เปิดเรื่องราว Squid Game ในชีวิตจริงที่หลอกลวง มิจฉาชีพสร้างเกมลวงชิงรางวัลใหญ่ ดึงชาวจีนที่สิ้นหวังกับภาระเงิน ยอมเล่นเกมเสี่ยง หวังชิงเงินปลดหนี้ ซึ่งแท้จริงโดนหลอกซ้ำซ้อน
"จีน" ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก กำลังดิ้นรนกับปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อซึ่งฉุดการเติบโต และหนี้สินได้กลายเป็นปัญหาใหญ่
ประชาชนที่เป็นหนี้พยายามดิ้นรนหาหนทางเอาตัวรอดในการใช้ชีวิต จนกระทั่งพวกเขาได้พบกับทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้รอด นั่นก็คือSquid Gameในชีวิตจริง ซึ่งโหดร้ายไม่ต่างจากในซีรีส์ การยอมเล่นเกมเสี่ยงยังไม่ช่วยให้สถานการณ์ในชีวิตของพวกเขาดีขึ้น แต่กลับทำให้ย่ำแย่ลงไปอีก
แม้ว่ารู้ว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความกดดัน แต่ชาวจีนก็เลือกที่จะรับความท้าทายนั้นโดยหารู้ไม่ว่าเป็นกับดัก และเพราะอะไรพวกเขาถึงเลือกเล่นเกม เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
ปัญหาหนี้สินและเศรษฐกิจชะลอตัว
จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงถึง 82.47 ล้านล้านหยวน (11.3 ล้านล้านดอลลาร์) ณ เดือนพ.ย. 2567 การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ประชาชนหลายล้านชีวิตต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น โดยครัวเรือนจำนวนมากมีแบกภาระหนี้ ในขณะที่ปัญหาการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวก็เพิ่มขึ้น เมื่อธุรกิจปิดตัวลงและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องดิ้นรน ท่ามกลางความไม่มั่นคงทางการเงิน
ปัญหาใหญ่ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะ ซึ่งหลายคนพบว่าตนเองติดอยู่ในวังวนของหนี้สิน เนื่องจากหน้าที่การงานไม่ได้ให้ค่าตอบแทนที่มากเพียงพอ อีกทั้งค่าครองชีพก็สูงขึ้น โดยสภาพแวดล้อมเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดแผนการหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพตั้งใจมุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคลที่เปราะบางที่สิ้นหวังเหล่านี้
Squid Game คืออะไร และทำไมชาวจีนจึงยอมเสี่ยง
Squid Gameคือ ซีรีส์เกาหลีใต้ชื่อดังซึ่งสร้างกระแสนิยมไปทั่วโลก โดยซีรีส์นำเสนอเรื่องราวของผู้คนที่สิ้นหวังกับสถานะทางการเงิน ยอมเข้าแข่งขันในเกมอันตรายถึงชีวิตเพื่องชิงรางวัลใหญ่ ซึ่งก็คือเงินมหาศาล โดยเสน่ห์ของเกม Squid อยู่ที่ธีมของการเอาชีวิตรอดและความสิ้นหวัง ซึ่งสะท้อนถึงการต่อสู้ดิ้นรนของผู้ที่ติดอยู่ในหนี้สิน และความโด่งดังของSquid Game ได้นำไปสู่การประยุกต์เป็นเกมในชีวิตจริงหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งให้ผู้เข้าร่วมเผชิญกับภารกิจเพื่อแลกกับรางวัล เช่นเดียวกับจีน แต่กลับกลายเป็นว่าผู้จัดการเกมคือ มิจฉาชีพ
มิจฉาชีพในจีนใช้ประโยชน์จากแนวคิดนี้ โดยนำเสนอแผนการเล่นเกมที่คล้ายคลึงว่าเป็นโอกาสครั้งใหญ่ในการเปลี่ยนชีวิต ผู้เข้าร่วมถูกดึงดูดเข้าสู่ความท้าทายด้วยคำสัญญาว่าจะได้รับเงินรางวัลจำนวนมากหรือปลดหนี้ หลายคนเข้าร่วมเกมโดยเชื่อว่าพวกเขาสามารถรับมือกับภารกิจต่าง ๆ และจะคว้าชัยชนะได้ โดยหารู้ไม่ว่าแผนการเหล่านี้ถูกจัดฉากขึ้นมาตั้งแต่แรกเพื่อหลอกลวง
Squid Game ในชีวิตจริง : ปรากฏการณ์หลอกลวงบน TikTok
เกมท้าทายในลักษณะเดียวกับSquid Game ได้ปรากฏขึ้นบนแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง โต่วอิน (Douyin) หรือ TikTok ของจีน และมีเหยื่อหลงติดกับเป็นจำนวนมาก โดยมิจฉาชีพได้กำหนดเกม "ความท้าทายด้านวินัยในตนเอง" เพื่อพิชิตเงินสูงถึง 1 ล้านหยวน (137,00 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณ 4.67 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้ผู้เข้าร่วมต้องแยกตัวออกจากสังคมไปใช้ชีวิตลำพังภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด เช่น การรับประทานอาหารที่จำกัด ไม่มีการติดต่อกับโลกภายนอก ห้ามเข้าห้องน้ำเกิน 15 นาที และถูกเฝ้าติดตามด้วยกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
หนึ่งในเหยื่อผู้ถูกหลอก ยอมถูกกักตัว 30 วัน โดยไม่ติดต่อกับโลกภายนอก เพื่อพิชิตเงิน 250,000 หยวน (34,250 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณ 1.17 ล้านบาท โดยเขาถูกห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และติดต่อกับคนอื่นโดยเด็ดขาด แต่เขากลับถูกตัดออกจากเกม เนื่องจากทำผิดกติกาที่ต้องเปิดเผยใบหน้า หลังจากมิจฉาชีพที่เฝ้าดูผ่านกล้องวงจรปิด เห็นเขาเอาหมอนปิดหน้า
การหลอกลวงที่โหดร้าย
เทคนิคที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกล่อเหยื่อนั้นมีมากมายและซับซ้อน รวมถึงการทำสัญญาที่มีเงื่อนไขยิบย่อยเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อและยอมจ่ายเงินเข้าร่วม โดยไม่รู้ว่าพวกเขาจะไม่มีทางได้รับเงินใด ๆ อย่างที่หวังไว้ เช่นที่ชานตง มีการเก็บเงินค่าเข้าร่วม 5,400 หยวน (740 ดอลลาร์) หรือประมาณ 25,287 บาท นอกจากนี้แล้ว รายงานระบุว่า บรรดามิจฉาชีพที่อ้างว่าเป็นผู้จัดการเกม หรือไลฟ์โค้ชปลดหนี้ ได้ชักชวนเหยื่อผ่านทางแผ่นพับ โฆษณา หรือการโทรศัพท์มาหาเหยื่อที่มีปัญหาการเงิน โดยบอกว่าสามารถให้เงินทุนปลดหนี้ได้ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 12% ของจำนวนหนี้ของเหยื่อ
บรรดาเหยื่อที่ร่วมเล่นเกมสูญเสียเงินจำนวนมาก ตั้งแต่ค่าเข้าร่วมเล่นเกมและค่าธรรมเนียมที่ขอคืนไม่ได้ และการจ่ายค่าผิดกติกา เพื่อชดเชยภารกิจที่ล้มเหลวและเพื่อให้เล่นเกมต่อไปได้ ซึ่งโดยแผนการเหล่านี้โหดร้ายเป็นพิเศษ เนื่องจากเหยื่อนั้นมีปัญหาทางการเงินอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ซึ่งในท้ายที่สุด บรรดาเหยื่อที่เข้าร่วมเผชิญกับความตึงเครียดจากความเหนื่อยล้าทางกาย และความบอบช้ำทางจิตใจซ้ำเติมเมื่อรับรู้ความจริงว่าถูกหลอก
การตอบสนองของทางการ
Douyin กำลังดำเนินการปิดบัญชีของผู้หลอกลวงเหล่านี้ ขณะที่ทางการจีนก็เริ่มดำเนินการปราบปราม โดยออกคำเตือนและดำเนินคดีกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังแผนการเหล่านี้ โดยศาลได้ตัดสินให้ข้อตกลงบางฉบับของกลลวงเหล่านี้เป็นโมฆะ โดยถือว่ามีการเอารัดเอาเปรียบ ในขณะที่หน่วยงานกำกับดูแล เช่น สำนักงานกำกับดูแลทางการเงินแห่งชาติ (NFRA) ได้เตือนว่าอย่าหลงเชื่อตัวกลางปลอมทางออนไลน์ที่เสนอว่าจะช่วยเหลือเงิน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้คือมิจฉาชีพ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามจากทางการ และความเสี่ยงจากการเล่นเกม ซ้ำต้องเสียเงินก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสิ้นหวังกับเศรษฐกิจและความเชี่ยวชาญของมิจฉาชีพ ทำให้เป็นเรื่องยากมากที่เหยื่อจะต้านทานได้ และหลงเชื่อไปเล่นเพราะคิดว่าอย่างน้อยพวกเขาก็ได้พยายามแล้ว และน่าจะได้รับรางวัลบ้างจากเกมเหล่านี้ ซึ่งขนาดของการหลอกลวง ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในวงกว้างและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องประชากรที่เปราะบางไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกับดักดังกล่าวได้
อ้างอิง : reuters.com , channelnewsasia.com , france24.com