โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิกฤตคราบน้ำมันดิบ ขยาย 9 เท่าเกาะเสม็ด เรียกร้องเปิดข้อมูล

IGreen

อัพเดต 28 ม.ค. 2565 เวลา 03.09 น. • เผยแพร่ 28 ม.ค. 2565 เวลา 01.53 น. • iGreen

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ใช้ภาพจากดาวเทียม TerraSAR-X ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา 18.23 น. ติดตามคราบน้ำมันอย่างต่อเนื่องบริเวณอ่าวมาบตาพุด จ.ระยอง 

ล่าสุดพบคราบน้ำมันลอยแผ่เป็นบริเวณกว้างกว่าเดิม (กรอบสีแดง) คิดเป็นพื้นที่ 47 ตารางกิโลเมตร (29,506 ไร่) หรือกว่า 9 เท่าของเกาะเสม็ด และมีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางทิศด้านตะวันออกเฉียงเหนือ (จากจุดเดิม) ซึ่งคราบน้ำมันดังกล่าวอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของอำเภอเมืองระยอง ประมาณ 6.5 กิโลเมตร และห่างจากเกาะเสม็ด ประมาณ 12 กิโลเมตร และคาดว่าคราบน้ำมันจะขึ้นฝั่งในวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565 (จุดสีน้ำเงิน และสีส้ม) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งเมืองระยอง ชายหาดแม่รำพึง และพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง

โดยทาง GISTDA จะส่งต่อข้อมูลจากการวิเคราะห์ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้วางแผน ติดตาม ตรวจสอบในพื้นที่ต่อไป 

ด้าน กรีนพีซ ประเทศไทย ได้แถลงว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอุบัติภัยน้ำมันรั่วครั้งล่าสุดในทะเลไทยที่เกิดขึ้นมากกว่า 235 ครั้งในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา และไม่ใช่ครั้งแรกของอุบัติภัยน้ำมันรั่วของบริษัท สตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) ในปี 2540 เกิดเหตุน้ำมันรั่วระหว่างการขนถ่ายน้ำมันจากเรือ Once สู่สถานีน้ำมันดิบของบริษัททำให้น้ำมันดิบกว่า 160,000 ลิตรรั่วไหลลงทะเล 

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้บริษัท SPRC ดังนี้ 1. ปริมาณน้ำมันดิบทั้งหมดที่รั่วไหลได้ถูกกำจัดและแพร่กระจายไปยังที่ใดบ้าง เป็นปริมาณเท่าใด อาทิ ปริมาณที่ถูกกำจัดโดยการโปรยสารเคมี ปริมาณที่เก็บกู้ได้ ปริมาณที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยต้องแสดงหลักฐานและอธิบายโดยละเอียด 2. การรั่วไหลในครั้งนี้มีสาเหตุที่แท้จริงจากอะไร เช่น เป็นอุบัติเหตุ อุปกรณ์เสื่อมคุณภาพหรือละเลยที่จะซ่อมบำรุงระบบ

3. ที่ผ่านมาบริษัทมีแผนการจัดการอุบัติภัยหรือไม่ และเคยมีการซักซ้อมหรือไม่ อย่างไร 4. ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปฏิบัติการ (รวมถึงการยืมตัวบุคลากรจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ) 5. ต้องเปิดเผยและชี้แจงว่าบริษัทได้ปฏิบัติตามมาตรการลดและขจัดมลพิษจากการรั่วไหลของน้ำมันที่ระบุไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ หรือไม่

6.สารเคมีสลายคราบน้ำมันที่ใช้ทั้งหมดมีกี่ชนิด มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ละชนิดมีปริมาณเท่าใด ได้มาจากแหล่งใดบ้าง ขั้นตอนการใช้สารเคมีทั้งหมด แฃะข้อมูลความเป็นพิษและความปลอดภัยของสารเคมีที่ใช้ และผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นอกจากนั้น กรีนพีซ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนแผนพลังงานชาติโดยเร่งด่วนเพื่อปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล และยุติแผนการขยายการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซฟอสซิลซึ่งทำให้วิถีชีวิต สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและชุมชนต้องแบกภาระจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

อนึ่ง

อนึ่ง สำหรับบริษัท SPRC ก่อตั้งเมื่อปี 2535 ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ระบุว่ามีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก (05 มี.ค. 2564) ดังนี้ 1. CHEVRON SOUTH ASIA HOLDINGS PTE LTD จำนวน 2,625,888,656 หุ้น สัดส่วน 60.56%

2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 272,432,333 หุ้น สัดส่วน 6.28% 3. RBC INVESTOR SERVICES TRUST จำนวน 78,900,500 หุ้น สัดส่วน 1.82% 4. NORTRUST NOMINEES LIMITED-NT0 SEC LENDING THAILAND CL AC จำนวน 75,216,300 หุ้น สัดส่วน 1.73%

5. STATE STREET EUROPE LIMITED จำนวน 53,220,560 หุ้น สัดส่วน 1.23% 6. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED จำนวน 44,117,601 หุ้น สัดส่วน 1.02% 7. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เค มาสเตอร์ พูล ฟันด์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว จำนวน 32,158,000 หุ้น สัดส่วน 0.74% 8. กองทุนเปิด ไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 จำนวน 23,163,600 หุ้น สัดส่วน 0.53%

9. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว จำนวน 21,123,100 หุ้น สัดส่วน 0.49% และ 10. กองทุนเปิด เค หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ จำนวน 20,748,900 หุ้น สัดส่วน 0.48% มีกำไร(ขาดทุน) สะสม 5,741.45 ล้านบาท (1 ม.ค.2564)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0