โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

สรุป ‘พิธา’ ถาม – ‘อาคม’ ตอบ 3 คำถาม ปมเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ ‘พลังงาน-อาหาร-ค่าเดินทาง’

TODAY

อัพเดต 30 มิ.ย. 2565 เวลา 11.28 น. • เผยแพร่ 30 มิ.ย. 2565 เวลา 10.06 น. • workpointTODAY
สรุป ‘พิธา’ ถาม – ‘อาคม’ ตอบ 3 คำถาม ปมเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ ‘พลังงาน-อาหาร-ค่าเดินทาง’

สรุป "พิธาถามอาคมตอบ" 3 คำถาม ปมเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ 'พลังงาน-อาหาร-ค่าเดินทาง' รมว.คลังรับข้อเสนอจำกัดการช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันเฉพาะกลุ่ม รับ สมช. ไม่เชี่ยวชาญเศรษฐกิจ แต่ที่ทำแผนความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร จะมีหน่วยงานอื่นร่วมมือด้วย

จากกรณีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เกี่ยวกับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ ทั้งเรื่องราคาพลังงาน ราคาอาหาร และค่าเดินทาง ซึ่งทางนายกรัฐมนตรี มอบให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังมาตอบ โดยทางนายอาคม ได้มอบต่อให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลังมาแทน แต่แล้วนายสันติได้ส่งหนังสือแจ้งต่อสภาว่าติดภารกิจไม่สามารถมาได้ ทำให้นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ติงอีกครั้ง เรื่องการมอบหมายบุคคลมาตอบกระทู้ของสภาฯ (อ่านข่าวนี้ : ‘พิธา’ โดนเท ไม่มีใครมาตอบกระทู้ปมวิกฤตเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ ‘สุชาติ’ ฝากนายกฯ อย่าสั่งเหมือนทหาร )

โดยวันนี้ (30 มิ.ย. 65) นายอาคม รมว.คลัง ได้มาตอบกระทู้ของนายพิธาเอง ซึ่งมีทั้งหมด 3 คำถามสรุปได้ดังนี้

คำถามที่ 1 : แผนสำรองของรัฐบาล กรณีวิกฤตพลังงานยืดเยื้อกว่านี้ คืออะไร ?

นายพิธา กล่าวว่า ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากที่สุด ก็คงไม่พ้นค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ล้วงไปในกระเป๋าก็หารายได้ไม่เจอ ราคาพลังงาน ราคาอาหาร ราคาค่าเดินทาง และรายได้ที่ลดลงเหมือนเป็นกำแพงสี่ด้านที่ค่อยๆ บีบความเป็นอยู่ของประชาชนลง โดยที่มีหนี้ครัวเรือนเหมือนเป็นหลังคาที่คอยกดเขาให้เขารู้สึกกดดัน บีบคั้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งถ้าดูจากภาพใหญ่เราอยู่ใน 'เศรษฐกิจฟุบเฟ้อ' ฟุบก็คือรายได้ เฟ้อก็คือรายจ่าย แม้ขณะนี้จะอยู่ในช่วงรอยต่อของเศรษฐกิจที่เริ่มมีการเปิดประเทศ แต่การฟื้นฟูของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน และถ้ามองไปข้างหน้ายังมี "มหาพายุวิกฤตเศรษฐกิจ" อีก 3 ลูก 1. ภูมิรัฐศาสตร์ ความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน 2. นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน 3. การต่อสู้เงินเฟ้อทั่วโลก

ซึ่งคำถามที่ 1 จากวิกฤตพลังงานที่ขึ้นกว่า 30 % ซึ่งมีท่าทางจะยืดเยื้อไปอีก 1 ปี จะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าไหร่ เพราะกรอบแนวทางแก้ปัญหาของนายกฯ ที่มี 3 แนวทาง คือ ยั่งยืน มีประสิทธิภาพและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ต้องใช้งบประมาณแก้ปัญหานี้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งคือ 1 ใน 6 ของงบประมาณแผ่นดินต่อประเทศทั้งปี แผนสำรองของรัฐบาลในกรณีที่ยืดเยื้อไปมากกว่านี้ จะคงมาตรการเช่นนี้ต่อไปหรือไม่อย่างไร

"…ปัจจุบันมีรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลอยู่ 7.5 ล้านคัน จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดราคาแบบดีขลุม โดยจะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณเพื่อความยั่งยืนได้ ขณะที่คนเปราะบางก็ไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซล จึงต้องถามถึงความชัดเจนในแนวทางการจัดการของนายกรัฐมนตรี และแผนสำรองในการจัดการวิกฤต หากเกิดวิกฤตพลังงานยาวนานต่อเนื่อง การลดราคาแบบตีขลุมจะมีความยั่งยืนหรือไม่" หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว

นายอาคม ตอบว่า เรื่องราคาน้ำมันแพงเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะไปกำหนดได้ว่า ในราคาน้ำมันดิบโลกนั้น จะขึ้นมากน้อยแค่ไหน จะลดลงเมื่อไหร่ ดังนั้นประเด็นของเรื่องที่จะคาดเดาว่าสถานการณ์สงครามในยูเครนรัสเซียนั้นจะยืดเยื้อหรือไม่ยืดเยื้อจะส่งผลในเรื่องของราคาน้ำมัน ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากน้อยแค่ไหน เราก็คาดเดาไม่ได้ แต่ในระยะสั้น ระยะปานกลาง ระยะยาวควรทำอะไร สำหรับแผนสำรองในขณะนี้ จะมี 2 เรื่องหลักๆ คือระยะสั้นจะทำอย่างไร และระยะยาวจะทำอย่างไร ระยะสั้นได้ดำเนินการมาตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือทางการคลัง โดยเฉพาะมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล แม้มีรถราคาแพงใช้ดีเซลอยู่บ้างแต่รถบรรทุกรถปิคอัพ ที่ต้นทุนการเดินทางค่าขนส่ง ซึ่งจะกระทบค่าครองชีพ มีการช่วยเหลือลดภาษี แม้ไม่เห็นราคาน้ำมันลด แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลมาก 10-11 บาท ซึ่งถ้าอุดหนุนไปตลอดไป จะเกินฐานะกองทุนที่จะรับได้ จึงยกระดับการตรึงราคา และราคาที่ยกระดับขึ้นมาก็ยังไม่สูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านยกเว้นประเทศส่งออก

ถ้าจะพยุงหรือตรึงราคานั้นก็ขึ้นอยู่กับที่ขีดความสามารถในการกู้ยืมเงินของกองทุนน้ำมันบวกกับเจรจาต่อรองโรงกลั่นน้ำมัน กระทรวงพลังงานดำเนินการอยู่จะก้าวหน้าใน 1-2 วันนี้ รวมทั้ง ก๊าซหุงต้ม และ NGV ก็ตรึงราคาอยู่ "ในอดีตในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจปกติ เราไม่ค่อยได้ปรับราคากันเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดภาวะช็อกขึ้นมาอย่างนี้ การที่จะปรับราคาก็เป็นเรื่อง ที่ยาก เพราะว่าเป็นเรื่องของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมมาจาก ในเรื่องของสถานการณ์โควิด" ส่วนระยะต่อไป คงจะเป็นมาตรการปรับเปลี่ยนพลังงานไม่พึ่งพาฟอสซิล ส่วนหนึ่งคือรถยนต์ EV และ พลังงานทดแทน ซึ่งแผนสำรอง มาตรการประหยัดพลังงาน เป็นเรื่องที่สำคัญ ขณะนี้เราอาจจะมีมาตรการจากรัฐบาลออกมาแต่ต้องเป็นมาตรการที่ต้องร่วมมือกัน

"บางทีในเรื่องของการที่จะประหยัดพลังงานนั้น อาจจะไปดูให้ถูกกลุ่มถูกก้อน เพราะว่าในช่วงที่เศรษฐกิจ ที่กำลังจะฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ เราก็ไม่อยากไปเตะเบรค บางส่วนก็จำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายไปบ้าง
แต่เรื่องจำกัดการช่วยเหลืออย่างมีกลุ่มเป้าหมายหรือพุ่งเป้าตรงนี้ก็เห็นด้วย ว่าเราอาจจะขีดเส้นครอบคลุมไปถึงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ" นายอาคม กล่าว

คำถามที่ 2 สมช. เคยมีประสบการณ์แก้ไขวิกฤติพลังงานและอาหารอย่างไร หลังตั้งให้จัดทำแผนความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร

นายพิธา กล่าวว่า ราคาอาหาร ดัชนีราคาอาหารโลกของ FAO สูงที่สุดในรอบ 60 ปี และในไทยข่าวร้ายประเทศ มีการขึ้นราคาภายในเดียว 279 รายการ ทั้งที่เราเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งสินค้าที่ปรับขึ้นราคาสูงเป็นเนื้อสัตว์ เมื่อเข้าไปดูพบว่าเป็นเรื่องอาหารสัตว์ขาดแคลน ซึ่งเป็นปัญหาจากภูมิรัฐศาสตร์ มีการบริโภคข้าวสาลีมากกว่าการผลิต ซึ่งผู้นำจากทั่วโลกต้องการไปที่ต้นตอแก้ปัญหา ญี่ปุ่นตั้งรัฐมนตรีความมั่นคงเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นคนที่เคยเรียนที่เดียวกันกับตน เคยอยู่กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม และเป็นส.ส. เป็นคนที่เหมาะสมที่จะแก้ไขปัญหา แต่ของไทย ใช้ สมช. หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ ใน สมช. ไม่มีกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการสมช. มีความเชี่ยวชาญเรื่องการแก้ปัญหาการก่อการร้าย กับงบประมาณของสมช. 200 ล้าน จึงถามว่า สมช.เคยมีประสบการณ์แก้ไขวิกฤตด้านพลังงานและอาหารได้อย่างไร

นายอาคม ตอบว่า การแก้ปัญหา ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง น้ำมัน อาหาร เป็น 2 หมวดที่สำคัญ อยู่ในตะกร้าของการใช้จ่ายของประชาชน แม้ สมช. จะเป็นหน่วยงานความมั่นคง แต่ความมั่นคงนั้นมีทั้งเรื่องของประเทศ ทหาร เศรษฐกิจ และสังคม ประเด็นเศรษฐกิจนั้น ถามว่ามีความเชี่ยวชาญไหม ก็อาจจะในประเด็นเศรษฐกิจก็อาจจะต้องอาศัยหน่วยงานต่างๆ มากกว่า ซึ่งในขณะนี้นั้น นายกฯ ได้มอบหมายให้สมช. จัดการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องมาตรการทั้งหมด ครอบคลุมพลังงาน อาหาร ระดับราคาสินค้าต่างๆ ประชุมไป 2 ครั้งแล้ว เข้าใจว่าจะมีข้อสรุปเพื่อเสนอนายกฯ ต่อไป

"สมช.คงจะเป็นหน่วยงานประสานงานได้ทุกหน่วยงาน และคงจะมีความร่วมมือจากทุกหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายอาคม กลับมาตอบหลังจากนายพิธาย้ำถามอีกครั้ง

คำถามที่ 3 การแก้ปัญหารถเมล์ขาดแคลนครบ 15 วันแล้วดำเนินการถึงไหน

นายพิธา ถามว่า ขณะนี้ครบ 15 วัน แล้วที่ขสมก. บอกจะแก้ปัญหาเรื่องรถเมล์ไม่เพียงพอ ค่าเดินทางเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นอันดับ 3 ของประชาชน จำนวนรถให้บริการของทั้งขสมก. และบขส. ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2565 จำนวนลดลงเรื่อยๆ ทำให้ในช่วงประชาชนต้องการบรรเทาความเดือดร้อนใช้ขนส่งมวลชน ตอนนี้เข้าใจว่าคนขับรถขาด 700 คนและจำนวนรถก็มีจำกัดทำให้การเดินทางไม่สะดวก แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ประหยัดพลังงาน ลดฝุ่น PM 2.5 ด้วย ยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว งบประมาณก็ดี แต่ขณะเดียวข่าวเมื่อเช้า "นายกฯ เบรก ขสมก. จ้างเหมารถเมล์ EVกังขายังไม่ผ่านสภาพัฒน์" ในขณะที่ประเทศอื่นส่งเสริมให้ใช้รถสาธารณะ

นายอาคม ตอบว่า ขสมก. กำลังเผชิญปัญหาต้นทุนน้ำมันเช่นกัน ตามที่ทราบจากกระทรวงคมนาคมมีการปรับราคา และมีความจำเป็นลดเที่ยววิ่งด้วย ซึ่งการลดเที่ยงวิ่งต้องให้อยู่ในมาตรฐานในการขนถ่ายได้อย่างเพียงพอ ส่วนเรื่องการจัดหารถ อยู่ในแผนปานกลางหรือระยะยาว จากเดิมที่มีโครงการเปลี่ยนรถมาเป็นรถ NGV แต่แล้วต่อมามีการเปลี่ยนโครงการจำเป็นต้องไปผ่านสภาพัฒน์ ซึ่งคงใช้เวลาอีกสักพอสมควร สภาพัฒน์จะดูได้อย่างไร อยู่ในแผนระยะกลางหรือระยะยาว โครงการอาจจะล่าช้าบ้าง จะไปติดตามต่อไป

ทั้งนี้ในช่วงท้าย นายพิธา ยังได้ชวนนายอาคม ไปพิสูจน์ปัญหาการเดินทางด้วยรถเมล์ "เดี๋ยวเย็นนี้ผมจะลองขึ้นรถเมล์จากสภากลับบ้านในฐานะที่เราเป็นผู้นำ ก็อยากจะใช้โอกาสนี้ในการชวนท่านรัฐมนตรีไปด้วยกันว่ารอนานแค่ไหนและค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร"

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0