ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับภาคเอกชน พัฒนาหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ เพื่อผลิตสัตวแพทย์ยุคใหม่ เตรียมก่อตั้งโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียว และโรงพยาบาลสัตว์ศรีสวางควัฒน ตั้งอยู่ใน “วิทยาเขตเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์พนารักษ์ ปากช่อง” บนพื้นที่กว่า 230 ไร่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายพัฒนาวิทยาเขตและการสัตวแพทย์ ลงนามผ่านระบบออนไลน์ ร่วมกับภาคเอกชนชั้นนำรวม 6 บริษัท
ประกอบด้วย บริษัท ทีอาร์เอฟ ฟีดมิลล์ จำกัด บริษัท กีซเซ่ จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภมรชัย ซัพพลาย บริษัท เกรนาเดส ไบโอเทค จำกัด บริษัท โอ สแควร์ ดิสทริบิวชั่น จำกัด และ บริษัท กรีน อินโนเวทีฟไบโอเทคโนโลยี จำกัด เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาสาขา “สัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์” แลกเปลี่ยนการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัย ด้านวิชาการ พัฒนาเป็น “โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียว” และ “โรงพยาบาลสัตว์ศรีสวางควัฒน” ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
จากพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้มีสุขภาพดี ด้วยเหตุนี้แผนงานและการพัฒนาโครงการอีกหลายอย่างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงมีเป้าหมายบูรณาการองค์ความรู้ใหม่และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ ทั้งในมิติของการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งการป้องกันโรคซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดอยู่เฉพาะในคนเท่านั้น ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตามหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health)
จึงก่อให้เกิดการพัฒนาโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียว และโรงพยาบาลสัตว์ศรีสวางควัฒน ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 230 ไร่ ณ บริเวณพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวิทยาเขตดังกล่าวว่า “วิทยาเขตเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์พนารักษ์ ปากช่อง” โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมอาหารและชีวภัณฑ์ การปศุสัตว์ ตลอดจนพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ มีทั้งหน่วยงานของภาครัฐ เอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา มีความสะดวกรวดเร็วด้านการคมนาคมเชื่อมต่อได้หลายภูมิภาคของประเทศอีกด้วย
โดยที่คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีแผนพัฒนาหลักสูตรเพื่อจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต (นานาชาติ) และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตอื่น ๆ ทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา ตลอดจนบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อดำเนินการภายใต้แนวคิดอุทยานวิทยาศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียว ในการผลิตและพัฒนาบุคลากร ตลอดจนงานวิชาการและงานวิจัยด้านการสัตวแพทย์และสัตววิทยาประยุกต์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
อนึ่งเพื่อให้มีแนวทางการร่วมดำเนินการที่ชัดเจน จึงนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับองค์กรภาคเอกชนโดยมีกรอบระยะเวลา 5 ปี ในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตร การวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งกลยุทธ์การจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับตลาดแรงงาน และยุทธศาสตร์ภาคธุรกิจ ร่วมมือกันบริการวิชาการที่สอดคล้องกับความต้องการของ ประชาชน สังคม และประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต”
ความเห็น 0