โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

SMEs-การเกษตร

ผักกูด ผักพื้นบ้านเพื่อสุขภาพ ปลูกอย่างไร ให้ได้กิน ได้ขายสร้างอาชีพ 

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 14 ต.ค. 2564 เวลา 13.15 น. • เผยแพร่ 14 ต.ค. 2564 เวลา 13.14 น.
850

ผักกูด ผักพื้นบ้านเพื่อสุขภาพ ปลูกอย่างไร ให้ได้กิน ได้ขายสร้างอาชีพ 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ประสบผลสำเร็จในการศึกษาระบบการปลูกผักกูดเป็นการค้า การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อการให้ผลผลิต และส่งเสริมการปลูกผักกูดในระบบปลอดสารพิษแก่เกษตรกร เพื่อให้ผักกูดเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการผลิตพืชผักพื้นบ้านเพื่อสุขภาพ

และเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวในวงกว้าง จึงได้นำความเชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้ผ่านการอบรมออนไลน์หลักสูตร โดยมี นายวิเซ็น ดวงสา เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ สถานีวิจัยลำตะคอง และ คุณอาคม ทัศนะนาคะจิตต์ พันธมิตรเครือข่ายเกษตรกร และเป็นเจ้าของสวนผักกูดปากช่อง

ซึ่ง วว. ให้การสนับสนุนด้านวิชาการตั้งแต่เริ่มต้นกิจการจวบปัจจุบัน สามารถปลูกผักกูดเป็นอาชีพหลักบนพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณวันละ 20-30 กก. และยังเป็นสวนผักกูดรายเดียวและรายแรกของจังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร จำหน่ายทั้งตลาดทั่วไปและร้านค้าพืชผักปลอดสารพิษ

สร้างรายได้เฉลี่ยวันละ 1,200-1,800 บาท ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ วว. เข้าไปช่วยแก้ปัญหาและสร้างโอกาสให้สังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มีเนื้อหาการอบรมโดยสรุป ดังนี้

การปลูก ผักกูดเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแสงแดดรำไรและมีความชื้นสูง หากเราจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ก็สามารถปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย คือ สภาพแปลงปลูกแสงแดดต้องไม่จัดเกินไป และมีแหล่งน้ำตลอดฤดูกาลเพาะปลูก

รูปแบบการปลูก ผักกูด ทำได้ 2 วิธี คือ

1. การปลูกภายใต้ร่มเงาตาข่ายพรางแสงหรือซาแลน ควรเลือกซาแลนที่พรางแสงได้ตั้งแต่ 60-80 เปอร์เซ็นต์ หากต่ำกว่านี้จะทำให้การเจริญเติบโตและผลผลิตไม่ดี หรืออาจเกิดใบไหม้และใบเหลืองได้ในช่วงที่แสงแดดร้อนจัด แต่ถ้ามีการพรางแสงมากเกินไปจะทำให้ต้นผักกูดยืดยาวและหักล้มได้ง่าย

2. การปลูกร่วมกับพืชอื่นๆ พืชที่จะปลูกร่วมกับผักกูดควรเป็นพืชที่ชอบน้ำ และการให้น้ำไม่มีผลกระทบต่อการออกดอกและการติดผล เช่น การปลูกร่วมกับแปลงกล้วย ปลูกร่วมกับไม้ผลยืนต้น เป็นต้น

วิธีการปลูก

หากมีแปลงไม้ยืนต้นอยู่แล้ว สามารถปลูกผักกูดภายในร่องแปลงได้เลย แต่ถ้าเป็นพื้นที่โล่งว่างเปล่าต้องเตรียมแปลงเพื่อปลูกไม้ให้ร่มเงาก่อน เช่น หากปลูกร่วมกับกล้วย หลังปลูกกล้วยแล้วประมาณ 5-6 เดือน จนมีร่มเงาจึงสามารถปลูกผักกูดได้ โดยนำต้นพันธุ์มาปลูกลงแปลงโดยตรงก็ได้ หรือเพาะชำเป็นต้นกล้าก่อน โดยเพาะชำในถุงดำประมาณ 2 เดือน จะได้ต้นกล้าผักกูดที่พร้อมปลูกลงแปลง

ในการปลูกเริ่มต้นด้วยการเตรียมหลุมปลูกขนาด กว้างxยาวxลึก ประมาณ 30x30x30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ 0.5-1 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากันกับดิน แล้วจึงนำต้นกล้าลงปลูก ระยะปลูกที่ใช้ระหว่างแถวและระหว่างต้น 50×50 เซนติเมตร

การดูแลรักษา

  • การให้น้ำ ช่วง 1-2 เดือนแรกของการปลูก ผักกูดต้องการความชื้นในการตั้งตัว จึงต้องมีการให้น้ำวันละ 1 ครั้ง หลังจากต้นตั้งตัวได้แล้วจึงให้น้ำ 2-3 วัน/ครั้ง อย่างไรก็ตาม การให้น้ำแก่ผักกูดต้องพิจารณาสภาพอากาศร่วมด้วย ถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนต้องมีการให้น้ำถี่ขึ้น แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนก็จะให้ห่างขึ้น
  • การใส่ปุ๋ย เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยใส่ประมาณ 1-2 กิโลกรัม/ต้น ใส่ทุกๆ 3 เดือน/ครั้ง ร่วมกับการพ่นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำ 1-2 ครั้ง/เดือน
  • การป้องกันกำจัดโรคและแมลง เนื่องจากผักกูดไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน การปลูกจึงไม่มีการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลง เหมาะอย่างยิ่งในการผลิตเป็นพืชผักปลอดสารพิษ
  • การเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังปลูกผักกูดประมาณ 6-8 เดือน จึงจะเริ่มเก็บผลผลิตได้ โดยเก็บส่วนยอดความยาว 25-30 เซนติเมตร จำนวน 3 วันต่อครั้ง เพื่อให้ต้นผักกูดมีการเจริญเติบโตของยอดได้ระยะที่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยว ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยประมาณ 300 กิโลกรัม/ไร่/เดือน ราคาจำหน่ายผลผลิตขายส่งประมาณ 40-60 บาท/กิโลกรัม หากขายปลีกอาจมัดเป็นกำประมาณ 15-20 ยอด/กำ จำหน่ายราคา 10 บาท/กำ

การใช้ประโยชน์ ผักกูดเป็นผักพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางด้านอาหารไม่ด้อยไปกว่าผักชนิดอื่นๆ ที่เรารู้จักกัน คุณค่าทางด้านโภชนาการของผักกูดใน 100 กรัม ประกอบด้วย ให้พลังงานต่อร่างกาย 19 กิโลแคลอรี มีส่วนประกอบของเส้นใย 1.2 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม แคลเซียม 22 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 115 มิลลิกรัม เหล็ก 36.3 มิลลิกรัม วิตามินเอ 17,167 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.36 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.08 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.5 มิลลิกรัม วิตามินซี 16 มิลลิกรัม

ดังนั้น การรับประทานผักกูด จะช่วยบำบัดรักษาโรคโลหิตจางและบำรุงเลือดได้เป็นอย่างดี ในตำราแพทย์แผนไทยใช้ใบของผักกูดช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ได้ เช่น ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน บำรุงสายตา บำรุงโลหิต ขับปัสสาวะ และลดความดันโลหิต

“ปลูกผักกูดอย่างไร ให้ได้กิน ได้ขาย” ซึ่ง สถานีวิจัยลำตะคอง วว. ได้ถ่ายทอดความรู้นั้น จะช่วยตอบโจทย์ แก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ อย่างเป็นรูปธรรมอีกวาระหนึ่งจากการดำเนินงานของ วว. ในฐานะเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ ที่มุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน ผลักดันให้เกิดการนําไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา โทร. 044-390-107, คุณวิเซ็น โทร. 086-866-3189 และ Facebook fanpage : สถานีวิจัยลำตะคอง

เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ.2564

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 2

  • Lec
    ยำ ลวก ต้ม แกง ผัด. อร่อยทุกเมนู
    15 ต.ค. 2564 เวลา 12.22 น.
  • นริศพงษ์
    เป็นผักที่กินอร่อยจริง กรุบกรอบดั
    10 ต.ค. 2564 เวลา 22.29 น.
ดูทั้งหมด