grammarist

Illustration by Manita Boonyong

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0