โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“กรุงเทพฯ-ธนบุรี” เคยเป็น “ทะเลตม” มาก่อน จริงหรือ?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 2 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 29 มี.ค. เวลา 06.21 น.
Cover photo BKK02
จิตรกรรมพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี ฝาผนังพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม สมุทรสงคราม (สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“กรุงเทพฯ-ธนบุรี” เคยเป็น “ทะเลตม” มาก่อน จริงหรือ?

ในอดีต “กรุงเทพฯ” รวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงอย่าง“ธนบุรี”เคยเป็นทะเลมาก่อน แต่หลายคนน่าจะไม่รู้ว่า เวลาต่อมาพื้นที่เหล่านั้นได้กลายเป็น “ทะเลตม”

ข้อมูลเกี่ยวกับจุดกำเนิดของธนบุรีกับทะเลตม ปรากฏอยู่ในหนังสือ “โบราณคดีกรุงธนบุรี” (สำนักพิมพ์มติชน) ของ กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ นักโบราณคดีเมือง ที่ได้มาตีแผ่เรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยอ้างอิงจากความรู้ทางธรณีสันฐานที่ล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ตรวจสอบได้ว่า พื้นที่กรุงเทพฯ-ธนบุรี ตั้งอยู่บน ทะเลตม จริง ๆ

ว่าแต่ทะเลตมคืออะไร?

ในหนังสือกล่าวว่า “ทะเลตม คือ ดินโคลนของตะกอนปากแม่น้ำที่เกิดจากการทับถมบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งแต่เดิม ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเคยเป็นทะเลมาก่อน ก่อนที่น้ำทะเลจะถอยร่นจนเกิดเป็นแผ่นดินหรือทะเลตม

ทะเลตมนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ประกอบไปด้วยพืชพันธุ์และสัตว์ตามธรรมชาติ ทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บก มีป่าชายเลนอยู่สุดขอบชายทะโลโบราณ ทะเลตมจึงไม่มีหาดทรายแต่เป็นดินตม”

ทำไมทะเลตมถึงกลายมาเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้?

ว่ากันว่า ทะเลตมเริ่มกลายมาเป็นพื้นที่ที่ผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัย คือช่วง 800 ปีเป็นต้นมา โดยผู้คนต่างต้องการเส้นทางออกทะเล จะเห็นได้จากการตั้งชุมชนโบราณทวารวดีหลายแห่งบริเวณปากทางออกทะเล และหากมองในแง่ธรณีสัณฐาน ก็จะพบว่าในช่วงนั้น ทะเลบริเวณอ่าวไทยได้ถอยร่นเข้าไปใกล้เคียงกับแผ่นดินในปัจจุบัน นำมาสู่การตั้งถิ่นฐานของผู้คนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ

ผู้คนไม่ได้หลั่งไหลกันมาอย่างคับคั่ง แต่เป็นการค่อย ๆ อพยพมาอยู่อาศัย เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้ยังไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยเท่าที่ควร แหล่งน้ำยังเค็มและกร่อย ทว่าเมื่อวันเวลาผ่านไปคนก็อพยพเข้ามามากขึ้น จนก่อตัวกันเป็นชุมชน เป็นเมือง และพัฒนากลายมาเป็นเมืองใหญ่ อย่าง กรุงศรีอยุธยา เมืองธนบุรี เมืองนนทบุรี เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รู้ได้อย่างไรว่าทะเลตมเป็นจุดกำเนิดก่อนเกิดเมืองเหล่านี้?

หลังจากที่เกิดเมืองสำคัญมากมาย ลากยาวจนมาถึง “กรุงเทพฯ”และ “ธนบุรี”ในปัจจุบัน ผู้คนเริ่มตามหาต้นตอของผืนแผ่นดินว่าแต่เดิมเคยเป็นอะไรมาก่อน ก่อนจะกลายมาเป็นเมืองอย่างที่เราอาศัยในปัจจุบัน ประจวบเหมาะกับเทคโนโลยีและการค้นพบหลักฐานที่กว้างไกลมากขึ้น จึงทำให้สามารถนำความรู้ด้านธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์โบราณ และโบราณคดี มาใช้ค้นหาได้

โดยได้มีการนำดินจากหลุมขุดค้นบริเวณอดีตปาร์คสามเสน สวนสาธารณะเอกชนที่สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 และบริเวณใกล้กับบ้านพระสรรพการหิรัญกิจ ไปตรวจสอบด้วยวิธีวิเคราะห์ละอองเรณู (pollen analysis) ซึ่งพบละอองเรณูของพืชพันธุ์ป่าชายเลนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปรงทะเล ลำเท็ง โกงกาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเดิมพื้นที่นี้เป็นทะเลและป่าชายเลนมาก่อน

นอกจากนี้ยังปรากฏว่าหลักฐานว่าธนบุรีนั้นเคยเป็นทะเลตมมาก่อนจริง ๆ จากภาพถ่ายเก่าของ วิลเลียมส์ ฮันท์ ที่ถ่ายภาพมาถึงฝั่งธนบุรี ใน พ.ศ. 2489 ที่เห็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นดอนมีบ้านเรือนเสาสูง ห่างออกไปเป็นพื้นที่ท้องนาที่มีน้ำท่วมเจิ่งนอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2567

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “กรุงเทพฯ-ธนบุรี” เคยเป็น “ทะเลตม” มาก่อน จริงหรือ?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com