ปลาคู้ดำ หรือ ปลาเปคูดำ (Blackfin pacu, Black pacu) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์Serrasalmidae มีรูปร่างทั่วไปคล้ายปลาปิรันยาที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน แต่มีความต่างตรงที่ปลาคู้ดำจะมีส่วนเว้าของหน้าผากเว้าเข้ามากกว่า โคนหางจะคอดเล็ก ฟันภายในปากมีสภาพเป็นหน้าตัดคล้ายฟันมนุษย์ซึ่งไม่แหลมคม และมีไว้เพื่อขบกินผลไม้และเมล็ดพืชเปลือกแข็งที่หล่นลงมาในน้ำ
ปลาคู้ดำ เมื่อวัยเด็กจะมีลำตัวและปลายหางจะมีสีเงินปนดำ และจะมีสีดำสนิทชัดเจนขึ้นเมื่อปลาอายุมากขึ้น ซึ่งปลาชนิดนี้สามารถโตเต็มที่ได้ถึง 1 เมตร หนักได้กว่า 40 กิโลกรัม และจัดเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในลุ่มแม่น้ำอเมซอนและแม่น้ำโอริโนโคซึ่งเป็นแม่น้ำสาขา และจัดเป็นโปรตีนราคาประหยัดของชนพื้นเมืองในแถบนั้น โดยมีชื่อเป็นภาษาพื้นเมืองเรียกว่า Tambaqui หรือ Cachama หรือ Gamitana
ด้วยความเป็นปลาที่นิยมนำมาบริโภคกันมากในท้องถิ่น และสามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู ทำให้ประเทศไทยได้มีการนำเข้าปลาคู้ดำได้เข้ามาในฐานะเป็นปลาเศรษฐกิจ โดยกรมประมงส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง โดยมีชื่อเรียกกันในแวดวงเกษตรว่า “ปลาจะละเม็ดน้ำจืด” เช่นเดียวกับ ปลาคู้แดง (Piaractus brachypomus) ด้วยที่ถูกนำเข้ามาก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย เนื่องจากมีขนาดใหญ่โตอลังการ และสามารถฝึกให้เชื่องได้ไม่ยาก แต่ก็ด้วยขนาดของมันนี่เองที่ทำให้ผู้เลี้ยงบางคนไม่สามารถเลี้ยงต่อได้ จึงนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ทำให้ในปัจจุบัน มีปลาคู้ดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ เป็นต้น จัดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในจำพวกชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากพฤติกรรมการชอบไล่จับปลาที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร
ความเห็น 0