โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"ใช้ศิลปะปลดล็อกความทุกข์ให้ผู้ป่วย" คุยกับ 'อาจารย์กชกร' อีกหนึ่งคนไทยที่ติดลิสต์ TIME 100 NEXT

LINE TODAY

เผยแพร่ 04 มี.ค. 2564 เวลา 04.48 น. • Pimpayod

จากการประกาศลิสต์ TIME 100 NEXT บุคคลที่จะทรงอิทธิพลในอนาคตจำนวน 100 คนจากทั่วโลกประจำปีนี้ มีชื่อของอาจารย์กชกร วรอาคม บุคลากรคนสำคัญในวงการวิชาการของบ้านเราติดอยู่ด้วย เธอคือใคร? มีผลงานโดดเด่นด้านไหน? วันนี้ LINE TODAY ขอแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับอาจารย์กชกรให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์จากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราเชื่อว่าทุกคนจะชื่นชมในความสามารถและหัวใจที่กว้างใหญ่ของผู้หญิงคนนี้อย่างแน่นอน

‘กชกร วรอาคม’ คือภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบ Landscape หรือภูมิสถาปัตยกรรมให้กับอุทยานจุฬาฯ 100 ปี โครงการ Siam Green Sky สวนเกษตรลอยฟ้าใจกลางสยามสแควร์ สวนบำบัดลอยฟ้าที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และอีกหลายโครงการนวัตกรรมที่เลียนแบบธรรมชาติในบริบทของเมืองได้อย่างลงตัว

ก่อนหน้านี้เธอคือผู้หญิงคนหนึ่งที่อ่อนไหวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม คืออดีตนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่หลายบริษัทในอเมริกาต้องการตัว แต่อีกมุมหนึ่งเธอคือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้เคยอยากทิ้งงานที่รักเพราะให้คำตอบกับชีวิตไม่ได้ แต่ก็ผ่านความทุกข์เหล่านั้นมาได้ด้วยศาสตร์ของการบำบัด

กชกร วรอาคม
กชกร วรอาคม

ทุกวันนี้เธอคือตัวตั้งตัวตีในการเข้าไปบำบัดผู้ป่วยด้วยการใช้ศิลปะและดนตรีไปปลดล็อกสิ่งที่อยู่ในใจ จากคนที่เคยผ่านความทุกข์ยากมาก่อน สู่การเป็นคนเข้าใจคนอื่นจนสามารถช่วยเหลือผู้คนได้

“จุดเริ่มต้นคืออยากบำบัดตัวเอง ได้ศึกษาศาสตร์ของศิลปะและดนตรีบำบัดตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังทำงานด้านภูมิสถาปัตยกรรมที่อเมริกา ได้เงินเยอะ มีบริษัทดี ๆ อยากให้ไปทำงานด้วย ซึ่งเป็นความฝัน เป็นแพสชั่นตั้งแต่แรก แต่พอได้ไปถึงแล้ว กลับไม่มีความสุข

“ยิ่งพอเป็นซิงเกิลมัม ก็ยิ่งคิดแต่ว่ามีความทุกข์ในชีวิตเยอะเหลือเกิน ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ รู้สึกว่าสิ่งที่เรียนมา มันรับมือกับตรงนี้ไม่ได้เลย ก็เลยตัดสินใจกลับเมืองไทย และไม่อยากทำงานด้านภูมิสถาปัตยกรรมแล้ว กลายเป็นว่าอยากทำงานที่เกี่ยวกับศิลปะมากกว่า

“พอกลับมาเมืองไทยก็มาทำงานด้านศิลปะบำบัด เมื่อ 10 ปีที่แล้วเรื่องศิลปะบำบัดถือว่าใหม่มาก มีคนรู้จักอยู่บ้างแต่อยู่ในกลุ่มของคนมีเงิน แต่เราคิดว่าศาสตร์นี้ควรจะต้องเป็นศาสตร์สำหรับทุกคน ก็เลยตั้งใจว่าจะบำบัดที่โรงพยาบาลของรัฐก่อน

“ตอนนั้นปรึกษากับเพื่อนว่าเราต้องหาเงินมาทำงานตรงนี้ เพราะไม่อยากเป็นจิตอาสา แต่อยากทำให้เป็นวิชาชีพ ตอนนั้นคิดว่าถ้าเป็นจิตอาสาคงไม่ได้ทำไปตลอด แต่ทำเพราะอยากทำ ถ้าวันไหนไม่อยากทำ แล้วใครจะทำต่อ ถ้าเป็นวิชาชีพจะทำให้มีรายได้ มีการพัฒนาองค์ความรู้ มีการทำวิจัยอย่างจริงจัง ซึ่งการมีรายได้ ไม่ได้หมายความว่าเงินจะเข้ามาที่เรา แต่เป็นการหารายได้คือการมีเงินมาเป็นทุนวิจัย เพื่อจัดตั้งทีมงานให้มาทำงาน และมาพัฒนาเป็นองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง

“เราก็เขียนจดหมายไปถึงโรงพยาบาลทั่วประเทศ แต่ไม่มีที่ไหนตอบกลับมาเลย สุดท้ายเลยเขียนจดหมายไปขอทุนกับ สสส. จนได้ทุนมาทำงานด้านศิลปะบำบัดอย่างจริงจัง

“พอได้ไปบำบัดคนอื่น ไปเห็นคนป่วยที่เป็นซิงเกิลเหมือนกัน แต่ลูกเค้าป่วยเป็นออทิสติก ไม่มีเงิน แถมยังหาเช้ากินค่ำอีก ทำให้รู้สึกเลยว่ามัวแต่ทุกข์อะไรอยู่เนี่ย อย่างน้อยเรายังมีบ้าน มีข้าวกิน มีพ่อ มีแม่

“การไปเจอความทุกข์ของคนอื่นไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น แต่ทำให้รู้สึกว่าความทุกข์ของเราเล็กลง และอยากทำให้คนอื่นพ้นทุกข์ ซึ่งมันจะย้อนกลับมาทำให้เราไม่ทุกข์ตามไปด้วย แต่ถ้ายิ่งโฟกัสว่าจะทำยังไงให้ตัวเองพ้นทุกข์ ไปเที่ยว ไปโน่น ไปนี่ ยิ่งหนีก็ยิ่งไม่พ้น เพราะมันต้องเข้าใจความทุกข์ เราถึงจะหายทุกข์ สุดท้ายจากการไปบำบัดคนอื่นก็เลยได้ขัดเกลาตัวเองไปด้วย”

วิธีการก็คือการนำสื่อศิลปะหรือดนตรีเข้าไปให้ผู้ร่วมกิจกรรมรู้สึกผ่อนคลาย ผ่านกระบวนการหลายรูปแบบ จนเค้ารู้สึกบำบัดและนำไปสู่การปลดล็อกอะไรบางอย่างในชีวิต

“การรักษากับการบำบัดต่างกันตรงที่ การรักษาทำเองไม่ได้ ต้องมีคุณหมอมารักษาให้ แต่การบำบัดเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่จะช่วยรักษาตัวเอง คือเราไปบำบัดเค้าไม่ได้ ถ้าเค้าไม่อยากจะบำบัด ซึ่งวิธีการก็คือ ไปสร้างกระบวนการ สร้างสิ่งแวดล้อมให้เค้ารู้สึกอยากบำบัด ทำให้เค้ารู้สึกปลอดภัยพอที่จะเปิดเผยบางสิ่งบางอย่างที่เป็นปมในใจออกมา

“แต่ละกิจกรรมจะถูกออกแบบมาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับโจทย์ว่าต้องการอะไร แต่พื้นฐานคือต้องมาปรับอารมณ์กันก่อน เพราะแต่ละคนมาจากคนละที่ มีที่มาต่างกัน ความป่วยไข้ก็ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องมาปรับอารมณ์ จากนั้นค่อยเข้าสู่กระบวนการบำบัด อาจจะเป็นการพูดถึงตัวเอง วาดรูป ปั้นดิน เล่นดนตรี และสุดท้ายก็สรุป ซึ่งรายละเอียดจะปรับเปลี่ยนไปตามคนที่เข้าร่วม

“เราออกแบบกิจกรรมบนพื้นฐานของศิลปะหรือเสียงดนตรี แต่ละอย่างจะมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง เรามีหน้าที่นำกระบวนการเหล่านี้เข้ามาให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เช่น การปั้นดิน คนที่เข้าร่วมอาจจะได้โจทย์ที่เหมือนกัน แต่คนเราอารมณ์ต่างกัน การปั้นดินก็จะออกมาไม่เหมือนกัน แล้วแต่อารมณ์ ณ ตอนนั้นของแต่ละคน ซึ่งกระบวนการจะมีความแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมในแต่ละครั้ง

“เราไม่ได้กำลังพูดศิลปะหรือดนตรีในมิติของความสวยงาม ไม่ได้ทำไปโชว์ ไปขาย หรือเอาคะแนน แต่การบำบัดคือการเปลี่ยนอารมณ์ให้กลายเป็นรูปทรงผ่านงานศิลปะ เป็นแค่การแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา อารมณ์ ณ ตอนนั้นเป็นยังไงก็จะแสดงออกมาผ่านรูปวาด รูปปั้น หรือท่าทาง เช่น โจทย์คือต้องวาดรูปเพื่อเขียนจดหมายหาตัวเองในอนาคต ผู้รับการบำบัดจะวาดอะไรออกมาก็ได้ตามอารมณ์ เพราะไม่มีใครมาตัดสิน

“พอเห็นรูป จะเห็นเลยว่าอารมณ์เป็นอย่างไร การทำแบบนี้เป็นเหมือนการบันทึกอารมณ์รูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของความสวยงามเลย”

พอเข้าไปบำบัดผู้คนมากขึ้น เหมือนตัวเองก็ถูกบำบัดไปด้วย การได้เห็น ได้ยินในสิ่งที่กำลังจะถูกปลดปล่อย เป็นความรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก

“มีโอกาสได้บำบัดลูกสาวที่ป่วยระยะสุดท้ายกับแม่ เค้าสองคนไม่ค่อยคุยกัน กิจกรรมหนึ่งของเราก็คือให้เค้าปั้นดิน เพราะศิลปะเป็นภาษากาย เป็นภาษาที่สื่อสารถึงกันได้ พอเค้ารู้สึกปลอดภัย ปั้นไปก็เริ่มเล่าว่าทำไมถึงไม่คุยกัน ได้พูดความในใจว่ารักกัน กลายเป็นว่าได้ปลดล็อก ได้สะสางสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจ ซึ่งการพูดออกมาช่วยในการปลดปล่อย ช่วยให้ไปอย่างหมดห่วง

“หรืออีกเคสหนึ่งที่น้องชายเป็นอัมพฤต เป็นพาร์กินสัน มีพี่สาวดูแล ต่างคนต่างแก่ด้วยกันทั้งคู่ คุณลุงน้องชายก็น้ำลายไหล คุณป้าก็ดูแลตลอด เข็นรถ เช็ดน้ำลาย แต่เช็ดไปก็บ่นไป เราก็ให้เค้าเข้ามาสู่กระบวนการบำบัด ให้เค้านั่งเฉย ๆ ห้ามพูดคุย แต่ให้วาดรูปแทน ให้น้องชายวาดรูปพี่สาว ส่วนพี่สาวก็วาดรูปน้องชาย เค้าก็ไม่พูด ไม่บ่น แต่นั่งมองหน้ากันแล้ววาด ซึ่งโมเมนต์แบบนี้เป็นความสวยงาม แถมคุณลุงที่ป่วยวาดรูปออกมาดีมาก ถึงเส้นจะกระตุกเพราะโรคภัยไข้เจ็บ แต่ก็เป็นรูปที่สวยงาม พอจบกิจกรรมเค้าก็แลกรูปกัน

“อีกเคสแม่ทำงานก็เลยไม่มีเวลาให้ลูกที่ป่วย พอได้เข้ามาบำบัด มาวาดหน้ากันและกัน อยู่ดี ๆ แม่ก็พูดขึ้นมาว่ากิจกรรมนี้ก็ดีนะ ไม่ได้มองหน้าลูกสาวมานานแล้ว คือมันมีอะไรสอดแทรกทำให้สิ่งที่อยู่ในใจคลายได้

“จริง ๆ ระหว่างคนในครอบครัว ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นมันไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเรื่องของการสื่อสารกันด้วยความไม่เข้าใจ ไม่ได้ผิดที่ทุกคนแก่ลง หรือป่วย หรืออารมณ์ขึ้นลง แต่เป็นการไม่ได้มาคุยกันด้วยความเข้าใจ ซึ่งสื่อศิลปะหรือดนตรีจะเข้ามาช่วยแบบน่ารัก ทำให้มีโอกาสได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำด้วยกันมากขึ้น สุดท้ายก็ปลดล็อกอะไรบางอย่างได้”

อย่างที่รู้ว่าศิลปะและดนตรีเป็นศาสตร์ของคนทุกคน…ศิลปะบำบัดและดนตรีบำบัดก็เช่นกัน

“ศาสตร์นี้เป็นเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ต้องป่วย ก็บำบัดได้ เพราะคนเราไม่จำเป็นต้องป่วยกาย ใจกับกายไม่ได้จากแยกกัน แต่การที่กายไม่แสดงออกว่าป่วย ก็ไม่ได้หมายความว่าใจจะไม่ป่วย จริง ๆ อาจป่วยใจมาก่อน จนกลายเป็นความป่วยกายก็ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ป่วยก็ควรได้รับการบำบัดด้วยเหมือนกัน

“ศิลปะและดนตรีจะเข้าไปช่วยตรงนี้ได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการ ผ่านกิจกรรมเพื่อเข้าไปคลี่คลายปมที่อยู่ในใจ คนทุกคนมีอะไรแบบนี้ทั้งนั้น แค่โกรธใครสักคน ก็ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวแล้ว หรือทุกข์อะไรบางอย่างมาก ๆ ก็เกี่ยวข้องกับจิตใจแล้ว ซึ่งถ้าได้คลี่คลายก็จะช่วยได้มาก เพราะคนเราต้องรักตัวเองให้เป็น ก่อนที่จะไปรักคนอื่น ไม่งั้นเราจะรักแบบมั่ว ๆ ซั่ว ๆ เพราะรักตัวเองไม่เป็น”

จากวันนั้นถึงวันนี้..สิบปีแล้วที่ได้เข้ามาช่วยบำบัดคน และจากนี้ต่อไปก็ยังตั้งใจจะทำต่อไปเรื่อย ๆ

“ที่ผ่านมาทำงานด้านศิลปะบำบัดมาตลอด เป็นงานที่อยากทำไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ตัวเองจะเกษียณจากงานภูมิสถาปัตยกรรม แต่งานศิลปะบำบัดจะไม่เกษียณแน่นอน ทุกวันนี้ยังไปบำบัดที่โรงพยาลรัฐบาลอยู่เรื่อย ๆ ไปช่วยผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่วัดคำประมง จ.สกลนคร รวมถึงไปจัดคอร์สฝึกอบรมศิลปะบำบัดที่ศิริราช จัดไป 10 กว่ารุ่นแล้ว ให้แพทย์และคนทั่วไปได้เข้าใจมิติของศิลปะ เพื่อนำไปปรับใช้กับคนไข้และผู้ดูแลได้

“คือพอเราได้อะไรหลายอย่างจากศิลปะ ก็อยากที่จะส่งต่ออกไป ศิลปะทำให้เราหยุด ซึ่งเป็นโมเมนต์ที่ดี เวลาทำงานศิลปะทำให้ได้อยู่กับตัวเองจริง ๆ แล้วสิ่งเราทำ มันก็คือตัวเราที่สะท้อนผ่านผลงานออกมา พอเห็นผลงานก็เหมือนเห็นตัวเอง ถ้าทุกคนมีโอกาสได้มองตัวเองผ่านผลงานแบบนี้บ้าง ก็จะดีมาก เหมือนได้ผ่อนคลาย ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ทีนี้เราก็จะมีเรื่องให้ทุกข์น้อยลงตามไปด้วย”

คนเราจะรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า..ก็เมื่อทำเพื่อใครสักคน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 17

  • พัชรี
    เยี่ยมเลยคะ น่าจะลงที่อยู่ในการจัดกิจกรรมด้วย สนใจ
    08 มี.ค. 2562 เวลา 12.43 น.
  • UNDESIGN
    อยากศึกษาบ้างจังครับ. ถ้าอยากไปช่วยต้องทำไงบ้างครับ
    08 มี.ค. 2562 เวลา 23.54 น.
  • Paer6311 (❁´◡`❁)
    น่าสนใจจังเลยคะ. น่าจะมีจัดในกรุงเทพฯบ้างนะคะ เพราะสังคมสมัยนี้มีแต่คนเครียดและเรื่องเครียดๆทั้งนั้นเลยคะ
    08 มี.ค. 2562 เวลา 13.52 น.
  • กุ้งSK406/4 Sw1.9/23
    อยากเป็นอาสาสมัครบ้างค่ะ
    08 มี.ค. 2562 เวลา 13.26 น.
  • W.Direk_666 🐮789🐉♍♑🇹
    ดีจังมีคนที่ทำเหมือนกัน เมื่อก่อนผมเคยเอาแนวนี้มาใช้ผลตอบกลับว่าผมบ้าเป็นไปไม่ได้ แต่วันนี้อ่านข่าวนี้แล้วรู้สึกว่ายังมีคนทำแบบเดียวกันกับเรา ศิลปะบำบัด ช่วยได้ดีกับเด็กๆและผู้มีปัญหาด้านความเครียด
    09 มี.ค. 2562 เวลา 01.54 น.
ดูทั้งหมด