นักวิทยาศาสตร์ นักพฤกษศาสตร์ และอีกสารพัดนักที่ต้องมาสนใจเรื่องของ “ข้าว” แบ่งข้าวออกเป็น 2 ประเภทหลักคือ
1) ข้าวพันธุ์เอเชียน หรือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryza sativa
และ 2) ข้าวแอฟริกัน หรือ Oryza glaberrima
คำว่า “oryza” ที่เป็นชื่อสกุล (ศัพท์บัญญัติของคำว่า Genus) ของข้าวนั้น เป็นคำในภาษาละติน ซึ่งก็แปลว่า “ข้าว” นี่แหละครับ และก็เป็นรากศัพท์ให้กับคำว่า “riso” ในภาษาอิตาเลียน “ris” ในภาษาฝรั่งเศสเก่า รวมไปถึง “rice” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่าข้าวเหมือนกันทั้งหมด
แต่คำว่า “oryza” นี้ก็ยังเป็นคำที่ภาษาละตินยืมคำว่า “oruza” ในภาษากรีกมาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่ากรีกก็ต้องไปเอาคำนี้มาจากภาษาอื่นด้วยแน่ๆ เพราะพวกนักนิรุกติศาสตร์ (แปลแบบกำปั้นทุบดิน ให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คือผู้ที่ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับรากของคำ) หรือผู้เชี่ยวชาญภาษากรีกโบราณเขาวิเคราะห์กันว่า มันไม่ใช่คำในภาษากรีกเอง
และในท้ายที่สุด บรรดาผู้ศึกษาคำศัพท์บรมเก่าพวกนี้ส่วนใหญ่ก็เลือกจิ้มไปให้ คำว่า “arisi” ในภาษาทมิฬ ทางตอนใต้ของอินเดีย หรือ “arici” ในภาษาทมิฬเก่า เป็นรากที่เก่าแก่ที่สุดของคำที่ว่านี้
อันที่จริงแล้วมีปราชญ์ทางภาษาชาวอินเดียบางท่านแย้งว่า คำว่าข้าวของพวกกรีก ควรจะมาจากคำที่เก่าแก่กว่านี้ คือคำว่า “warinci” ในภาษากึ่งก่อนทมิฬ (Proto-Dravidian) โดยผ่านไปทางอิหร่านเก่าคือ “vriz” (ภาษาเปอร์เซียสมัยใหม่ยังเรียกข้าวว่า Berenj) ซึ่งจะสัมพันธ์กันกับสมมุติฐานที่ว่า พวกอารยันอพยพจากทะเลสาบแคสเปียน ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศรัสเซีย เข้ามาในอินเดีย แล้วเกิดการผสมผสานกับชาวทมิฬพื้นเมือง จนเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม ซึ่งย่อมรวมถึงทั้งภาษา แล้วแพร่กระจายออกไปกลายเป็นภาษาละตินและภาษาสันสกฤต
(ในภาษาสันสกฤต คำว่าข้าวคือ “vrihi”)
จากเรื่องยุ่งๆ ของการศึกษารากคำหลายย่อหน้าข้างต้น พอจะสรุปง่ายๆ ได้ว่า “ข้าว” ในสารพัดภาษาของยุโรปมีรากมาจากภาษาทมิฬในอินเดียใต้ และจากหลักฐานทางโบราณคดี ทางตอนใต้ของอินเดียก็เป็นแหล่งผลิตข้าวมแล้วอย่างเนิ่นนาน
คิดดูง่ายๆ ว่า เฉพาะหลักฐานของการนำข้าวป่ามาใช้บริโภคในอินเดียนั้น ก็เก่าแก่ระดับ 5,000 กว่าปีมาแล้วเลยทีเดียว
แต่ชาวยุโรปไม่ได้อิมพอร์ตไปเฉพาะคำที่ใช้เรียก “ข้าว” หรอกนะครับ พวกเขาก็นำเข้าข้าวไปใช้บริโภคกันด้วยนั่นแหละ โดยเมื่อนำข้าวเข้าไปแล้ว คำเรียกข้าวก็เลยตามเข้าไปด้วยพร้อมกัน (คล้ายๆ กับที่ทุกวันนี้เราใช้สินค้าที่ฝรั่งเป็นผู้ริเริ่มผลิต ก็เรียกชื่อผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วยคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ อย่างเช่น คอมพิวเตอร์ เป็นต้น)
ดังนั้น หากยิ่งมีคำศัพท์เรียกข้าวอยู่ในภาษาโบราณมากเท่าไหร่ การนำข้าวเข้าไปบริโภค หรือเพาะปลูกในยุโรปก็ยิ่งเก่าแก่มากขึ้นเท่านั้น
ยิ่งเมื่อคำว่า “ข้าว” ปรากฏในภาษากรีก โดยที่คำคำนี้ในภาษากรีกยังเป็นรากให้กับคำในภาษาอื่นทั่วยุโรป (ที่ไม่ได้รับต่อไปจากภาษาละติน เหมือนตัวอย่างที่ผมยกไว้ข้างต้นคือ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาเลียน และภาษาอังกฤษ) เช่น คำว่า “Reis” ในภาษาเยอรมัน “reis” ในภาษาเวลส์ “rijst” ในภาษาดัตช์ “rzyiai” ในภาษาลิทัวเนียน หรือ “riza” ในภาษาของพวกเซอร์เบีย และโครเอเชีย เป็นต้น ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าพวกกรีกนี่แหละที่ติดต่อสัมพันธ์กับข้าวในอินเดีย ซึ่งก็แปลว่า ข้าวได้เข้าไปสู่ยุโรปเมื่อก่อน 2,000 ปีมาแล้ว
และก็แปลได้อีกด้วยว่า ข้าวที่ถูกนำเข้าไปในยุโรปแต่ดั้งเดิมนั้นเป็น “ข้าวเจ้า” เพราะข้าวพื้นเมืองของอินเดียนั้นไม่ใช่ข้าวเหนียว
ในขณะที่อีกหนึ่งอารยธรรมใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุษาคเนย์ ซึ่งก็ย่อมรวมถึงไทยด้วย อย่างจีนนั้น ก็มีหลักฐานของการปลูกข้าวเก่าแก่ไปถึง 9,000 ปี (มีบางข้อเสนอระบุว่า เก่าไปถึง 12,000 ปี แต่ไม่ได้รับการยอมรับมากนัก)
และหากจะนับเฉพาะหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ก็พบเรื่องของการนำข้าวมาใช้บริโภคอยู่ในคัมภีร์ก่วนจื่อ ซึ่งถือเป็นตำราสำคัญในยุคจั้นกว๋อ (มีชื่อแปลเป็นไทยยากๆ ว่ายุคสงครามรณรัฐ หรือที่พงศาวดารจีนในไทยเรียกว่า “ยุคเลียกก๊ก” นั่นเอง) ปลายราชวงศ์โจวตะวันออก (พ.ศ.68-322) ได้กล่าวถึงการใช้ข้าวในเทศกาลไหว้พระจันทร์เอาไว้ว่า
“นับจากปักษ์เซี่ยจื้อ (ครีษมายัน, วันที่พระอาทิตย์อยู่ในจุดเหนือสุด ทำให้มีกลางวันยาวที่สุดในรอบปี) ไป 92 วัน เรียกว่าปักษ์ชิวจื้อ (ชิวเฟิน-ศารทวิษุวัต, วันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันในฤดูใบไม้ร่วง) ปักษ์นี้ข้าวกล้า (หมายถึง ข้าวเหนียว และข้าวเจ้า) สุก โอรสสวรรค์นำไปไหว้พระจันทร์”
แปลง่ายๆ ว่า แต่เดิมเมื่อ 2,000 ปีก่อนนั้น ของที่ถูกนำมาใช้ไหว้พระจันทร์คือ “ข้าวเจ้า” หรือไม่ก็ “ข้าวเหนียว” แต่จะเอาข้าวไปแปรรูปหรือทำอะไร ข้อความในคัมภีร์ไม่ได้บอกไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ.337-763) ได้เกิดมีเทศกาลใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งเทศกาลคือ เทศกาลจิ้งเหล่าเจี๋ย หรือเทศกาลคารวะผู้สูงอายุ โดยทางการจะคัดเลือกคนชราที่มีชื่อเสียงและขึ้นชื่อเรื่องคุณธรรมจำนวนหนึ่งมาแล้วมอบไม้เท้า กับ “ขนม ที่นึ่งมาจาก “แป้งข้าวเหนียว” และข้าวของอื่นๆ ให้
และก็น่าจะเป็นเจ้าข้าวเหนียวนึ่งแบบเดียวกันนี่แหละครับ ที่โอรสสวรรค์ในยุคก่อนหน้านั้นใช้ไหว้พระจันทร์ เพราะเอกสารบางชิ้นก็ระบุเอาไว้ว่า เทศกาลคารวะผู้อาวุโสที่ว่านี่ ก็จัดขึ้นในช่วงปักษ์เดียวกันกับงานไหว้พระจันทร์นี่แหละ
เอาเข้าจริงแล้วพิธีไหว้พระจันทร์ค่อนข้างจะเกี่ยวข้องกับฤดูกาลปลูกข้าวประเภทต่างๆ ในจีนอยู่มาก
ข้าวของจีนมีอยู่ 3 ตระกูลใหญ่ คือตระกูลข้าวฟ่าง (ลูกเดือยและข้าวโพด จัดอยู่ในตระกูลนี้) ตระกูลข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ และสุดท้ายคือตระกูลข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ข้าวตระกูลแรกใช้เวลาเพราะปลูกสั้นเก็บเกี่ยวได้ก่อนข้าวตระกูลใช้เวลาเพาะปลูกยาวเก็บเกี่ยวทีหลัง
ในคัมภีร์ก่วนจื่อเล่มเดิมนั้นยังระบุไว้ด้วยว่า “ข้าวฟ่าง” สุกในช่วง “สารทจีน” จึงได้นำข้าวฟ่างไปเซ่นบูชาพระเทพบิดร (เทพ หรือผีบรรพชน) โดยได้กล่าวต่อไปด้วยว่า ข้าวฟ่างนั้นเป็นข้าวที่มีรสชาติดีที่สุด ส่วน “ข้าวเหนียว” และ “ข้าวเจ้า” นั้นสุกในช่วงไหว้พระจันทร์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
สําหรับในกรณีของไทย ข้าวพื้นเมืองนั้นเป็น “ข้าวเหนียว” หลักฐานเก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งพบจากส่วนผสมในเครื่องปั้นดินเผา จากบ้านโนนนกทา จ.ขอนแก่น ซึ่งนักโบราณคดีขุดพบ และได้นำไปกำหนดอายุโดยวิธีหาค่าอายุของคาร์บอน 14 พบว่า มีอายุถึง 5,500 ปีมาแล้ว
วิธีการนำแกลบข้าวมาใส่ไว้ในเครื่องดินเผาเช่นนี้ยังนิยมต่อเนื่องจนถึงสมัยทวารวดี เมื่อหลัง พ.ศ.1000 เป็นอย่างน้อย เพราะอิฐในโบราณสถานของทวารวดีนั้นก็มักจะผสมแกลบข้าวอยู่ภายในดิน เพื่อให้เผาสุกได้เร็วขึ้น (เพราะเมื่อเผาแล้วแกลบข้าวจะแตก ทำให้มีฟองอากาศอยู่ภายในอิฐ) โดยเฉพาะเมื่ออิฐของทวารวดีนั้นมักจะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ทำให้เผาสุกได้ยากกว่าอิฐทั่วไปซึ่งมีขนาดเล็ก
และก็แน่นอนด้วยว่า แกลบข้าวทั้งหลายที่พบอยู่ในอิฐสมัยทวารวดีนั้นก็มีลักษณะอ้วนป้อม จึงจัดอยู่ในตระกูลข้าวเหนียวอยู่เช่นเดิม
ข้าวเจ้าเพิ่งมาปรากฏหลักฐานในไทยหลัง พ.ศ.1500 โดยมีผู้รู้ตั้งข้อสังเกตว่าเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมขอม (เขมร) ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธมหายาน โดยถูกแต่เดิมคงเป็นอาหารหลักของพ่อค้าหรือนักเดินเรือนานาชาติพันธุ์ที่เข้ามาในอุษาคเนย์นั่นเอง
ความเห็น 0