คนในวัยต่างกัน ประสบการณ์ชีวิตก็ต่างกัน สิ่งแวดล้อมที่เติบโตมาแต่ละช่วงก็ต่างกัน แน่นอนว่าความคิดความเห็น ความชอบรสนิยมต่าง ๆ ก็ย่อมต้องมีความแตกต่างกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เรียกว่า Generation Gab หรือช่องว่างระหว่างวัย
ที่ผ่านมา เรามักจะแบ่งช่วงอายุของคน เป็นช่วงกว้าง ๆ เช่นช่วงละ 10ปีบ้าง 20 ปีบ้างแต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว เขาแบ่งช่วงชั้นแต่ละวัย เป็นช่วงละแค่ 3 ปี เพราะเขารู้สึกว่าขณะนี้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงเร็วมาก คนอายุต่างกันเพียงแค่ 3 ปีก็เหมือนอยู่คนละรุ่นกันแล้ว เริ่มจะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น
แต่มีเรื่องที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ มีสังคมอีกสังคมหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ คือสังคมของสงฆ์ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่บวชในช่วงพรรษาในแต่ละปี ผู้ที่มาบวชมีตั้งแต่คนอายุ 20 ปีไปจนถึงคนอายุ70 ปี โดยวัยต่างกันถึง 50 ปี แต่โดยพระธรรมวินัยถือว่าเมื่อมาบวชให้ลบอายุทางโลกทิ้งไป แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีอายุ 20ปี หรือ 70 ปีก็ตาม ถือว่ามีอายุทางธรรมเท่ากัน คือเริ่มต้นนับหนึ่งเหมือนกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า เหตุใด สังคมสงฆ์ซึ่งเป็นสังคมที่น่าจะมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัยอย่างมาก แต่ปรากฏว่าพระสงฆ์ท่านกลับอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ความแตกต่างทางความคิดของพระที่ต่างวัยกันก็อาจมีบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็นับว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความเป็นหนึ่งเดียวกันโดยรวม
เพราะพระทุกรูปมีกิจวัตรและกิจกรรมเหมือนกัน มีจุดร่วมเดียวกันคือการประพฤติปฏิบัติธรรม การศึกษาพระธรรมวินัย นี่คือคำตอบของการแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ทั้งในครอบครัว หรือในสังคมที่ทำงานก็ตาม คือเราจะต้องให้ความสำคัญในการสร้าง "กิจกรรมร่วม"ถ้าคนในครอบครัวไม่มีกิจกรรมร่วมกันเลย พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกไปอีกทาง ไปคนละทางที่ตนชอบ ย่อมเกิดช่องว่างขึ้นอย่างแน่นอนบางคราวเจอหน้ากัน อยากจะแสดงความรักที่มีต่อกันก็ไม่รู้จะแสดงอย่างไร เกิดอาการขัดเขิน ก็จะยิ่งทำให้ห่างเหินกันไปอีก
เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างกิจกรรมร่วมให้เกิดขึ้น ซึ่งกิจกรรมร่วมที่ดีที่สุด ก็คือ การมาวัดปฏิบัติธรรม ถ้าได้มาวัดด้วยกัน มาปฏิบัติธรรม นั่งธรรมะ ฟังหลวงพ่อเทศน์สอน มาร่วมงานบุญต่าง ๆ ถึงคราวคุยกัน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็จะมีเรื่องคุยประเด็นเดียวกันได้ คือเรื่องของบุญกุศล เรื่องของธรรมะ
ซึ่งเป็นเรื่องที่ข้ามพ้นวัย ข้ามพ้นกาลเวลา ทันสมัยเสมอ ยิ่งพูดยิ่งคุยใจก็ยิ่งผ่องใสอยู่ในบุญกุศล ใจของคนในครอบครัวทุกคนก็จะเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำนองเดียวกันในสังคมคนทำงาน ถ้าชวนกันมาวัดก็จะมีประเด็นในการพูดคุยเหมือนกัน จะหลอมรวมทัศนคติทุกคนเข้าด้วยกัน แล้วช่องว่างระหว่างวัยจะหายไปเอง บ้านก็อบอุ่น ที่ทำงานก็สงบร่มเย็น ทุกอย่างจะประสานกันได้ดีขึ้นการมาวัดปฏิบัติธรรมจึงเป็นกิจกรรมร่วมที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยได้อย่างดีเยี่ยม
อนึ่ง คนเราย่อมมีความแตกต่างกันในการตัดสินเรื่องต่าง ๆเพราะแต่ละคนย่อมใช้ เหตุผล และอารมณ์ ของตนเป็นตัวตัดสินส่งผลให้แต่ละคนมีความคิดคำพูด และการกระทำแตกต่างกันไป ดังนั้นการลดช่องว่างระหว่างวัย จึงต้องทำความเข้าใจในเรื่องเหตุผลและอารมณ์ของคน เมื่อเราพบคนที่แตกต่างจากเรา อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า
เขาเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ให้พิจารณาดูว่า สิ่งที่เขาทำแต่ละเรื่องนั้นมีเหตุที่มาเป็นอย่างไร หากเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด เราก็ไม่ควรก้าวล่วง ไม่เอาความชอบของเราเองไปครอบงำใครแต่ถ้าเป็นเรื่องถูกผิดดีชั่วสิ่งไหนไม่ถูกต้องสิ่งไหนเป็นเรื่องบาปเราต้องปฏิเสธ ถ้าเกิดเป็นคนใกล้ชิดเราก็ต้องหาทางสอน ขณะเดียวกันสิ่งไหนเป็นความดีเป็นบุญกุศลเราก็ควรชื่นชม
ถ้ารู้จักแยกแยะอย่างนี้ เราจะวางบทบาทตัวเราได้ถูกต้อง จะเห็นทุกอย่างกระจ่างขึ้น เราจะเข้าใจผู้อื่น และน่าแปลกที่ว่า พอเราเข้าใจเขา เขาก็จะเข้าใจเรา ช่องว่างระหว่างวัยก็ลดลงและเกิดมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การที่เราจะเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะต้องหมั่นฝึกไตร่ตรองเรื่องของเหตุและผล เมื่อได้ยินได้ฟังได้เห็นเรื่องใดก็ตาม ให้ตั้งคำถามบ่อย ๆ ว่า why?คือทำไมถึงเป็นอย่างนั้น แล้วหมั่นขบคิดหาคำตอบ เราจะเห็นทุกอย่างชัดเจนขึ้น เป็นคนมีเหตุมีผลมากขึ้นถึงคราวที่คนอื่นไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ เราก็สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเราถึงทำอย่างนี้ เรามีเหตุมีผลอย่างไร
หรือถ้าเกิดเราเห็นคนอื่นทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็สามารถแนะนำตักเตือนเขาได้ว่าสิ่งนี้ไม่ควรทำเพราะเหตุใด จะเกิดผลเสียอย่างไร หากสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดี เราก็สามารถชื่นชมเขาได้อย่างเหมาะสม ถ้าเราฝึกเป็นคนมีเหตุมีผล แยกแยะได้ชัดเจนอย่างนี้ เราจะเป็นผู้ที่สามารถให้คำแนะนำและก็สอนผู้อื่นได้ รวมทั้งตอบคำถามผู้อื่นได้ถึงพฤติกรรมของตัวเราเอง โดยทั้งหมดนี้จะเป็นไปด้วยเหตุด้วยผลไม่ใช่การใช้อำนาจไปข่ม โดยเฉพาะผู้ใหญ่กับเด็ก จะไม่มีการใช้คำพูดทำนองว่า ฉันเป็นพ่อนะ ฉันเป็นแม่นะ เธอต้องฟังอย่างเดียวห้ามเถียง เด็กบางคนไม่กล้าเถียง แต่ในใจนั้นต่อต้าน ยิ่งเกิดช่องว่างระหว่างวัยมากขึ้น
มนุษย์เป็นสัตว์เหตุผล ถ้าผู้อื่นปฏิบัติต่อเราด้วยเหตุด้วยผลเราก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับ เพราะฉะนั้นทุกคนควรฝึกฝนในสิ่งเหล่านี้เราชาวพุทธนับว่าโชคดี เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่วางอยู่บนพื้นฐานเหตุและผลอย่างสมบูรณ์ ใครหมั่นศึกษาหลักธรรมอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความคิดเป็นระบบ สามารถไตร่ตรองเข้าใจเรื่องเหตุและผลได้ดี
อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของอารมณ์คนเราไม่ได้ตัดสินเรื่องต่าง ๆด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียว แต่มักใช้อารมณ์ประกอบเข้ามาด้วย เราจึงต้องพยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้ โดยใช้หลักที่ว่า คนทุกคน ไม่ว่าใครก็ตามล้วนมีกิเลส 3ตัวเหมือนกัน คือ โลภ โกรธ หลง อาจจะมากน้อยต่างกันบ้างแต่ก็ 3 ตัวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าหากเราทำความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดี เราก็จะรู้สึกตัวเองดี ใครรู้จักตัวเองดี คนนั้นจะรู้จักคนอื่นได้ดีด้วย ให้ลองเริ่มจากตัวของเราเองหมั่นสังเกตตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเอง จนกระทั่งเข้าใจตัวเองชัดเจนเมื่อไร เราจะเข้าใจคนอื่น เห็นเขาแสดงท่าทางอย่างนี้พูดอย่างนี้แล้วรู้เลยว่าเขาคิดอะไรและเพราะอะไร
การฝึกฝนทำความเข้าใจในเรื่องของอารมณ์นั้น อาจดูเหมือนเป็นเรื่องยากในช่วงแรก เพราะเรา ยังไม่คุ้นเคย ยังเผลอลืม ยังอึดอัดไม่ได้ดังใจ เปรียบเทียบเหมือนการขี่จักรยาน ตอนแรกเริ่มหัดขี่ก็จะรู้สึกเกร็ง ก็จะล้มคว่ำได้ แต่พอคล่อง ก็สามารถขี่โยกซ้ายโยกขวาได้ไม่มีปัญหา ปล่อยมือก็ยังทรงตัวได้ เพราะตัวเรากับจักรยานประสานกันอย่างดี จักรยานเอียงไปทางซ้าย เราก็โยกตัวไปทางขวา สมดุลพอดี แม้จะมีแต่ 2ล้อ ก็ไม่ลำบากยากเย็นอะไร เช่นกันกับเรื่องของคนพอเราเข้าใจคน รู้จักอัธยาศัยของคนเมื่อไร
เราก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนทุกคนได้อย่างดี พอเหมาะพอสม เขาแสดงท่าทีมาอย่างนี้เราควรจะตอบสนองอย่างไร ให้ไปกันได้ด้วยดี ในเรื่องอารมณ์เราก็ปรับให้พอดี ส่วนในเรื่องของความถูกผิด ดีชั่ว เราก็มีวิธีการแนะสอนได้อย่างเหมาะสมกับคนแต่ละคน ถ้าเป็นอย่างนี้ ช่องว่างระหว่างวัย Generation Gabจะหายไปเอง ความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่ ลูก เด็ก ผู้ใหญ่ พี่น้องเพื่อนร่วมงาน จะราบรื่นขึ้น
โดยสรุปก็คือการแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยสามารถทำได้ด้วยการศึกษาให้เข้าใจเรื่องเหตุเรื่องผล โดยเริ่มจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนาของเรา และศึกษาให้เข้าใจอารมณ์ของคน โดยเริ่มต้นจากการมีสติ หมั่นสังเกตตัวเอง ให้เข้าใจตัวเอง รวมทั้งต้องสร้างกิจกรรมร่วมในทุกกลุ่มชุมชน ในครอบครัว ในที่ทำงาน คือการมาวัดการประพฤติปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมะ ให้ทุกคนมีประเด็นสนทนาประเด็นความสนใจร่วมกัน สอดคล้องกัน อย่างนี้แล้ว ในทุกสังคมนับจากสังคมเล็ก ๆ ไปจนถึงสังคมใหญ่ จะไม่มีช่องว่างอีกเลย
เจริญพร