ถาม: เวลาทำบุญ ผู้คนมักอธิษฐานให้ถึงนิพพาน พระท่านก็สอนให้ปฏิบัติให้ถึงนิพพาน แต่จริง ๆ แล้วนิพพานคืออะไรกันแน่ ใคร ๆ ก็ไปถึงนิพพานได้จริงหรือ
ตอบ: เวลาที่พูดคุยกันถึงเรื่องนิพพาน หลายครั้งที่อาตมาถูกทักท้วงจากผู้รู้ทั้งหลาย ทำนองว่านิพพานเป็นเรื่องปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน ไม่ควรนำมาพูดกันเล่น ๆ ผู้รู้บางท่านก็บอกว่านิพพานเป็นอจิณไตย ไม่ใช่วิสัยที่ใครจะมาบอกหรือมาสอนได้ อยากรู้ต้องทำเอง กลายเป็นว่า ศาสนาพุทธที่มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือนิพพาน แต่ไม่ค่อยมีใครกล้าพูดเรื่องนิพพานให้แน่ชัดว่าคืออะไร ลักษณะอย่างไร มีแต่บอกถึงวิธีที่ปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงนิพพาน ด้วยเหตุว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์
ในส่วนของพุทธบริษัทที่เห็นกันอยู่โดยมาก เวลาเอ่ยถึงนิพพาน ก็มักจะใช้คำว่า "ไป" ประหนึ่งว่านิพพานคือสถานที่หรือดินแดน (เมืองแก้วหรือแดนสุขาวดี) ที่จะต้องเดินทางไป ทำนองเดียวกับสวรรค์หรือพรหมโลก (แต่อยู่สูงกว่า) ที่บุคคลเมื่อปฏิบัติถึงที่สุดแล้วก็จะได้ไปอยู่ที่นั่น
แท้ที่จริงนั้น..คำถามที่ว่านิพพานคืออะไร? คำตอบมีอยู่ชัดเจนแล้วในอริยสัจ ๔ และมีอยู่ทั่วไปหมดในพระไตรปิฏก ซึ่งไม่ใช่เรื่องอจินไตย อจินติตสูตรทั้ง ๔ ไม่มีการกล่าวถึงนิพพาน พระองค์ทรงตรัสชัดเจนว่า..นี่คือทุกข์ (ทุกขัง) นี่คือเหตุให้เกิดทุกข์ (ทุกขสมุทัย) นี่คือความดับแห่งทุกข์ (ทุกขนิโรธ) นี่คือข้อปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับทุกข์ (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) นิพพานนั้นอยู่ในหัวข้อทุกขนิโรธ คือการดับทุกข์สิ้นตัณหา อันเป็นเรื่องที่พระองค์ตรัสสอนโดยตรง
คำว่า "นิพพาน" บาลีแปลว่า “เย็น” อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือการเข้าใจในสิ่งสมมติและวางลง ไม่ยึดถือ อันเป็นเหตุให้ใจนั้นสงบเย็นจากการวางความคิดที่พ้นสมมติ เห็นทุกอย่างเป็นสมมติ หมดความยึดถือว่านั่นเป็นตน นั่นเป็นของตน
ความทุกข์ของคนเรานั้น เกิดจากการเข้าไปคิดไปยึดในสิ่งที่เป็นสมมติ เพราะขาดความเข้าใจในสัจธรรม (อวิชชา) หากเขาถอดสมมติบัญญัติออกไปจนหมด มันจะไม่มีค่าอะไรสำหรับเขาเลย สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนไม่ใช่อะไร ว่างจากความหมายในความเป็นอะไร เมื่อทุกอย่างไม่มีความหมายในจิตใจ ความทุกข์ก็ดับลง เพราะหมดเชื้อในการ "ไปหลง ไปคิด ไปยึด" แล้วนั่นเอง
นิพพานนั้นมีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีให้กับใคร เพราะไม่เคยมีใครทำจิตให้ไม่มีใคร ตัณหาก็จะหมดไป นั่นแหละที่สุดทุกข์ นั่นแหละนิพพาน เพราะนิพพานมีอยู่ทั่วไปในทุกที่ที่ตัณหามันดับลง
คนเรามีความอยาก ความทุกข์ก็ย่อมเกิด เพราะความอยากจะนำเราไปสู่การดิ้นรนเพื่อสนองความอยาก หัวใจจะลิงโลด จินตนาการไปต่าง ๆ นานาว่าเมื่อได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาแล้ว เราจะสุขแค่ไหน? อย่างไร? ก็จะดิ้นรนทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ครอบครองสิ่งนั้นมาสนองความอยากของตน พอไม่ได้ก็ผิดหวัง นำไปสู่ความอึดอัดขัดเคืองจนเกิดความทุกข์ เมื่อได้มา จิตก็ลิงโลด มีความสุข แต่นั่นจะเป็นอยู่เพียงชั่วเวลาหนึ่ง จากนั้นความรู้สึกจะเปลี่ยนเป็นความเคยชิน และเบื่อหน่ายในที่สุด ทีนี้ก็จะดิ้นรนไปอยากอย่างอื่นต่อไป
นิพพานจึงหมายถึงภาวะที่ปราศจากปัญหา เป็นภาวะแห่งความสงบ สันติ อิสรภาพ และความบริสุทธิ์ ท่านพุทธทาสใช้คำว่า.. สะอาด สว่าง สงบ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความเป็นจริงของสังขาร รู้เท่าทันความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่เป็นอยู่เฉพาะหน้าตลอดเวลานี้ กล่าวคือ..ไม่ไปขัดขืนฝืนทนกับสิ่งใด ๆ ที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ไปขัดแย้ง ไม่ไปมีตัวกูของกูขึ้นมาแบ่งแยกอะไรจากอะไร เมื่อทำจิต (ความคิด) ให้กลมกลืนกับทุกสรรพสิ่งได้ (ยอมรับ, ปล่อยวาง, ช่างหัวมัน) แล้วทุกข์จะเกิดขึ้นจากที่ไหน? แม้ขันธ์ห้าจะยังดำรงอยู่ ก็เป็นเพียงธาตุขันธ์เปล่า ๆ ที่ไร้ซึ่งความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใด ๆ ดำรงชีวิตอยู่ได้ในฐานะอริยบุคคลที่ไม่มีความขัดแย้งต่อสภาวะใด ๆ
คำถามต่อไปที่ว่า.. ใครๆ ก็ไปถึงนิพพานได้จริงหรือ? (ขอเปลี่ยนเป็น "เข้าถึง" นิพพาน)
คำตอบคือ..ในข้อปฏิบัติทางพุทธศาสนานั้น คือจะสอนให้รู้ก่อนว่าทุกข์คืออะไร เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์คืออะไร สิ่งใดเกิดมาได้ สิ่งนั้นก็ย่อมดับไปได้ และจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงดับทุกข์ได้ พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นมาจากตัณหาในใจ ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา การจะดับทุกข์นั้น ก็จะต้องละสิ่งที่เรียกว่ากิเลสต่าง ๆ นี้ด้วยตนเอง คือต้องช่วยตนเอง ไม่อาจร้องขออ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ให้มาช่วยได้ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ตัวเรานี่แหละที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำได้เองโดยไม่ต้องพึ่งใคร (โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง)
แม้จะมีคำกล่าวที่ว่า "ขอเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง" ก็ไม่ได้หมายความว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะมาช่วยใครได้ การเป็นที่พึ่งในที่นี้ หมายถึงว่า เราจะต้องปฏิบัติตนตามอย่างพระพุทธเจ้า ตามธรรมะที่พระองค์นำมาสอน ตามอย่างที่พระอริยสงฆ์ที่ได้ทำให้เห็นแล้ว การที่เราทำแต่เพียงกราบไหว้บูชา สวดมนต์เป็นนกแก้วนกขุนทองโดยไม่รู้ความหมาย จึงไม่ใช่การปฏิบัติธรรม และไม่อาจทำให้ใครพ้นทุกข์ได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าเลย
ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ได้ตั้งอยู่ในความงมงาย และความเชื่อความศรัทธาต่อพระพุทธองค์ แต่เป็นความเชื่อความศรัทธาที่ประกอบด้วยเหตุผล หลักธรรมที่สอนให้เชื่อด้วยปัญญาของตนเองนั้น ตรงกับหลักโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นหลักวิธีคิด เป็นการพิจารณาเพื่อเข้าถึงความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย (ปฏิจสมุปบาท)
ธรรมะ คือกฏของธรรมชาติ โดยสรุปตรงที่ "สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา" ฉะนั้นการได้รับผลจากการปฏิบัติเป็นความพ้นทุกข์ทางใจ จึงมาจากการเข้าใจในสิ่งสมมุติ แล้ววางลงไม่ยึดถือ
สุดท้ายท้ายสุดนี้..อาตมาขอฝากพุทธพจน์หนึ่ง ที่พระองค์ทรงตรัสแก่เหล่าภิกษุ ณ เชตวันฯ ว่า.. "ภิกษุทั้งหลาย! ในกาลก่อนก็ตาม ในบัดนี้ก็ตาม เราบัญญัติสอนแต่เรื่องความทุกข์ และความดับสนิทไม่เหลือของความทุกข์เท่านั้น" (อลคัททูปมสูตร)
คืออยากจะบอกว่า การปฏิบัติอะไรที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า พุทธบริษัททั้งหลายไม่ควรไปศึกษาและปฏิบัติเพื่อจะไปมีสภาวะใดๆ ไม่ใช่เพื่อให้ได้เป็นเทวดา เป็นพรหม หรือเพื่อให้ได้ฤทธิ์ได้ฌาน ฯลฯ อะไรทำนองนี้่ นั่นเป็นเรื่องไร้สาระ ที่ถูกคือเราควรศึกษาและปฏิบัติเพื่อที่จะดับทุกข์ จึงจะถูกตรงตามพุทธประสงค์
จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาอยู่ที่การดับทุกข์ และการจะดับทุกข์ได้ เราก็ต้องเห็นทุกข์ คือต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นทุกข์ รู้ว่าอะไรเป็นตัวทุกข์ เพราะถ้ายังไม่รู้จักไฟ แล้วจะไปดับไฟ นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
พระองค์ตรัสว่า "เมื่อมีความเห็นถูก ก็เหมือนได้ขึ้นมรรคยานแล้ว" มรรคยาน หมายถึงพาหนะ ที่จะพาไปถึงที่หมายเอง โดยมี "ความเห็นถูก" เป็นสารถี
ฉะนั้น.. อย่างแรกคือจะต้องมีความเห็นถูกก่อน จึงจะขึ้นพาหนะได้ แล้วมันจะพาไปเอง โดยมีความเห็นถูกนั่นแหละเป็นคนขับ (สัมมาทิฏฐิ) ความเห็นถูกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
โดยเฉพาะความเห็นถูกที่รู้ว่า "กูไม่มี" คือต้องรู้ก่อนว่า "ไม่มีตัวกูของกู" นี่คือความรู้ นี่คือความเห็นถูก ขั้นต่อไปก็ล้างความเห็นผิด คือเมื่อมี "ตัวกู" ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็สร้างความเห็นถูกขึ้นมา ว่ามันไม่มีตัวกูที่ไหน ฝึกล้างความเห็นผิดทุกครั้งที่มันเกิดขึ้นมา ทำบ่อยจนชินก็จะล้างความเห็นผิดได้
พุทธพจน์ที่ว่า.. ยถา พุพฺพุฬกํ ปสฺเส ยถา ปสฺเส มรีจิกํ เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติฯ "ผู้ที่มองเห็นโลกว่าไม่จีรัง และหาสาระอะไรมิได้ คนเช่นนี้ พญามารย่อมตามหาไม่พบ" (พญามาร ก็คือ ความทุกข์)
กล่าวคือ.. ก่อนเรามีทุกข์ มันยังไม่มีอะไร ต่อเมื่อมันมีอะไรขึ้นมา เราถึงมีทุกข์ ฉะนั้น..ถ้าไปจริงจังมั่นหมายในสิ่งใดแล้ว ไม่ทุกข์เป็นไม่มี ดังนั้น จึงควรมองโลกให้เป็นของว่าง มองทุกสิ่งเป็นของว่าง ตัวเราเองก็เป็นของว่าง โลกไม่มี เราไม่มี เมื่อมองได้อย่างนี้ แล้วทุกข์จะมีมาจากที่ไหน
เอกภพนี้มีแต่สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เป็นเพียงกิริยาหรือกระแสของธรรมชาติที่ดำเนินไป ซึ่งมันเป็นของชั่วคราว เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป เมื่อประธาน (คือคนหรือสัตว์) ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นแต่เพียงสมมุติ กรรมก็เป็นอันตกไป แม้ทุกข์ก็มิใช่กรรม เป็นแค่กระแสหรือกิริยาที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะสัจธรรมนั้น ไม่มีใครเป็นผู้ทุกข์อยู่แล้ว (ทุกฺขเมว หิ น โกจิ ทุกฺขิโต) แต่เพราะมี "ตัวกู" เข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกเรื่อง ที่มันเสื่อมไปเป็นธรรมดา และไม่ได้เป็นของใครด้วย (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) มันจึงกลายเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่า "ไปรับรู้ในทุกข์" นั่นเอง
เจริญพร
พระมหาทรงศักดิ์ จิรสุโภ
วัดปากน้ำ นนทบุรี
สำหรับผู้มีคำถามธรรมะ อยากไขข้อข้องใจทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่อีเมล: dhammaboxes@gmail.com
ความเห็น 77
BEST
หนึ่งจักษุแห่งธรรมอันแยบยล
ที่ทุกคนเดิมแท้ต่างมีอยู่
แต่โบราณน้อยคนนักจักได้รู้
ทางตรงสู่โพธิจิตตนพ้นว่ายเวียน
01 ธ.ค. 2561 เวลา 15.27 น.
Bigtaan
BEST
อนุโมทนา สาธุ ครับ ทางไปนิพพานคือมรรคมีองค์ 8
01 ธ.ค. 2561 เวลา 10.19 น.
กระทิงทอง
ขอไห้มีข้อความเช่นนี้บ่อยกันลืม
01 ธ.ค. 2561 เวลา 10.41 น.
โบตั๋น
Acquire Tao ๏
01 ธ.ค. 2561 เวลา 14.22 น.
Jack M4.1
สาธุสาธุสาธุ
01 ธ.ค. 2561 เวลา 11.25 น.
ดูทั้งหมด