"วันจักรี" ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี โดยในวันนี้เมื่อปี 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษก ขี้นเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ถือเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี
ในวันที่ 6 เมษายน 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยังทรงสถาปนา "กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์" เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แทนที่กรุงธนบุรี เพราะเมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น มีอาณาบริเวณรวมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นเมืองหลวงที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงใหม่เป็น "กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์" ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2325 มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม
ในปี 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มา รวมถึง พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง
และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่มีการย้ายสถานที่ในการประดิษฐานหลายครั้ง เช่น พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายพระบรมรูปมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระบรมชนกนาถ
จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า"วันจักรี"
ราชวงศ์จักรี
เป็นราชวงศ์ที่ปกครองไทย ต่อจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ทองด้วง ทรงสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงสถาปนาราชวงศ์โดยการปราบดาภิเษกเมื่อปี 2325
ชื่อของราชวงศ์จักรีมีที่มาจากบรรดาศักดิ์ของ เจ้าพระยาจักรีองครักษ์ ขณะนั้นดำรงตำแแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อนในสมัยกรุงธนบุรี
คำว่า จักรี พ้องเสียงกับคำว่า จักร และ ตรี ที่เป็นเทพอาวุธของพระวิษณุ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีไว้ 1 สำรับ อีกทั้งกำหนดให้ใช้เทพอาวุธนี้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เครื่องราชกกุธภัณฑ์
กกุธภัณฑ์ หรือ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามรูปศัพท์แปลว่า เครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตรฺย์ กกุธภัณฑ์ เป็นคำภาษาบาลี มาจาก กกุธ แปลว่า เครื่องหมายความเป็นพระราชา + ภณฺฑ แปลว่า ของใช้ ระบุไว้ในอภิธานัปปทีปิกา คาถา ที่ ๓๕๘ ว่า พระขรรค์ ฉัตร อุณหิส ฉลองพระบาท วาลวีชนี คือ มีฉัตรแทนธารพระกร กกุธภัณฑ์มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เครื่องราชกกุธภัณฑ์ประกอบด้วย
- พระมหาเศวตฉัตร หรือพระนพปฏลมหาเศวตฉัตร
- พระมหาพิชัยมงกุฏ
- พระแสงขรรค์ชัยศรี
- ธารพระกร
- วาลวีชนี (พัดกับแส้จามรี)
- ฉลองพระบาท
พระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรี
"จะกล่าวถึงเจ้านาย จำพวกซึ่งเป็นปฐมเป็นต้นแซ่ต้นสกุลเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์แลเจ้าราชินิกุล ที่เรียกนามว่า คุณ ว่า หม่อม มีบรรดาศักดิ์เนื่องในพระบรมราชวงศ์นี้ ซึ่งบัดนี้เป็นจำพวกต่าง ๆ อยู่ จะให้รู้แจ้งว่า เนื่องมาแต่ท่านผู้ใด พระองค์ใด เป็นเดิมแต่แรกตั้งกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยานี้มา พึงรู้โดยสังเขปว่าบุรุษนารีมีบรรดาศักดิ์ ซึ่งเรียกว่าเป็นจำพวกเจ้า คือเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ทั้งปวงนั้น ล้วนปฏิพัทธ์พัวพันสืบต่อลงมาแต่องค์สมเด็จพระมหาไปยกาธิบดี คือ องค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระเจ้าหลวง ของพระบาทสมเด็จพระปรโมรุถชามหาจักรีบรมนาถ ซึ่งปรากฏพระนามในบัดนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นปฐมบรมอัครมหาราชาธิราชใ นพระบรมมหาราชวัง"
จึงนับได้ว่า สมเด็จพระมหาไปยกาธิบดี หรือ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เป็นพระมหาชนกพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้งเป็นเจ้านายแห่งราชวงศ์จักรีพระองค์แรกอย่างแท้จริง มีพระมหาสังข์ เดิมเป็นพระมหาสังข์ที่ใช้บรรจุพระบรมอัฐของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 ปุัจจุบันใช้รดน้ำในพระราชพิธีมงคลให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น
พระมหากษัตริย์ไทยแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์
- รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชาจักรีบรมนาถฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (2325-2352 ครองราชย์ 27 พรรษา พระชนมายุ 74 พรรษา )
- รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระปรมพงษเชษฐ์มเหศวรสุนทรฯ พระพุทธเลิศหล้านนภาลัย ( 2352-2367 ครองราชย์ 15 พรรษา พระชนมายุ 58 พรรษา)
- รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสษฐ์มหาเจษฎาบดินทร์ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 26 ปี 2367-2394 พระชนมายุ 64 พรรษา )
- รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 16 ปี 2394-2411 พระชมมายุ 66 พรรษา )
- รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 42 ปี 2411-2453 พระชนมายุ 58 พรรษา )
- รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 16 ปี 2453-2468 พระชนมายุ 46 พรรษา )
- รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก ฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 9 ปี 2468-2477 พระชนมายุ 48 พรรษา)
- รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ฯ พระอัฐมรามาธิบดินทร์ (ครองราชย์ 12 ปี 2477- 2489 พระชนมายุ 21 พรรษา)
- รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ครองราชย์ 70 ปี 2489 - 2559 พระชนมายุ 88 พรรษา)
- รัชกาลที่ 10 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน )
กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันจักรี
เนื่องในวันจักรี 6 เมษายนของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ไปเป็นประธาน ในพิธีทางศาสนาประกอบการบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถ และจะทรงสักการะพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ณ ปราสาทเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ต่อจากนั้นจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ชานชาลา เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า
ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นิสิต นักศึกษา หน่วยงานรัฐบาลและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปจากทุกสาขาอาชีพ ต่างพร้อมใจกันเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลให้กับพระมหากษัตริย์ ผู้ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความสงบสุขของอาณาประชาราษฎรอย่างแท้จริง
นอกจากนั้น ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีของทุกปี รัฐบาลยังได้ประกาศเป็นวันหยุดราชการ แต่หากในปีใด ที่วันจักรีตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการวันต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
'กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ' เจ้าฟ้านักพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
'วันปิยมหาราช' 23 ตุลาคม รำลึกพระมหากษัตริย์ พระผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน
24 กันยายน 'วันมหิดล' น้อมรำลึก 'พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน'
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X:https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube:https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg