เมื่อลูกเริ่มพูดเก่ง สามารถเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้มากขึ้น บางทีก็จะคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้จนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจกำลังฟังเรื่องที่ลูกแต่งขึ้นมา
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าสิ่งที่ลูกพูดอยู่นั้นไม่เป็นความจริง หรือเป็นเรื่องโกหก บางครั้งไม่ได้ใส่ใจกับคำพูดเหล่านั้น หรืออาจลงโทษว่ากล่าว จนทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าได้
ทำไมลูกถึงชอบโกหก?
อายุก่อน 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ลูกช่างพูดคุย ช่างเจรจา และมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ในเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถแยกแยะเรื่องราวที่จินตนาการกับเรื่องราวที่เป็นความจริงออกจากกันได้อย่างชัดเจน
ดังนั้นบ่อยครั้งเด็กจึงจะเล่าหรือพูดเรื่องราวต่างๆ เหมือนกับการสร้างเรื่องขึ้นมา จนทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าลูกกำลังโกหกตนอยู่
อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกโตขึ้นก็มักจะแยกแยะเรื่องราวต่างๆ ว่าสิ่งไหนเป็นเรื่องจริง สิ่งไหนเป็นเรื่องสมมติ หากลูกแต่งเรื่องพูดหรือพูดโกหกอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายอาจนำมาซึ่งนิสัยชอบโกหกหลอกลวงได้
นอกจากนี้ในวัยเด็กเล็ก ความสามารถในการแยกแยะระหว่างการรับรู้ของตนและการรับรู้ของผู้อื่น หรือมี Theory of Mind นั้นยังพัฒนาไม่เต็มที่ สิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเข้าอกเข้าใจ รับรู้ความรู้สึกและความคิดของผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง จึงทำให้เด็กมีโอกาสที่จะโกหกได้มากขึ้น
ลูกโกหกนั้นเป็นเพราะอะไร?
บางครั้งที่เด็กๆ พูดไม่จริง จนรู้พ่อคุณแม่รู้สึกว่าลูกชอบโกหก อาจเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้
1. ลูกโกหกเพราะรู้สึกผิด
มีหลายเหตุการณ์หรือหลายปัจจัยที่สามารถทำให้เด็กโกหกได้
บ่อยครั้งโดยเฉพาะเด็กที่ถูกเลี้ยงแบบตามใจและได้รับการดูแลมาก จะเลือกใช้การโกหกเพื่อไม่ทำให้คนที่ตนเองรักหรือคาดหวังกับตนเองเสียใจ
หากเด็กถูกเลี้ยงดูแบบควบคุมใช้อำนาจ คุณพ่อคุณแม่มักลงโทษดุด่าบ่อยครั้ง เด็กก็จะใช้การโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทำโทษ
นอกจากนี้เด็กอาจจะใช้การโกหกเพื่อเป็นเกราะกำบังให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูยังคงเลี้ยงดูแบบตามใจและใส่ใจตนแบบเดิม
หลายๆ ครั้งพ่อแม่ของลูกที่โกหกก็มักจะมีความหวังว่าลูกจะพูดแต่ความจริง ดังนั้นลูกก็จะใช้การโกหกเพื่อรักษาภาพพจน์ของตนเอง
ในเด็กหลายๆ คน เมื่อไปโรงเรียน หากพบว่าตนเองทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่ได้หรือทำงานไม่เสร็จ ก็อาจโกหกว่าตนทำได้หรือทำเสร็จเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนทำโทษด้วย
2. ลูกโกหกเพื่อหลบหนีความผิดพลาด
คุณพ่อคุณแม่ควรนึกไว้เสมอว่า ภายใต้การโกหกของลูกนั้นมีบางสิ่งซ่อนอยู่ การหลบหนีจากความผิดพลาดและการทำให้พ่อแม่รู้สึกผิดหวังในตนเองเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กโกหกได้
มีการศึกษาว่าคุณพ่อคุณแม่ที่แสดงความโกรธต่อลูกอย่างรุนแรง ลงโทษ ดุด่าหรือตีเมื่อลูกโกหก จะยิ่งสิ่งผลให้ลูกโกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
3. ลูกโกหกเพราะถูกสอนให้โกหก
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูก็เป็นคนทำให้เด็กเกิดความสับสน ว่าเมื่อใดควรพูดความจริง เมื่อใดควรโกหก
หรือบางครั้งก็สอนและเป็นตัวอย่างในการโกหกเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกดี ไม่รู้สึกเจ็บปวดเสียใจ หรือโกหกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพื่อบอกปฏิเสธสถานการณ์ต่างๆ ที่รู้สึกว่ายาก ไม่อยากทำ โดยการกระทำดังกล่าวเรียกว่าเป็นการโกหกโดยมีเจตนาดี (White lie)
สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เด็กเรียนรู้ว่าการโกหกเป็นสิ่งดีได้ เช่น ลูกมีงานกีฬาสีที่โรงเรียน แต่วันนั้นแดดร้อนจัด คุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงกลัวลูกไม่สบายจึงโกหกบอกคุณครูว่าลูกปวดท้อง จึงไม่ได้ไปร่วมงาน
อะไรที่ส่งเสริมให้ลูกชอบโกหก?
นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปแล้ว สิ่งต่อไปนี้อาจส่งเสริมให้ลูกชอบโกหกมากขึ้น
- ลักษณะการเลี้ยงดูแบบใช้ควบคุมใช้อำนาจ เข้มงวด วางกฎเกณฑ์ให้ลูกอย่างเคร่งครัด
- ความสามารถทางภาษาที่ดีในการเล่าเรื่องราว
- ความต้องการที่จะเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่
พ่อแม่ควรรับมือกับปัญหาลูกชอบโกหกอย่างไร?
เมื่อทราบรู้ว่าลูกโกหก สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือบอกให้ลูกทราบว่าเรารู้ว่าลูกกำลังโกหกอยู่ หลีกเลี่ยงการลงโทษโดยใช้ความรุนแรง พูดคุยกับลูกโดยแสดงท่าทีอ่อนโยน เข้าใจ และมีความจริงใจต่อกัน เช่น
“แม่ต้องการให้หนูพูดความจริง และแม่จะพูดความจริงกับหนูเช่นกัน เพราะเชื่อใจกันและกันนะจ๊ะ”
“หนูจะรู้สึกดีขึ้น ถ้าหนูบอกความจริงกับพ่อแม่แทนการโกหก”
ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องตระหนักเสมอว่าท่าทีที่แสดงออกและคำพูดของตนในการพูดเรื่องจริง จะเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดสู่ลูกให้เรียนรู้เรื่องของความเป็นจริงและความผิดชอบชั่วดี
ดังนั้นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะรับมือกับลูกชอบโกหก จึงได้แก่
- เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกเรื่องความซื่อสัตย์
- สร้างความไว้วางใจแก่กัน
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก
- ฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบ
- ชมเชยเมื่อลูกทำดีและมีความซื่อสัตย์
- สอนเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีของคนในสังคม
หากลูกโกหกแล้วปล่อยไว้ จะส่งผลเสียต่อตัวลูกเองอย่างไร?
มีการศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับพฤติกรรมการโกหกของเด็กตั้งแต่อายุ 1-3 ปีขึ้นไป พบว่าสัมพันธ์กับพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและสังคมของเด็ก
พฤติกรรมนี้จะค่อยๆ ถูกพัฒนาและปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรมจริยธรรมประจำตัว
และยังพบว่าเด็กที่มีพฤติกรรมโกหกซ้ำๆ จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาอื่น ๆ เมื่อโตขึ้น เช่น ขาดความน่าเชื่อถือจากบุคคลรอบข้าง ไม่มีเพื่อน มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า หากเด็กโกหกซ้ำๆ จะมีพัฒนาการที่ไม่ดีในด้านความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ขาดการควบคุมตนเอง และมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม
เมื่อไหร่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อให้การช่วยเหลือ?
เมื่อพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกชอบโกหก และได้ทำความเข้าใจรวมถึงให้ความช่วยเหลือดังคำแนะนำข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล คุณแม่คุณแม่อาจพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา โดยเฉพาะหากลูกมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- ลูกโกหกซ้ำ ๆ
- ลูกขโมยของ หนีโรงเรียน
- ลูกทำร้ายข้าวของ ทำร้ายผู้อื่น
หรือจากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูกังวล ไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมโกหกของลูกได้ ก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน
👨⚕️⚕️👩⚕️⚕️ ค้นหาโรค อาการ ยา โรงพยาบาล คลินิก และอ่านบทความสุขภาพ เขียนโดยคุณหมอหรือผ่านการรีวิวจากคุณหมอแล้ว ที่ www.honestdocs.co และ www.honestdocs.id
💪❤️ ไม่พลาดข้อมูลดีๆ ที่จะทำให้คุณแข็งแรงขึ้นทั้งกายและใจ คลิกที่นี่เพื่อแอดไลน์ @hdcoth หรือแสกน QR Code ด้านล่างนี้ และยังติดตามเราได้ที่ Facebook และ Twitter วันนี้
📱📰 โหลดแอป HonestDocs สำหรับ iPhone หรือ Android ได้แล้ววันนี้! จะอ่านบทความ จะเก็บบทความไว้อ่านทีหลัง หรือจะแชร์บทความให้คนที่เราเป็นห่วง ก็ง่ายกว่าเดิมเยอะ
เปรียบเทียบดีลสุขภาพ ทำฟัน และความงาม จาก รพ. และคลินิกกว่า 100 แห่ง พร้อมจองคิวผ่าน HonestDocs คุณหมอมือถือได้เลยวันนี้ ถูกกว่าไปเอง
ขอบคุณที่วางใจ ทุกเรื่องสุขภาพอุ่นใจ ให้ HonestDocs (ออเนสด็อกส์) คุณหมอมือถือ ดูแลคุณ ❤️
ความเห็น 0