โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คาดการณ์ขยะพลาสติก 12 พันล้านตันจะล้นโลกในปี 2050

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 02 พ.ย. 2565 เวลา 08.08 น. • เผยแพร่ 01 พ.ย. 2565 เวลา 10.49 น.
ขยะพลาสติก
ภาพจาก :สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ คาดการณ์ขยะพลาสติก 12 พันล้านตันล้นโลกในปี 2050 เผยความร่วมมือในระดับนานาชาติ คือ กุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการแหล่งสร้างขยะพลาสติกสู่ท้องทะเล

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ดร.คอเร เฮลเก คาร์สเตนเซน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้จัดการโครงการ OPTOCE SINTEF Community Norway จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ หรือ SINTEF เปิดเผยว่าแต่ละปีมีขยะพลาสติกราว 13 ล้านตันเล็ดลอดลงสู่มหาสมุทร ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจ และสุขภาพของผู้คน และยังคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะทวีคูณเพิ่มเป็น 3 เท่าภายในปี ค.ศ. 2040 ถ้าหากไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวทำให้เมื่อวันที่ 27-28 ตุลาคมที่ผ่านมาสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ ได้มีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดการพลาสติกในมหาสมุทรให้กลายเป็นโอกาสในเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ “The Ocean Plastic Turned into an Opportunity in Circular Economy (OPTOCE) Regional Forum” ขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อหาโซลูชั่นการรับมือกับปัญหาดังกล่าวของ 5 ชาติพันธมิตรในเอเชียทั้งไทย จีน อินเดีย เมียนมา และเวียดนาม

รวมถึงค้นหาโอกาส และอุปสรรคในการมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมซีเมนต์ในการบริหารจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยและทั่วภูมิภาค ซึ่งผลที่ได้จากการประชุม จะนำไปเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-18 พฤศจิกายน 2565 ที่เมืองชาร์ม เอลเชค สาธารณัฐอาหรับอียิปต์

คาดพลาสติก 12 ล้านตันล้นโลก

“ผมเชื่อว่า ความร่วมมือจากนานาชาติถือเป็นกุญแจสำคัญของการบริหารจัดการแหล่งขยะพลาสติกในท้องทะเล ประมาณการณ์ว่าทั่วโลกมีปริมาณพลาสติกผลิตใหม่ราว 9.3 พันล้านตันในปี 2019 ซึ่งในจำนวนนี้ กว่า 6.3 พันล้านตันจะกลายเป็นขยะพลาสติก

อีกทั้งยังมีการประเมินว่ามีการนำไปรีไซเคิลเพียง 9% ถูกนำไปเผา 12% และถูกทิ้งไปเฉยๆ ถึง 79% หากแนวโน้มการผลิตและการบริหารจัดการขยะพลาสติกยังคงดำเนินไปเช่นในปัจจุบัน คาดว่าจะเกิดขยะพลาสติกราว 12 พันล้านตันทับถมหรือเล็ดลอดสู่ระบบนิเวศทางธรรมชาติในปี 2050″

เอเชียปล่อยขยะลงทะเลสูงสุด

ดร.คอเร เฮลเก คาร์สเตนเซน กล่าวต่อว่า เรามีโครงการ OPTOCE ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรับมือมลพิษขยะและไมโครพลาสติกในทะเลของประเทศนอร์เวย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDG) ข้อที่ 14.1 ซึ่งระบุว่า โลกของเราควรป้องกันและลดปริมาณขยะในท้องทะเลทุกประเภทอย่างจริงจังภายในปี ค.ศ. 2025

โครงการนี้เน้นความสำคัญที่แนวทางการบริหารจัดการขยะที่ขาดประสิทธิภาพของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเขตเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะในประเทศที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับลุ่มแม่น้ำสายหลักของโลก พื้นที่กองขยะ/ฝังกลบ และศูนย์รวมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะประเมินว่าขยะบริเวณชายหาดและในทะเลมากกว่า 80% มาจากแหล่งผลิตบนแผ่นดิน ซึ่งประเทศในเอเชียติดอันดับกลุ่มประเทศที่ปล่อยขยะและไมโครพลาสติกลงสู่ท้องทะเลสูงสุดของโลก

“ประเทศเหล่านี้ผลิตขยะพลาสติกราว 217,000 ตันต่อวัน หรือ 79 ล้านตันต่อปี โดยมีการปล่อยพลาสติกสู่ทะเลในปริมาณสูงสุดแต่มีขยะพลาสติกน้อยมากที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเทศเหล่านี้มีอัตราการผลิตสูงสุดในอุตสาหกรรมประเภทปูนซีเมนต์ เหล็กกล้า และพลังงานไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน ดังนั้นจึงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณสูงด้วยเช่นกัน”

ขยะ
ขยะ

ทั้งนี้ ดร.คอเร เฮลเก คาร์สเตนเซน กล่าวอีกว่า ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องหาโซลูชั่นแก้ปัญหาด้วยกัน โดยเริ่มจากการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ ด้วยกระบวนการเผาร่วมเพื่อทดแทนถ่านหินในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสดีกับทุกฝ่าย (win-win) โดยจะได้ช่วยป้องกันไม่ให้พลาสติกรั่วไหลไปยังทะเลและมหาสมุทร ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถ่านหินลงได้เป็นจำนวนมาก

และในทางอ้อม ก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยหลีกเลี่ยงการสร้างเตาเผาขยะใหม่หรือสร้างบ่อขยะเพิ่มขึ้น โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า การเผาร่วม หรือ Co-processing ในเตาเผาปูนซีเมนต์ หรือการบริหารขยะอย่างบูรณาการ หรือ Integrated Waste Management

Co-Processing
Co-Processing

โดยวัตถุประสงค์เพิ่มเติมและการทำงานร่วมกันในโครงการ OPTOCE จะประกอบด้วย ลดปริมาณขยะในทะเลและมหาสมุทร ที่ก่อกำเนิดขึ้นจากกิจกรรมบนบก, ส่งเสริมการประสานงานและความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีส่วนร่วมทางธุรกิจต่าง ๆ, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน, ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายและการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

ขยะพลาสติก
ขยะพลาสติก
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0