โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"เก่งเต็มเมือง แต่คิดไม่เป็น" วิกฤตเด็กปฐมวัย ความสิ้นหวังการศึกษาไทย!

Manager Online

อัพเดต 21 ก.ย 2560 เวลา 16.01 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2560 เวลา 12.54 น. • MGR Online

"ลูกต้องมีอนาคตที่ไกลสดใส (กว่าพ่อแม่), ลูกเป็นหน้าตาของพ่อแม่, ลูกฉันเก่งไร้เทียมทาน, ใช้วัตถุทดแทนเวลาที่หายไป" เป็นค่านิยมอันตรายที่ "จินตนา ธรรมวานิช" นายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ ได้เปิดเผยจากเอกสารงานวิจัยในงานแถลงข่าว "วิกฤตปฐมวัย กระทบอนาคตชาติ" เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งความน่ากลัวของ 4 ค่านิยมเหล่านี้จะส่งผลกระทบถึงการพัฒนาวินัยของเด็กในระยะยาว

สอดรับกับ "ดร.สายสุรี จุติกุล" รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ที่ขยายความให้เห็นภาพชัดเจน โดยโฟกัสไปที่ปัญหาใหญ่ นั่นก็คือ เด็กไทยถูกเร่งเรียน ซึ่งปัจจุบันพบว่า เด็กไทยถูกเน้นแต่การพัฒนาไอคิว ไม่ได้รับโอกาสให้ออกสำรวจ เรียนรู้ และลงมือทำ ไม่แปลกที่เด็กหลายๆ คนจะขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ขาดการเรียนรู้ และทักษะชีวิต กลายเป็นเด็กที่ไม่มีวินัย เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าห่วง และต้องเร่งพัฒนาเด็กในทางที่ถูก

น่าสลดใจ! "เก่งเต็มเมือง แต่คิดไม่เป็น"

อย่างไรก็ดี ในงานแถลงข่าวยังเปิดเวทีเสวนา "ก้าวข้ามวิกฤตปฐมวัย สู่ไทยแลนด์ 4.0" โดยมีคุณหมอ และนักวิชาการชื่อดังมาร่วมถกประเด็น แลกเปลี่ยนมุมมองไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มจาก รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันเด็กแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงความน่าเป็นห่วงในประเด็นที่เด็กถูกเร่งให้อ่านออกเขียนได้

"ผมเคยแวะเวียนไปดูการสอนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งแถวจ.นครปฐม ตัวอย่างของคำที่ให้เด็กอนุบาลอ่าน ซึ่งผมตกใจมากคือคำว่า 'กะหล่ำปลี' นี่คือส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ระบบกำลังจะมีปัญหา ดังนั้นลดความคาดหวังให้เด็กเป็นคนเก่ง และเลิกเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น เพราะมันสร้างความบาดเจ็บให้แก่เด็ก"

นี่คือสิ่งที่ ผอ.สถาบันเด็กแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวบอก และสะท้อนให้เห็นว่า การที่เด็กจำนวนหนึ่งถูกบังคับให้ท่องตำรา มุ่งเน้นให้จริงจังกับการสอบตั้งแต่เด็ก หรือทำสิ่งต่างๆ เกินวัยด้วยความคาดหวังว่าจะต้องเป็นเด็กเก่งทั้งที่จริงการเป็นคนเก่งอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขได้ แต่กลับสร้างภาวะเครียดในสมองเด็ก ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ปลูกฝังนิสัยชอบการแข่งขัน เอาชนะไม่รู้ตัว ซึ่งมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ผิดหวังกับการสอนจนหมดความเชื่อมั่นในตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก

วิกฤตต่อมาคือ เด็กเอาแต่ใจ เป็นจักรพรรดิน้อยจากการเลี้ยงดูแบบเอาใจมากเกินไป เรื่องนี้ รศ.นพ.สุริยเดว ให้แง่คิดว่า "เลี้ยงลูกอย่าขาดความรัก แต่ถ้าเลี้ยงแบบสำลักความรักก็มีปัญหาได้" หรือ "เลี้ยงลูกอย่าให้ขาดสารอาหาร แต่อ้วนเอาแต่ใจก็มีปัญหาได้" ทางที่ดีต้องยึดหลักสายกลาง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉัน ได้ลูกที่สนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจผู้อื่น แถมยังยับยั้งจิตใจไม่เป็นอีกด้วย

มาฟังในมุมของ "พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร" หรือ "หมอโอ๋" กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 ใน 3 ผู้ก่อตั้ง และแอดมินเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ในฐานะคุณแม่ของลูก เธอมีเป้าหมายในการเลี้ยงลูกที่เน้นพึ่งตนเอง และไม่ยัดเยียดลูกเรียนหลายภาษา แต่ควรให้เป็นไปโดยธรรมชาติ

"ส่วนตัวรู้สึกสิ้นหวังกับระบบการศึกษาไทย (พูดติดตลก) ทุกวันนี้ก็ปล่อยให้นโยบายเป็นเรื่องของนโยบาย เราก็ต้องพึ่งตัวเอง และอยู่ในที่ที่เราเลือกได้ เรามีเงินพอที่จะเลือกโรงเรียนให้แก่ลูก เรามีปัจจัยเกื้อหนุนพอที่รู้ว่าอะไรดี และเหมาะกับลูก แต่หลายครอบครัวตกอยู่ในกระแสที่เลือกไม่ได้ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว มันเริ่มจากเราได้ค่ะ มีพื้นฐานแค่ไหนก็สร้างลูกจากพื้นฐานที่เรามี แม้จะออกไปโลดแล่นอยู่ในโรงเรียนที่มันมีวิกฤตบ้าง ไม่สวยงามบ้าง หมอเชื่อว่าด้วยศักยภาพที่พ่อแม่มี สร้างลูกให้ดีได้

สำหรับตัวหมอเอง เราอยากให้ลูกคิดเป็น นับถือตัวเองเป็น เพราะการเรียนเก่งไม่ใช่คำตอบ หมอเจอเด็กเกรด 4.00 หลายคนท้องตอนเรียน ถามถึงเหตุผลก็พบว่า ถ้าไม่มีอะไรกับแฟน เพื่อนจะไม่ให้เข้ากลุ่ม ตรงนี้มันคือภาพสะท้อนของเด็กที่เรียนดีแต่คิดไม่เป็น หรือเคยมีภาพของเด็กโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งเฮกันลั่นเพราะติดหมอกันยกห้อง ส่วนตัวเห็นแล้วเศร้าสลดมากค่ะ เพราะมันคือความล้มเหลวของการศึกษาขั้นสูง

ดังนั้น การเลี้ยงลูกให้คิดเป็น นับถือตัวเองเป็น หมอจะเลี้ยงลูกด้วยประสบการณ์ ประสบการณ์ในการรับผิดชอบชีวิตตัวเอง เช่น ทำงานบ้าน การเล่นกับลูก หรือการพาลูกออกไปหาประสบการณ์นอกบ้าน พาไปท่องเที่ยว ท่องโลก ส่วนภาษาก็สำคัญ แต่ก็ไม่ได้ยัดเยียดลูกเรียนหลายภาษา สิ่งที่ทำคือพูดกับลูก เล่านิทานให้ลูกฟัง ไม่เน้นจดจำศัพท์แบบเอาเป็นเอาตาย"

ปิดท้ายกับวิกฤต "ลูกติดเทคโนโลยี" แม้ "หมอโอ๋" เข้าใจดีกับโลกที่ลูกอยู่ และไม่ได้ห้ามลูกแตะแท็ปเล็ต (แต่ต้องกำจัดเวลาอย่างเหมาะสม) แต่ในความเห็นของ ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร ผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาเด็กปฐมวัย 101 Educare Centre ก็เสริมว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังในเรื่องนี้ด้วย เพราะเด็กบางคนยังไม่ถึงวัยที่ควรจะเล่น เพราะยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ รวมถึงตัวคุณพ่อคุณแม่เองอาจไม่มีวิธีจัดการกับลูกอย่างเหมาะสม ทางที่ดีควรใช้เมื่อถึงวัยที่ลูกสามารถควบคุมตัวเองได้ดี

เจาะลึก "4 ค่านิยมร้าย" ทำลายลูก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนาวินัยของเด็กในระยะยาว ดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับ "ค่านิยม" ของพ่อแม่ และนี่คือ "ค่านิยมร้าย" ที่นายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ" อยากให้พ่อแม่ตระหนัก และแก้ก่อนจะสายเกินไป

1. ค่านิยม "ลูกต้องมีอนาคตที่ไกล สดใส (กว่าพ่อแม่)" พ่อแม่ผลักดันเด็กด้วยความคาดหวังให้ลูกเป็นคนเก่งฉลาดกว่าคนอื่นซึ่งอาจทำให้เด็กเติบโตเป็นคนเก่งฉลาดแต่ไร้วินัยค่านิยมนี้ส่งผลให้พ่อแม่เร่งเด็กทางด้านวิชาการไม่ส่งเสริมในเรื่องอื่นๆ ทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาการมีวินัยรวมทั้งทักษะที่สำคัญอื่นเช่นความคิดสร้างสรรค์ทักษะทางอารมณ์ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมเมื่อเด็กเติบโตขึ้น

2. ค่านิยม "ลูกเป็นหน้าตาของพ่อแม่" ยุคนี้ความสำเร็จของลูกกลับเป็นทั้งความภาคภูมิใจและความเป็นหน้าตาทางสังคมของพ่อแม่จึงมักควบคุมขีดเส้นทางให้ลูกเดินมีการตีกรอบและข้อตกลงที่เคร่งครัดเมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตนเองหวาดระแวงมีความเครียดและวิตกกังวลมีภาวะซึมเศร้าไม่รู้จักการแก้ไขปัญหารวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะออกนอกลู่นอกทางถ้ามีโอกาส

3. ค่านิยม "ลูกฉันเก่งไร้เทียมทาน" ปัจจุบันนี้แต่ละครอบครัวมีลูกน้อยลงและมีลูกยากพ่อแม่จึงรักและให้ความสำคัญกับลูกมากทำให้เกิดเป็นค่านิยมของการหลงลูกลูกฉันดีกว่าเก่งกว่าพ่อแม่ทั้งผลักดันและชื่นชมในทุกสิ่งอย่างที่ลูกกระทำไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือไม่เด็กกลุ่มนี้เมื่อเติบโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่ขาดวินัยมีนิสัยปัดความรับผิดชอบไม่ยอมรับความผิดของตนเองและชอบโทษคนอื่น

4. ค่านิยม "วัตถุทดแทนเวลาที่หายไป" ความกดดันทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องช่วยกันทำงานเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัวพ่อแม่จึงมักชดเชยเวลาด้วยการตามใจลูกปรนเปรอลูกด้วยวัตถุ แต่ได้รับการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยและไม่ได้รับการส่งเสริมในเรื่องวินัยหรือทักษะต่างๆซึ่งเด็กจะกลายเป็นคนว้าเหว่ขาดความอบอุ่นขาดความเชื่อมั่นในตนเองมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมรวมทั้งอาจมีการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อเรียกร้องความสนใจเช่นติดยาเสพติดทะเลาะวิวาท

เห็นได้ว่า 4 ค่านิยมร้ายของพ่อแม่ ส่งผลกระทบต่อลูกอย่างคาดไม่ถึง และเมื่อพ่อแม่เร่งให้ลูกโตกว่าที่ควร ส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกที่ขัดต่อธรรมชาติและพัฒนาการโดยเฉพาะการเร่งรัดด้านสติปัญญา ความฉลาด ย่อมทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะพัฒนาทักษะสำคัญอื่นๆ ในช่วงเวลาทองที่สมองของเด็กจะเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัย (0-6 ขวบ) ทำให้เด็กมีปัญหาด้านพัฒนาการ พฤติกรรม และการเรียนรู้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิต ปัญหาครอบครัว และส่งผลต่อสังคมโดยรวม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0