โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดต้นกำเนิด ราชินีองุ่น "ไชน์มัสแคท" มาจากไหน ?

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 27 ต.ค. เวลา 09.35 น. • เผยแพร่ 25 ต.ค. เวลา 11.24 น.
shinemuscat-web

ที่มาของราชินีองุ่น “ไชน์มัสแคต” ต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยลักษณะโดดเด่น และความนิยม นำไปสู่การบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงไทย จึงมีการนำเข้าองุ่นชนิดนี้จากทั้งญี่ปุ่นและจีน ทั้งนี้จากรายงานการตรวจพบสารตกค้างนี้อาจเป็นเหตุให้ความต้องการบริโภคของคนไทยลดลง

จากการสุ่มตรวจสารเคมีเกษตรในองุ่นไชน์มัสแคต 24 ตัวอย่าง ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล พบสารเคมีเกษตรตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคตที่นำเข้าจากประเทศจีนกว่า 9 ตัวอย่างจากทั้งหมด 24 ตัวอย่าง โดยประเทศจีนเป็น 1 ใน 2 ของประเทศที่ไทยนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคต และเนื่องจากราคาที่ถูกกว่าประเทศญี่ปุ่นทำให้คนไทยนิยมบริโภคองุ่นจากจีนมากขึ้น

รายงานข้างต้นได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ที่ชื่นชอบบริโภคองุ่นชนิดนี้เป็นอย่างมาก “ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนดูที่มาขององุ่นไชน์มัสแคต ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงสาเหตุที่ทำให้องุ่นชนิดนี้ถูกนำเข้าจากจีนมาในประเทศไทย

ต้นตำรับจากญี่ปุ่น

องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคต (Shine Muscat) องุ่นสายพันธุ์ต้นกำเนิดจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก่อนจะถูกญี่ปุ่นนำไปปรับปรุงพันธุ์โดยผสมระหว่างองุ่นพันธุ์ Akitsu-21 และ Hakunan ที่สถาบันวิจัยองุ่นและพลับอะกิซึ จังหวัดฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะขึ้นทะเบียนและจำหน่ายอย่างเป็นทางการในปี 2549

ด้วยคุณลักษณะอันโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นขนาดที่ใหญ่ เนื้อสัมผัสกรอบ รสชาติหวาน และกลิ่นหอมเฉพาะตัว ทำให้องุ่นไชน์มัสแคตได้รับความนิยมจนถูกยกให้เป็นราชินีองุ่น และนำไปปลูกในหลายประเทศมากขึ้น ทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป

องุ่นชนิดนี้เริ่มเข้ามาในไทยช่วงปี 2553 ผ่านผู้นำเข้าผลไม้พรีเมี่ยม ช่วงแรกจะพบได้ในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือตลาดผลไม้ราคาสูงเท่านั้น ทำให้ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีราคาสูง

แต่ด้วยคุณภาพและรสชาติที่โดดเด่น ประกอบกับความนิยมของสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้องุ่นไชน์มัสแคตได้รับความสนใจมากขึ้นจนเพิ่มปริมาณการนำเข้ามากขึ้น ตามมาด้วยความนิยมที่กว้างขวางในประเทศไทยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นผลให้ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถพบองุ่นไชน์มัสแคตได้ในหลายแห่ง ตั้งแต่ตลาดผลไม้พรีเมี่ยมมาจนถึงตลาดผลไม้ทั่วไป

นำเข้าจากจีน

การมาขององุ่นไชน์มัสแคตจากจีนนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่องุ่นจากญี่ปุ่นได้รับความนิยม ด้วยเหตุผลที่จีน สามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการปลูกให้สามารถปลูกได้ทั่วประเทศ เป็นผลให้องุ่นชนิดนี้ล้นตลาดจนต้องส่งออกนอกประเทศมากขึ้น

ย้อนไปในปี 2549 องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคตถูกนำเข้าไปในจีนครั้งแรก และเริ่มปลูกในภูมิภาคต่าง ๆ จนกระทั่งปี 2559 ที่มีการพัฒนาการเพาะปลูกขั้นสมบูรณ์ ทำให้องุ่นพันธุ์นี้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีจนสามารถปลูกได้ทั่วประเทศ ประจวบเหมาะกับได้รับความนิยมจากคนจีน ทำให้เกษตรแห่มาปลูกกันมากขึ้น โดยคาดหวังให้เพียงพอต่ออุปสงค์ของคนในประเทศ

ตามข้อมูลจากสถาบันวิจัยไม้ผลของจีน คาดว่าจีนจะมีพื้นที่ในการปลูกองุ่นทะลุ 1 ล้านเอเคอร์ตั้งแต่ปี 2565 แต่ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพการปลูก จึงส่งผลให้รสชาติขององุ่นไชน์มัสแคตในจีนนั้นแตกต่างกันมาก มีทั้งหวานอร่อยไปจนถึงจืดหรือเปรี้ยว เนื่องจากการปลูกองุ่นให้ได้คุณภาพดี จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการปลูกด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี

ความต้องการขยายผลผลิตมากเกินไปเพื่อหวังให้เพียงพอต่ออุปสงค์คนในประเทศนั้น เป็นผลให้องุ่นสูญเสียความหวานและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

ดังนั้น แม้จีนจะสามารถปลูกองุ่นพันธุ์นี้ได้ทั่วประเทศ แต่ด้วยความแตกต่างในสภาพแวดล้อม และการกำหนดมาตรฐานการปลูกที่แตกต่างจากประเทศญี่ปุ่นนั้น ก็จะทำให้คุณภาพผลผลิตที่ได้นั้นแตกต่างกัน

ข้อมูลราคาองุ่นจากยูนนาน ประเทศจีน ช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาล พบว่า มีราคาเพียง 50 หยวนหรือประมาณ 237.19 บาทเท่านั้น ลดลงจากปีที่แล้วที่มีราคาอยู่ที่ 110 หยวนหรือประมาณ 521.82 บาท สำหรับผลไม้ราคาสูง เป็นผลให้ราคาขายส่งลดลงด้วยเช่นเดียวกัน เป็นปัญหามาจากคุณภาพองุ่นที่ต่ำลง ทำให้ปริมาณความต้องการในประเทศลดลงไปด้วย

ทำให้ราคาองุ่นไชน์มัสแคตในไทยที่นำเข้าจากจีนมีราคาถูกกว่าราคานำเข้าจากญี่ปุ่น แม้ว่ารสชาติ รสสัมผัส และความหอมที่เป็นเอกลักษณ์นั้นจะเทียบไม่ได้กับประเทศต้นกำเนิด ซึ่งจากการตรวจสอบราคาองุ่นไชน์มัสแคตในเว็บไซต์ของตลาดไทพบว่า ตลอดปี 2567 ราคาองุ่นที่นำเข้าจากจีนมีราคาทรงตัวตลอดปีก่อนจะถูกลงในช่วงเดือนสิงหาคมมาจนถึงเดือนตุลาคม และมีราคาเพียง 260-340 บาทต่อตะกร้า

เฝ้าระวังองุ่นจีนมีสารตกค้าง

จากผลทดสอบสารเคมีเกษตรในองุ่นไชน์มัสแคตทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายงานพบว่า

  • ประเทศผู้ผลิตองุ่นไชน์มัสแคต 24 ตัวอย่างสามารถระบุได้ว่ามี 9 ตัวอย่างมาจากประเทศจีน
  • 8% ของตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคต หรือ 23 จาก 24 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด
  • พบสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด พบว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จำนวน 26 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย) จำนวน 2 ชนิด และเป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายมากถึง 22 ชนิด
  • จากสารพิษตกค้าง 50 ชนิด มีสารประเภทดูดซึม 37 ชนิด คิดเป็น 74% ของสารพิษตกค้าง โดยสารกลุ่มนี้มีโอกาสตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขององุ่น
  • องุ่นไชน์มัสแคตแต่ละตัวอย่างพบสารพิษตกค้างระหว่าง 7-18 ชนิด โดยจำนวน 23 จาก 24 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด 1-6 ชนิด

จึงกลายมาเป็นข้อเสนอต่อเอกชน ให้แสดงความรับผิดชอบ ดังนี้

  • หากยังมีองุ่นลอตดังกล่าวเหลืออยู่ควรจัดเก็บออกจากชั้นวาง หรือหากจำหน่ายองุ่นลอตดังกล่าวไปหมดแล้วควรแถลงมาตรการที่ชัดเจนกับซัพพลายเออร์และแหล่งผลิตที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน
  • ผู้ประกอบการนำเข้าและผู้จำหน่ายต้องระบุแหล่งที่มา/ประเทศต้นทางของสินค้านำเข้า เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เมื่อเกิดปัญหา

และข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข

1.กรณีอาหารนำเข้า เช่น องุ่นและสินค้าอื่นที่มีความเสี่ยงพบสารพิษตกค้างสูง ดำเนินการให้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎระเบียบและกฎหมายที่มีอยู่กำหนดผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายต้องติดฉลากแสดงที่มา/ประเทศต้นทาง และเพิ่มมาตรการในการรับประกันคุณภาพความปลอดภัย

2.สร้างระบบ Rapid Alert System ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์แบบนี้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นระบบที่เผยแพร่ผลการวิเคราะห์สารพิษตกค้างที่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการจากหน่วยงานภาคีทุกภาคส่วนอย่างเร่งด่วน และมีมาตรการในการจัดการปัญหาตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ประเทศต้นทาง ผู้นำเข้า ซัพพลายเออร์ ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้บริโภคแล้ว

3.พิจารณาแนวทางในการควบคุมหรือกำหนดมาตรฐานสารพิษตกค้างในอาหาร สำหรับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายของประเทศไทย

นอกจากนี้ อย.ยังมีแผนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการตรวจโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ทั่วประเทศ และเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ ส่งตรวจวิเคราะห์หาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง จำนวน 1,530 ตัวอย่าง เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

จากข้อมูลดังกล่าว รวมไปถึงการยกระดับการตรวจสอบผลไม้นำเข้าที่เข้มงวดขึ้นของ อย.นั้น อาจทำให้ราคาองุ่นไชน์มัสแคตนำเข้าจากจีนลดลงไปจากเดิม รวมถึงปริมาณการนำเข้าองุ่นจากประเทศจีนนั้นอาจลดน้อยลงอีกด้วย

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เปิดต้นกำเนิด ราชินีองุ่น “ไชน์มัสแคท” มาจากไหน ?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น