RAM คืออะไร ? Harddisk คืออะไร ? SSD คืออะไร ?
และแตกต่างกันอย่างไร ?
อย่างที่เราทราบกันดีว่าการทำงานของคอมพิวเตอร์นั้นจำเป็นที่จะต้องมี CPU ในการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ซึ่งข้อมูลภายในคอมพิวเตอร์นี้ก็จะถูกจัดเก็บเอาไว้ใน “หน่วยความจำ” เพื่อรอให้ หน่วยประมวลผลกลาง หรือ ซีพียู (CPU - Central Processing Unit) นั้น ดึงข้อมูลออกไปใช้งาน ซึ่งหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์นั้นก็ประกอบไปด้วย RAM และ HDD หรือ SSD
RAM (Random Access Memory) คืออะไร ?
แรม (RAM) ชื่อเต็มๆ ในภาษาอังกฤษของมันคือ "Random Access Memory" มีลักษณะเป็นแผงวงจร Silicon ที่เสียบติดอยู่กับเมนบอร์ด ถือได้ว่าเป็นหน่วยความจำภายใน และทำหน้าที่เป็น อุปกรณ์เก็บข้อมูลหลัก (Primary Storage) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่อุปกรณ์พกพาทุกชนิด เพราะมันจะทำงานเฉพาะในช่วงเวลาที่มีกระแสไฟฟ้าไหลเวียนอยู่ภายในเครื่องเท่านั้น (เมื่อไม่มีกระแสไฟฟ้า หรือปิดเครื่อง ข้อมูลทั้งหมดจะถูกรีเซ็ต และหายไป) ซึ่งเขาเรียกว่า "Volatile Memory" นั่นเอง
โดยแรมจะทำหน้าที่เป็นตัวส่งผ่านข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาจาก อุปกรณ์ต่อพ่วง (Peripheral Devices) ชนิด อุปกรณ์รับข้อมูลเข้า (Input Devices) อย่างเช่น เมาส์ (Mouse) คีย์บอร์ด (Keyboard) กล้องเว็บแคม (Webcam) ไมโครโฟน (Microphone) เมาส์ปากกา (Pen Tablet) ฯลฯ หรือแม้แต่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Storage Devices) เพื่อให้ CPU นั้นนำไปประมวลผล เป็นลำดับต่อไป
และเมื่อ CPU ประมวลผลข้อมูลเหล่านี้เสร็จแล้ว ก็จะถูกส่งกลับมาเก็บในแรมอีกเช่นเคย ก่อนที่จะนำออกไปแสดงผลลัพธ์ ยัง อุปกรณ์แสดงผล (Output Devices) อย่างเช่น เครื่องพิมพ์ (Printer) หน้าจอแสดงผล (Display) ฯลฯ หรือ จัดเก็บในอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เป็นลำดับต่อไป
ในส่วนของข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ในแรมก็มักจะเป็นข้อมูลการทำงานของระบบต่างๆ ภายในคอมพิวเตอร์ที่จะมีการเคลียร์ข้อมูลทุกครั้งหลังปิดเครื่องหรือกดออกจากโปรแกรม
ภาพจาก : https://www.wallpaperflare.com/chip-green-gold-circuit-dell-laptop-pc-memory-ram-computer-chip-wallpaper-ghvkv
และเนื่องจากว่าแรมเป็นตัวส่งผ่านข้อมูลไปยัง CPU ดังนั้นในบางครั้งที่คอมพิวเตอร์ของเราทำงานได้ช้าลงก็อาจมีสาเหตุมาจาก “แรมไม่เพียงพอต่อการใช้งาน” ที่มีการดึงข้อมูลจากหลายส่วนมาประมวลผลในเวลาเดียวกัน ทำให้มีการใช้งานแรมที่สูงกว่าปกติจนทำให้การส่งข้อมูลให้ CPU เป็นไปได้ช้าจน CPU จำเป็นจะต้องดึงข้อมูลจากหน่วยความจำภายนอกมาใช้งานและทำให้เครื่องช้าลง ซึ่งหากปิดโปรแกรมที่กินแรมลงก็จะสามารถแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้และทำให้คอมพิวเตอร์กลับมาทำงานที่ความเร็วเท่าเดิมได้นั่นเอง
ทั้งนี้ การเลือกแรมที่มีความจุสูงก็ไม่ได้ช่วยให้ CPU ประมวลผลเร็วขึ้นเสมอไป เพราะความเร็วของคอมพิวเตอร์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ความจุแรมเพียงเท่านั้น แต่จำนวนแถวของแรมเองก็มีผลต่อการส่งถ่ายข้อมูลด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนมากแล้วแรมที่มีจำนวนแถวมากกว่าและมีการส่งถ่ายข้อมูลแบบ Multi-Channel จะมีการประมวลผลที่ดีและคมชัดกว่า ตัวอย่างเช่น หากจำนวนความจุแรมเท่ากันที่ 16 GB แบบใช้แรม 16 GB x 1 แถว กับแรม 8 GB x 2 แถว และแรม 4 GB x 4 แถว จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพในการประมวลผลแตกต่างกันแม้จะมีความจุแรมที่เท่ากันก็ตาม
HDD (Hard Disk Drive) หรือ Hard Disk คืออะไร ?
HDD หรือที่เราเรียกกันว่า "ฮาร์ดดิสก์ (Harddisk)" มีลักษณะคล้ายเครื่องเล่นแผ่นเสียงขนาดเล็กที่อยู่ภายในคอมพิวเตอร์ เป็นกล่องเหล็กสี่เหลี่ยมที่ประกอบไปด้วยแผ่นจานเก็บข้อมูล (Platter) รวมทั้งมีหัวอ่านและเขียน (Read / Write Head) ข้อมูล คล้ายเข็มเล่นแผ่นเสียงอยู่ภายในอีกด้วย โดยปกติแล้ว HDD สำหรับ Desktop จะมีขนาดของอุปกรณ์ (Form Factor) อยู่ที่ประมาณ 3.5 นิ้ว ส่วนของโน๊ตบุ๊คจะอยู่ที่ 2.5 นิ้ว
ภาพจาก : http://www.eassos.jp/tutorial/hard-drive/hard-disk-types.php
โดย HDD นั้นจัดว่าเป็นหน่วยความจำภายนอกที่ทำหน้าที่ จัดเก็บข้อมูลต่างๆ บนคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม (Program) ข้อมูลเอกสาร (Document) รูปภาพ (Image) หนังภาพยนตร์ (Movie) เกม (Game) หรือข้อมูลสำคัญอื่นๆ ภายในคอมพิวเตอร์ของเรา ซึ่งข้อมูลที่ฮาร์ดดิสก์จัดเก็บเอาไว้นี้จะคงอยู่ภายในเครื่องจนกว่าเราจะลบทิ้งด้วยตนเอง (หรือโดนไวรัสลบทิ้งไป)
เช่นเดียวกับ RAM คือ ความจุของ HDD ที่มากก็ไม่ได้ช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นมากตามไปด้วย เพราะความจุของ HDD นั้นคือความสามารถในการบันทึกข้อมูล ส่วนปัจจัยที่ทำให้ HDD ทำงานได้มีประสิทธิภาพนั้นขึ้นอยู่กับรอบRPM (Revolutions Per Minute) ในการหมุนของแผ่นจานเก็บข้อมูล (ขึ้นอยู่กับความแรงของมอเตอร์ในการหมุนแผ่นจานเก็บข้อมูล) เพราะถ้าหากรอบหมุนมีจำนวนมากก็จะส่งผลให้ฮาร์ดดิสก์สามารถ อ่านและเขียนข้อมูล ได้ไวมากขึ้นและทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
SSD (Solid-State Drive)
สำหรับ SSD เองก็เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีการทำงานคล้าย HDD คือเป็นหน่วยความจำภายนอกของคอมพิวเตอร์ แต่ SSD จะมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่ประกอบไปด้วยแผงวงจรที่มีน้ำหนักเบากว่า และไม่ต้องใช้
โดย SSD จะแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ SATA SSD ขนาด 2.5 นิ้ว (เท่ากับ HDD ของโน๊ตบุ๊ค สามารถใช้งานแทนกันได้, SSD M.2 , PCIe และ mSATA ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ต้องต่อเข้ากับเมนบอร์ด
ภาพจาก : https://www.deskdecode.com/what-is-solid-state-drive-and-how-it-works/
SSD อาจเรียกได้ว่าเป็น HDD เวอร์ชันอัปเกรด เพราะนอกจากจะมีน้ำหนักที่เบากว่าและใช้พลังงานที่น้อยกว่าจึงช่วยประหยัดแบตเตอรี่ได้มากกว่าการใช้ HDD แล้ว SSD ยังสามารถประมวลผลข้อมูลต่างๆ ได้ไวกว่าเนื่องจากใช้การบันทึกข้อมูลในรูปแบบ Flash Memory (คล้าย USB Flash Drive) อีกด้วย แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัดจึงทำให้หลายบริษัทยังคงเลือกใช้งาน HDD อยู่ดังเดิม
แต่บางบริษัทก็มีการพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ทั้ง HDD และ SSD ร่วมกันในการ เก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน ออกไป และส่วนมากแล้วจะใช้ SSD ในการเก็บข้อมูลของ ระบบปฏิบัติการ หรือ OS (Operating System) อย่าง Windows และโปรแกรมต่างๆ ภายในเครื่อง ในขณะที่ไฟล์ข้อมูลเอกสารในรูปแบบอื่นๆ จะจัดเก็บอยู่ใน HDD แทน
ความต่างระหว่าง RAM และ Harddisk
RAM HDD / SSD หน่วยความจำภายใน หรือ อุปกรณ์เก็บข้อมูลหลัก
(Primary Storage) หน่วยความจำภายนอก หรือ อุปกรณ์เก็บข้อมูลรอง
(Secondary Storage) เก็บข้อมูลได้ชั่วคราวจนกว่าจะปิดโปรแกรม/เครื่อง
(Volatile Memory) เก็บข้อมูลไว้ได้จนกว่าจะลบทิ้ง
(Non-Volatile Memory) อ่านและเขียนข้อมูลได้เร็วกว่า อ่านและเขียนข้อมูลได้ช้ากว่า มีผลต่อความเร็วของคอมพิวเตอร์ ไม่มีผลต่อความเร็วของคอมพิวเตอร์
สรุปแล้วควรเพิ่ม RAM หรือ Harddisk ?
สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคอมพิวเตอร์นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานของผู้ใช้ หากต้องการเพิ่มความจุของข้อมูลภายในคอมพิวเตอร์นั้นก็แนะนำให้ เลือกซื้อ SSD น่าจะดีกว่า เพราะ SSD นั้นมีความเร็วของการอ่าน/เขียนข้อมูลที่มากกว่า HDD อยู่มาก ทำให้การถ่ายโอนข้อมูลมาสำรองไว้ใน Virtual Memory หรือหน่วยความจำเสมือนของคอมพิวเตอร์นั้นมีความรวดเร็วกว่าและช่วยประหยัดเวลาในดึงข้อมูลมาสำรองไว้ได้มากกว่าการใช้ HDD
แต่หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ให้สามารถรองรับการทำงานเฉพาะทางอย่างการตัดต่อวิดีโอ/ภาพที่มีความละเอียดสูง การเรนเดอร์ไฟล์ 3D หรือการคำนวณข้อมูลสเกลใหญ่ๆ และการเรียกใช้ข้อมูลจำนวนมากในเวลาเดียวกันก็ควรเลือกอัปเกรด RAM ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การอัปเกรดคอมพิวเตอร์ก็ควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับสเปคของ CPU หรือจำนวช่องเสียบ (Slot) ของ RAM บนเมนบอร์ด และปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะถ้าหากเลือกซื้อ RAM และ HDD หรือ SSD ที่สเปกแรงขึ้นจากเดิมแต่ไม่ได้ตรวจเช็คในส่วนนี้ก่อนก็อาจเสียเงินเปล่าเพราะไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้ หรืออาจดึงประสิทธิภาพโดยรวมของคอมพิวเตอร์ให้ลดต่ำลงกว่าเดิมได้เช่นกัน
ภาพจาก : https://www.crucial.fr/articles/about-memory/how-to-upgrade-desktop-memory
ความเห็น 2
ภมร พงษ์รเณศ
เป็นการทบทวนความรู้..ที่ทบทวนได้อย่างละเอียดเข้าใจง่าย ขอขอบคุณผู้เขียน...
15 พ.ค. 2563 เวลา 23.51 น.
ณัฐพงศ์ (เอ็ม) 4116
เข้าใจเลย ครับ ขอบคุณครับ
15 พ.ค. 2563 เวลา 11.42 น.
ดูทั้งหมด