โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เดินในธรรมชาติดีต่อสมอง ถ้าการทำงานทำให้เหนื่อยล้า ลองออกไปเดินมองต้นไม้ดู

Environman

เผยแพร่ 21 เม.ย. เวลา 07.40 น.

การเดินท่ามกลางธรรมชาตินั้นดีต่อสมอง หากการทำงานในแต่ละวันทำให้เราเหนื่อยล้า วิทยาศาสตร์มีคำพูดง่าย ๆ ว่า ‘ลองออกไปหาต้นไม้สิ’

"ปีนป่ายขึ้นไปบนภูเขาและรับข่าวดีจากธรรมชาติ ความสงบสุขของธรรมชาติจะไหลผ่านคุณเหมือนแสงแดดที่สาดส่องลงบนต้นไม้ สายลมจะพัดความสดชื่นมาให้คุณ และพายุก็จะมอบพลังให้คุณ ในขณะที่ความกังวลจะร่วงหล่นลงเหมือนใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วง" นี่เป็นคำพูดจากนักอนุรักษ์ John Muir ที่กล่าวไว้เมื่อปี 1901 หรือกว่าร้อยปีที่แล้ว

ประโยคดังกล่าวเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาก่อตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นมาทั่วประเทศ เราทุกคนรู้สึกกันดีอยู่แล้วว่าธรรมชาตินั้นทำให้เราสดชื่น ผ่อนคลาย สงบ และหายเหนื่อย จนนักจิตวิทยาได้ตั้งทฤษฏีว่ามนุษย์นั้นวิวัฒนาการมาเพื่อได้รับประโยชน์จากภาพ เสียง และกลิ่นของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

แนวคิดดังกล่าวนั้นมีชื่อว่า ‘Biophilia’ ซึ่งหมายความว่า เมื่อพวกเราส่วนใหญ่ใช้เวลามากขึ้นในสภาพแวดล้อมของเมืองที่เป็นอาคาร ตึกสูง ถนน การจราจร และเดินบนทางเท้าแทนที่จะเป็นผืนป่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เราขาดการสัมผัสกับธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่การไม่ได้รับประโยชน์ด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจของสิ่งแวดล้อม

สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นจริง ในรายงานเมื่อปี 2022 ที่จัดทำโดยสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อการพัฒนามนุษย์ วิทยาเขตความรู้ความเข้าใจมักซ์พลังค์ดาห์เลม (MPDCC) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ได้รายงานเอาไว้ว่า ผู้คนในเมืองมีความผิดปกติจากจิตเวชเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 56% ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงในการเป็นโรคทางจิตนั้นสัมพันธ์กับที่อยู่อาศัยในเมืองอย่างชัดเจน

ไม่ว่าจะในกรณีใด ไม่ขึ้นอยู่กับประวัติครอบครัว ไม่ขึ้นอยู่กับประวัติการณ์ใช้ยา ไม่เกี่ยวกับการสนับสนุนของเครือข่ายสังคม รวมถึงปัจจัยทางโครงสร้างพื้นฐานและประชากรศาสตร์ สภาพแวดล้อมในเมืองนั้นเชื่อมโยงอย่างแน่นหนากับความเครียดทางสังคม และการอุบัติขึ้นของโรคทางจิตเวลาที่เพิ่มสูงขึ้น

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมหลายคนจึงแนะนำให้ผู้ป่วยออกไปหาธรรมชาติมากขึ้นเพื่อเป็นแนวทางรักษาโรคต่าง ๆ เสริมเพิ่มเติมจากการใช้ยา และวิทยาศาสตร์ก็ได้เพิ่มหลักฐานของประโยชน์จากการใช้เวลาอยู่กับต้นไม้ใบหญ้าว่า สมองของเราชื่นชอบที่ได้อยู่ในธรรมชาติ

#แนวคิดเก่าที่ได้รับการสนับสนุนโดยความรู้ใหม่

แม้จะผ่านมาเป็นร้อยปี แต่ John Muir ก็ยังคงพูดถูกเสมอ การสแกนสมองในงานวิจัยเมื่อต้นปี 2024 ของมหาวิทยาลัยยูทาห์ได้เผยให้เห็นว่า ประโยคดังกล่าวนั้นทรงพลังมากแค่ไหน ทีมวิจัยได้เปรียบเทียบการทำงานของสมองและสมรรถภาพทางจิตของอาสาสมัคร 92 คน ที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

โดยทั้งหมดจะได้ใช้เวลาเดินเล่น 40 นาทีในระยะทางเท่ากัน ซึ่งกลุ่มหนึ่งจะได้เดินภายในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ มีลำน้ำไหลยาว ผ่านอุโมงค์ต้นไม้ พร้อมกับมีสระน้ำที่เหล่าเป็ดออกมาหากิน ในขณะเดียวกันกลุ่มที่สองจะต้องเดินไปตามตึกอาคาร ผ่านลานจอดรถไปตามทางเท้า

บนภูมิประเทศคร่าว ๆ ที่ใกล้เคียงกัน และไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือพูดคุยกับใครตลอดทาง เพื่อควบคุมปัจจัยให้ได้มากที่สุด โดยก่อนหน้านี้ผู้เข้ารับการทดลองจะได้รับการบันทึกข้อมูลคลื่นสมองไฟฟ้า หรือ EEG cap ก่อนจากเซ็นเซอร์ทั้ง 32 ตัว แต่สิ่งพิเศษก็คืออาสาสมัครจะต้องแก้ปํญหาทางคณิตศาสตร์นิดหน่อนทั้งก่อนและขณะทำการทดลอง

“เราเริ่มต้นด้วยการให้ผู้เข้าร่วมทำงานด้านการรับรู้ใช้พลังงานมาก โดยการให้นับถอยหลังจาก 1,000 ที่คูณด้วย 7 ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก” Amy McDonnell นักจิตวิทยาผู้เขียนรายงาน กล่าว “ไม่ว่าคุณจะเก่งเลขแค่ไหน แต่หลังจากผ่านไป 10 นาที มันก็ค่อนข้างจะเหนื่อย และหลังจากนั้นเราก็จะให้ความสนใจพวกเขา”

ไม่ต้องใช้จินตนาการก็รู้ได้ว่า เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ เราก็ต้องการการโฟกัสมากขึ้นซึ่งมันดูดพลังงานสมองของเราให้เหนื่อยล้ามากขึ้น และเมื่อพลังงานหมดลง สมาธิของเราก็หายไปตาม เมื่อเวลานั้นมาถึง นักวิทยาศาสตร์จะให้อาสาสมัครเข้ารับการทดสอบ Attention Network Task (ANT) เพื่อประเมินความสามารถในการรับสิ่งเร้าใหม่ ๆ

หรือพูดง่าย ๆ ว่าดูว่าสมองจะดึงความสนใจกลับมาที่แบบทดสอบที่พวกเขาได้รับเร็วแค่ไหน แม้ทั้งสองกลุ่มจะเดินในระยะทางเท่ากันด้วยเวลาที่พอดีกัน แต่ข้อมูล EEG นั้นให้หลักฐานทางด้านระบบประสาทโดยชัดเจนว่า ธรรมชาติคือยาที่ดีต่อสมอง

“ผู้เข้าร่วมที่ได้เดินในธรรมชาติ แสดงให้เห็นว่าความสนใจ(หรือสมาธิ)ของพวกเขานั้นดีขึ้น ขณะที่คนที่เดินในเมืองนั้นไม่มีสัญญาณดังกล่าว” McDonnell บอก “ดังนั้นเราจึงรู้ว่าสภาพแวดล้อมที่คุณกำลังเดินอยู่นั้นมีความพิเศษเฉพาะตัว”

ราวกับว่า ‘ธรรมชาติได้มอบพลังงานให้คุณ และขจัดความกังวลออกไปเหมือนใบไม้ที่ร่วงหล่นในฤดูใบไม้ร่วง’

#ว่าด้วยทฤษฏีการฟื้นฟูความสนใจ

การสละเวลาเพื่อดูเมฆ ต้นไม้ แม่น้ำ หรือทิวทัศน์อันกว้างใหญ่ของธรรมชาตินั้นไม่ต้องใช้พลังงาน ความสนใจ หรือการตัดสินใจใด ๆ เพียงแค่เงยหน้ามอง สมองของเราก็พร้อมที่จะเปิดรับภาพ เสียง และกลิ่นของธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้สมองได้ผ่อนคลาย ฟื้นตัว และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในภายหลัง

หลังฐานเหล่านี้สนับสนุนแนวคิดที่มีมาอย่างยาวนานซึ่งชื่อว่า ทฤษฏีการฟื้นฟูความสนใจ หรือ ART (Attention Restoration Theory) ซึ่งกล่าวเอาไว้ว่า ธรรมชาตินั้นช่วยลดระดับความเครียดที่เกิดจากความสนใจในสิ่งเร้าต่าง ๆ รอบตัวโดยอัตโนมัติ

เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ เราสามารถเปรียบเทียบได้ง่าย ๆ ว่าในสังคมเมือง มีสิ่งเร้าอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นเสียงรถที่ต้องคอยระวัง ทางเท้าที่อาจทำให้เราเดินสะดุดได้ซึ่งต้องคอยใช้สายตามองตลอดเวลา หรือจะเป็นกลิ่นเหม็นต่าง ๆ ที่ทำให้เราปวดหัวจิ๊ดขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ทำให้สมองของเราทำงานหนักและเกิดความเครียดตลอดเวลา

แต่เมื่อเราอยู่ในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ สมองของเราปรับเข้าสู่โหมดผ่อนคลายอัตโนมัติ ซึ่งลดความเครียด ความกังวล และการระเวงที่ต้องคอยตรวจจับสิ่งที่จะเป็นอันตรายกับเราได้ในทันที เมื่อไม่จำเป็นต้องนำพลังงานไปใช้กับความเครียดเหล่านั้น สมองก็สามารถทำงานด้านอื่น ๆ ได้ดีขึ้น

“มันเป็นที่เปลือกสมองส่วนหน้าทำงานหนักมากเกินไป ถูกกระตุ้นมากเกินไป” David Strayer หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ กล่าว “แต่ยาแก้พิษคือ การออกไปอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ใส่โทรศัพท์ไว้ในกระเป๋าของคุณ แล้วออกไปเดินเล่นทางเส้นทาง”

“สมองในส่วนที่ถูกใช้งานมากเกินไปในระหว่างวันจะถูกฟื้นฟู คุณจะเห็นและคิดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น”

การขยายตัวของเมืองกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการประเมินว่าผู้คนกว่า 70% ของทั้งโลกจะย้ายเข้าสู่เมืองต่าง ๆ เพื่อการทำงาน ในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักไว้เสมอว่า ธรรมชาติช่วยให้เราไม่ได้เป็น ‘บ้า’ ไปซะก่อนท่ามกลางป่าคอนกรีตเหล่านี้

“ถ้าคุณเข้าใจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เรามีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น คุณก็สามารถออกแบบเมืองของเราเพื่อให้สนับสนุนสิ่งนั้นได้” Strayer กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา

https://www.nature.com/articles/s41598-024-52205-1

https://www.nature.com/articles/s41380-022-01720-6

https://www.news-medical.net/…/How-does-a-walk-in…

https://www.cbc.ca/…/nature-walk-focus-attention-1.7109264

https://www.theguardian.com/…/walk-nature-good-for-mind…

https://www.technologynetworks.com/…/how-a-walk-in…

https://www.psychologytoday.com/…/walk-in-nature-good…

Photo : Amy S. McDonnell/University of Utah

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0