"อ.เจษฎา" ตอบข้อสงสัยโลกโซเชียล กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก โพสต์ล้างหมูสับดิบ ก่อนนำไปปรุงอาหาร เช็กคำตอบที่นี่
รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เพจเฟซบุ๊กอ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ กรณีไวรัล ล้างหมูสับดิบ ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกโซเชียล โดยระบุว่า
กำลังเป็นกระแสที่ร้อนแรงบนโซเชียล ถึงประเด็นการโพสต์ของแม่บ้านท่านหนึ่ง ที่โพสต์นำหมูสับดิบไปล้างน้ำ พร้อมระบุข้อความว่า
หมูสับถ้าสับเองก็สบายหน่อย แต่ถ้าซื้อมา มั่นใจได้ยังไงว่ามันสะอาด บ้านนี้จึงล้างหมูสับทุกครั้ง
ความเห็นของผมก็คือ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่สกปรกจริง ๆ ก็ไม่ต้องเอาเนื้อสัตว์ที่ซื้อมา ทั้งเนื้อชิ้นหรือเนื้อที่สับแล้ว (ไม่ว่าจะหมูหรือไก่หรือเนื้อวัว) มาล้างน้ำครับ สามารถนำไปประกอบอาหารได้ เพียงแต่ต้องทำให้สุก ด้วยความร้อนที่มากเพียงพอ นานเพียงพอ ให้มั่นใจว่าฆ่าเชื้อโรค (และตัวอ่อนพยาธิ ถ้ามี) ตายหมดแล้ว
เรื่อง ล้างเนื้อสัตว์ ก่อนทำอาหาร แบบนี้ เป็นโจทย์คำถามที่ในต่างประเทศก็มีครับ แต่สำหรับกรณีของ เนื้อหมูสับ (หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่เอามาบด หรือสับแล้ว) จะไม่ค่อยเป็นประเด็นนัก ไม่ค่อยเป็นที่นิยมทำ เพราะถ้าเอามาล้าง เนื้อสับนั้น มันมักจะละลายไปกับน้ำด้วย
ที่จะเป็นประเด็นกันมากกว่า คือ การล้างเนื้อสัตว์ที่เป็นชิ้นใหญ่ ทั้งเนื้อหมูและเนื้อไก่ (ซึ่งคนเอเชียนิยมทำกันมานาน) โดยหวังว่าจะทำให้เนื้อนั้นสะอาดขึ้น แต่ก็จะทำได้เพียงแค่การล้างบรรดา คราบไขมัน เศษสิ่งสกปรก เศษดิน ออกไป ไม่ใช่ว่าจะล้างเอาเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ออกไปได้ง่าย ๆ เหมือนที่หลายคนเข้าใจกันไปเอง
แต่ในยุคปัจจุบันนั้น เนื้อสัตว์ส่วนใหญ่ที่จำหน่ายกัน โดยเฉพาะที่อยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ต มักจะเป็นเนื้อสัตว์ที่ผ่านการผลิตตามมาตรฐาน ตั้งแต่แหล่งชำแหละ การขนส่ง และการบรรจุ รวมถึงการจัดเก็บ-การวางจำหน่าย จึงสะอาดเพียงพอที่จะนำไปบริโภคต่อได้ โดยไม่ต้องเอามาล้างน้ำซ้ำ
จะเห็นว่า ในทางสากล คำแนะนำขององค์การด้านอาหารของประเทศต่าง ๆ (โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันตก) ก็จะระบุเลยว่า พวกเนื้อสัตว์นั้นไม่ควรที่จะต้องเอามาล้างน้ำก่อนไปประกอบอาหารด้วยซ้ำ
เพราะในมุมกลับกันการเอาเนื้อสัตว์โดยเฉพาะพวกเนื้อไก่ มาล้างอาจจะทำให้เกิดปัญหาเกิดความเสี่ยงขึ้นได้ เนื่องจากบนเนื้อสัตว์อาจจะมีเชื้อโรคเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนอยู่ ทำให้เวลาที่เราไปเอาเนื้อสัตว์ไปล้าง กลับกลายเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปเลอะเทอะบริเวณอ่างน้ำ หรือกระเด็นกับน้ำไปเปื้อนพวกอุปกรณ์ทำครัว หรือเปื้อนมือเราและไปเปื้อนโดนอาหารอย่างอื่นในที่สุด ซึ่งเมื่อเรากินเชื้อโรคเข้าไปก็อาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้
ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่หน่วยงานดังกล่าวเน้นกัน คือ การเอาเนื้อสัตว์ไปทำให้สุก ให้ฆ่าเชื้อโรคที่อาจจะปนเปื้อนมาให้หมดไป ไม่ใช่การพยายามล้างออกแต่แรก
ส่วนกรณีที่บอกว่าจำเป็นต้องล้างหรือควรต้องล้างน้ำนั้น จริง ๆ ก็คือแค่เฉพาะถ้าเราทำเนื้อชิ้นนั้นตกพื้น หรือเลอะเทอะสกปรกเพราะซื้อมาจากเขียงชำแหละในตลาดสด ที่มีสภาพไม่ถูกสุขลักษณะ
สรุปคือ ถ้าไม่ได้ซื้อเนื้อสัตว์มาจากแหล่งผลิตที่มั่นใจ ก็เอามาล้างได้บ้าง (แนะนำให้ใช้น้ำร้อน แค่ราดลงไป แล้วเทน้ำออกก็พอ) แต่ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ที่ซื้อในแหล่งที่สุขอนามัย ก็ไม่จำเป็นต้องล้างเลย เพียงแค่นำมาทำให้สุก ก็เพียงพอจะบริโภคได้แล้วครับ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ความเห็น 1
CHAWIN 79
อาจารย์ : ตร.เกือบสองโหลไปบ้านกำนันนกที่นครปฐมต้องล้างน้ำไหม?
08 ก.ย 2566 เวลา 12.06 น.
ดูทั้งหมด