โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

แนวโน้ม กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

PPTV HD 36

อัพเดต 09 ส.ค. 2565 เวลา 04.34 น. • เผยแพร่ 09 ส.ค. 2565 เวลา 03.20 น.
แนวโน้ม กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%  แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง
คาด กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังสูง ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ในการประชุม กนง. ที่จะถึงนี้ คาดว่ากนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.75% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง จากตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือน ก.ค. 2565 อัตราเงินเฟ้อไทยวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น 7.61% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเพียงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

เงินบาทสัปดาห์นี้แนวโน้มอ่อน คาด 10 ส.ค.นี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

พรุ่งนี้น้ำมันกลุ่มเบนซินลง 60 สต.-1 บาท ดีเซลไม่เปลี่ยนแปลง

โดยมีปัจจัยผลักดันมาจากราคาพลังงานและอาหารที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งแม้ว่าดัชนีราคาหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ปรับลดลงมาตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแต่ก็ยังคงทรงตัวในระดับสูง

กนง. อาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.00-1.25 ณ สิ้นปี

ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งหักอาหารสดและพลังงานออกแล้วเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร่งขึ้นที่ 2.99% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่าการส่งผ่านต้นทุนจากไปยังผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและในวงกว้างขึ้น

แม้ว่าราคาน้ำมันจะย่อลงมาบ้างและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอลงเล็กน้อย แต่แรงกดดันจากเงินเฟ้อภายในประเทศมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ ดังนั้น กนง. มีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักต่อปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นสำคัญ เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบางอย่างผู้มีรายได้น้อย

เศรษฐกิจไทยแนวโน้มฟื้น ทยอยถอนคันเร่งทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องจากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวส่งผลให้ความจำเป็นในการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายนั้นลดลง เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานในประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ แม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะได้รับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อแต่ก็มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาเป็นปกติท่ามกลางความกังวลเกี่ยวการแพร่ระบาดของโควิดที่ลดลง ทำให้แรงส่งเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินการคลังจึงมีความจำเป็นลดลง ส่งผลให้กนง. มีแนวโน้มที่จะลดการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายลง

จับตาจะอยู่ที่ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า หากตัวเลขเงินเฟ้อยังเร่งตัวขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีจากการท่องเที่ยวคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้

ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยได้ ขณะที่ อุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลงอาจจะส่งผลต่อทิศทางเงินเฟ้อโลกอาจอ่อนแรงลงได้บ้าง นอกจากนี้ สหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยและการจ้างงานของชาวอเมริกันอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มที่จะย่อตัวลงในระยะข้างหน้า ส่งผลให้เฟดอาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับต่ำอยู่ และยังมีส่วนต่างกับดอกเบี้ยเฟดอยู่มาก ดังนั้น ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีหน้ายังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพภายนอกประเทศ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0