โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

เพื่อไทย รวม 11 พรรค แถลงโควตารัฐมนตรี ขอเสียง สว. โหวตนายกฯ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 21 ส.ค. 2566 เวลา 12.14 น. • เผยแพร่ 21 ส.ค. 2566 เวลา 07.05 น.
1374997

พรรคเพื่อไทย แถลงจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง เดินหน้าร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พร้อมขอเสียง สว.โหวตนายกฯ แก้รัฐธรรมนูญ

วันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่อาคารรัฐสภา แกนนำพรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล แถลงการจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค จำนวน 314 เสียง

นพ.ชลน่านระบุว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองรวม 11 พรรค จำนวน 314 เสียง ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล ทั้งนี้ ได้มีมติร่วมกันเสนอชื่อ “นายเศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

โควตารัฐมนตรี

พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการรวบรวมพรรคต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้

  • พรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง
  • พรรคพลังประชารัฐ (40 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง
  • พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง
  • พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง
  • พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 8 กระทรวง/รัฐมนตรีช่วย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรวม 9 ตำแหน่ง
  • พรรคอื่น ๆ อีกจำนวน 5 พรรค ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง/พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 ที่นั่ง/พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง/พรรคท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง/พรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง

พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้เชิญหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายของแต่ละพรรคมาตกลงเรื่องการร่วมมือและแบ่งงานกันทำ โดย “ทุกพรรคบรรลุข้อตกลงร่วมกัน จะนำนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้เป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ เช่น digital wallet, ที่ดินทำกิน, ขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาทภายในปี 2570, เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท

เกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ, เพิ่มราคาพืชผลเกษตร, แก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้, กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ และจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และยังคงไว้ในส่วนของหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์”

ทั้งนี้ พรรคร่วมจะนำนโยบายเข้ามาบูรณาการร่วม พร้อมปรับ เสริม หรือประสานนโยบายของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ให้เป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด และนำมาจัดทำเป็นนโยบายร่วมกัน เพื่อแถลงต่อรัฐสภาต่อไป

พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ขอกราบเรียนว่า ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะประชาชนกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ สถานการณ์หนี้สินของครัวเรือน ภาคธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางได้รับผลกระทบมาแล้วเป็นเวลานาน ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงสร้างและกลไก เพื่อนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศให้กลับคืนมาอีกครั้ง

พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลตระหนักดีว่า ในสถานการณ์ดังกล่าวเราไม่อาจจะทอดเวลาไปมากกว่านี้ หรือจำนนต่อสถานการณ์ขัดแย้งที่ประเทศและประชาชนตกอยู่ในวงล้อมที่เสียโอกาสไปทุกขณะ

การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ อยู่บนฐานความรับผิดชอบต่อประชาชน ในสถานการณ์ที่ปัญหาทุกด้านส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องรุนแรง

แม้พรรคเพื่อไทยจะเผชิญกับวาทกรรม หรือคำกล่าวหาที่รุนแรงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรารับรู้ความขัดแย้งดังกล่าวด้วยใจที่เป็นธรรม และตั้งใจมุ่งสู่เป้าหมายที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง ดังนั้น เป้าหมายหลักในวาระนี้คือ การเข้ามาร่วมรับผิดชอบในวาระประเทศและวาระของประชาชน

พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะมุ่งมั่นดำเนินการตามนโยบาย ด้วยการแก้ปัญหาให้กับประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นอย่างรวดเร็ว เราต้องเร่งทำงานเพื่อฟื้นโครงสร้างเศรษฐกิจ กำหนดนโยบายพัฒนามาตรการกลไก เพื่อความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างสร้างสรรค์ พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า “ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย

ถึงแม้จะมีอดีตพรรคการเมืองในรัฐบาลที่แล้วร่วมรัฐบาล แต่ทุกพรรคจะร่วมกันทำงานกับพรรคเพื่อไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ดังเช่นที่ทุกพรรคการเมืองได้เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย” และพรรคร่วมรัฐบาลจะใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความรัก สามัคคี ปรองดองของคนในชาติ และจะร่วมกันสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติและประชาชนต่อไป

จากแถลงการณ์และเจตจำนงดังกล่าวข้างต้น เราจึง “ขอรับการสนับสนุนจากท่านสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน และทุกพรรคการเมือง มาร่วมกันผลักดันวาระประเทศ เพื่อดำรงความมุ่งหมายที่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของประเทศ และดูแลสถาบันหลักของชาติเป็นสำคัญ ร่วมกันลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การขยายความขัดแย้งในประเทศ ร่วมกันพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่งและการกินดีอยู่ดีของประชาชน และมีความเป็นประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ขึ้น”

“มุ่งมั่นทำงาน แก้วิฤตการณ์ประเทศ โดยยึดวาระประชาชน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 นพ.ชลน่านกล่าวว่า เจตจำนงของพรรคร่วม แก้ไขเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่วนหมวด 1 หรือหมวด 2 ชัดเจนอยู่ในแถลงการณ์ โดยจะเป็นวาระแรกในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่า การแบ่งโควตารัฐมนตรีจะเกิดขึ้นก่อนการโหวตนายกฯ และใครได้อะไรบ้างหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า จากการที่แถลงการณ์ไป เราได้กำหนดสัดส่วนของแต่ละพรรคถึงโควตารัฐมนตรี ส่วนรายละเอียดเป็นเรื่องของแต่ละพรรคไปดำเนินการ และได้คุยกันเป็นที่ตกลง ยอมรับซึ่งกันและกัน แต่ไม่สามารถนำเสนอได้ เพราะต้องผ่านกระบวนการไปตรวจสอบคุณสมบัติ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ

เมื่อถามย้ำว่า ตอนนี้ใครได้กระทรวงอะไรรู้แล้วใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นข้อตกลงที่เรามีความชัดเจน ในเงื่อนไขที่เรามีร่วมกัน

เมื่อถามถึงท่าที สว.ในการโหวตนายเศรษฐา นพ.ชลน่านกล่าวว่า คณะทำงานดำเนินการเรื่องนี้อยู่ในขั้นที่มีความมั่นใจจากจำนวนที่เราได้รับ การโหวตในวันพรุ่งนี้ไม่เป็นปัญหา

เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ที่จะตามมาหลังจากมีประเด็นวิจารณ์นายเศรษฐา โดยไม่ยอมมาแสดงวิสัยทัศน์ นพ.ชลน่านกล่าวว่า การแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกฯ เราถือเอาตัวรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเป็นหลัก หน้าที่ของรัฐสภามีหน้าที่เลือกบุคคลที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งขั้นตอนนี้เราเรียนด้วยความเคารพ ในฐานะหัวหน้าพรรค การคัดเลือกแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ผ่านการกลั่นกรองอย่างถี่ถ้วน

เมื่อถามว่า มีแผนสำรองหรือไม่หากนายเศรษฐาไม่ผ่านการโหวต นพ.ชลน่านกล่าวว่า “ไม่มีแผนครับ เรามั่นใจว่าผ่าน”

youtube
youtube
0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0