โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ธรรมlife EP75 | #โกรธเพื่อนพูดผิดหู ผิดไหม

สวนโมกข์

เผยแพร่ 16 มิ.ย. 2563 เวลา 17.00 น.

#โกรธเพื่อนพูดผิดหู ผิดไหม

ตอบโดย พระครูเมธังกร (ปณต คุณวฑฺโฒ) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม

เพื่อน เราย่อมมีกันทุกคน อาจต่างกันที่จำนวนมากหรือน้อย เพื่อนกินหรือเพื่อนร่วมทุกข์ เพื่อนที่คอยซัพพอร์ตเวลาเรามีปัญหา หรือแค่เพื่อนที่เราร่วมงานไปวันๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนแบบไหน สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ ระหว่างเพื่อนย่อมมีการพูดคุยเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และมีโอกาสที่เพื่อนจะพูดไม่เข้าหูเราบ้าง ในกรณีที่เกิดเรื่องอย่างนั้นจริงๆ เรามีสิทธิ์จะโกรธเพื่อนมั้ย นี่คือคำถามที่คุณผู้ชมสงสัยค่ะว่า ผิดหรือไม่ที่เขาจะโกรธเวลาที่เพื่อนพูดไม่เข้าหู ซึ่งพระอาจารย์เมตตาตอบให้เข้าใจได้แบบนี้ค่ะ

ปัญหาที่โยมว่ามานี้ มันมีหลายปัญหาซ้อนเนื่องกันอยู่ ปัญหาที่หนึ่งคือ เมื่อเขามาแสดงท่าทีอากัปกิริยาไม่ถูกใจเรา ใจเราก็หงุดหงิดขุ่นเคือง ปัญหาที่สองคือ เมื่อใจเราขุ่นเคือง เราจึงโต้ตอบแสดงอาการด้วยคำพูด หรือกิริยาอาการ สีหน้าแววตาที่ไม่พอใจออกไป ส่วนปัญหาที่สาม เมื่อเราทำอย่างนั้นไปแล้ว เรามานั่งนึกทีหลัง นึกขึ้นมาได้ก็รู้สึกเสียใจ รู้สึกไม่พอใจ โกรธเคืองตัวเอง อยากจะย้อนกลับไปแก้ไขอดีต สามปัญหานี้ ทั้งหมดแก้ได้ด้วยเรื่องเดียวคือ มีสติ

มีสติอย่างไร อันที่หนึ่งถ้าเราเห็นอาการที่ไม่พอใจ ได้ยินคำพูดที่ไม่พอใจ เมื่อเรามีสติ เราก็จะใช้ปัญญาพิจารณาว่า ถ้าเราโกรธเคืองไปแล้ว ผลดีผลเสียเป็นอย่างไร เมื่อเราเห็นผลดีผลเสียอย่างนี้ เข้าใจความจริงอย่างนี้ เราก็ชั่งใจว่า ถ้าอย่างนั้นเราควรจะโกรธเขาไหม นี่คือการทำงานของจิตใจที่จะต้องเกิดขึ้นในขณะที่กระทบกับสิ่งที่เข้ามา ทางหูทางตาของเรา สภาวะอย่างนี้เรียกว่า การมีสติ เมื่อมีสติ เราก็จะใช้ปัญญาพิจารณาเหตุการณ์ตรงนั้นได้ ปัญหาที่สองก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราโกรธเคือง แม้จะโกรธเคืองขึ้นแล้ว ไม่รู้เท่าทันในขณะที่โกรธเคือง แต่พอโกรธแล้วมีสติขึ้นมาทัน เราก็จะยับยั้งชั่งใจได้ว่า โกรธก็จริงในใจ แต่ไม่พูดออกไปดีกว่า เพราะมองได้ทันว่า ถ้าพูดไปแล้วจะเกิดผลเสียทั้งต่อเขาและเราในระยะยาวอย่างไร ทั้งหมดนี้คือกระบวนการเดียวกัน คือ มีสติรู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและใช้ปัญญาพิจารณา ดูเหตุดูผลของสิ่งที่จะตามมา แม้ในปัญหาที่สามก็เหมือนกัน เมื่อเราระลึกนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เราเคยทำ เคยพูด เคยทำอะไร ๆ ทั้งทำในใจเราเองและทำต่อคนอื่น แล้วเกิดรู้สึกไม่พอใจตัวเองขึ้นมา สิ่งที่จะแก้ได้คือ ต้องมีสติไปรู้อาการตรงนั้นว่า ภาพที่นึกขึ้น เหตุการณ์ที่นึกขึ้นมา มันก็ผ่านล่วงเลยไปแล้วเราจะมานั่งเสียใจก็ป่วยการ เราจะย้อนกลับไปแก้ไขก็ไม่ได้ เราควรจะนั่งทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด ระมัดระวังจากปัจจุบันไปข้างหน้าให้ดีที่สุดและจะยิ่งดีกว่านั้น ถ้าเราเห็นความจริงว่าทั้งหมดของเรื่อง มันเกิดจากการที่เราขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ คือ ตัวปัญญาที่จะทำงานในขณะที่เหตุการณ์ตรงหน้าเกิดขึ้น 

เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปรอแก้ปัญหา ในแต่ละคราวที่ปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องมาเสริมทักษะ เติมต้นทุนในชีวิตคือฝึกสติ ตั้งแต่สถานการณ์ง่าย ๆ นั่งอยู่กับตัวเองก็ฝึกสติ รู้เนื้อ รู้ตัว ไม่ว่าจะทำอะไร ๆ ก็ฝึกที่จะรู้เนื้อรู้ตัวกับตัวเอง ใช้สติปัญญาพิจารณาเป็นประจำ เมื่อเราได้ยินเสียงนาฬิกาปลุกตอนเช้า ก็มีสติไม่เผลอใจปล่อยให้ความขี้เกียจครอบงำ เมื่อจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา ก็ฝึกสติว่าเราหยิบขึ้นมาเพื่ออะไร เราควรจะกดดูอะไร ไม่ควรกดดูอะไร เมื่อเราจะพูดอะไรกับใคร เมื่อเราจะฟังอะไรจากใคร ก็มีสติในการที่จะรับฟัง เมื่อสิ่งที่ถูกต้อง ถูกใจเกิดขึ้นแก่เราก็รับรู้ตามนั้น ไม่ไปยึดติด ไม่ไปถือมั่น ไม่ไปมั่นหมายว่า มันจะต้องดีอย่างนั้นตลอดไป เมื่อสิ่งที่เป็นทุกข์ ไม่พอใจ ไม่ถูกใจเกิดขึ้นก็ฝึกสติ ไม่ปล่อยให้ความโกรธหงุดหงิดมายึดครองจิตใจของเรา

จะเห็นว่ากระบวนการฝึกอย่างนี้ แท้จริงแล้วมันก็ต้องเกิดขึ้นทุกขณะของชีวิต เมื่อไรทำได้ดี ปัญหาก็เกิดน้อย เมื่อไรที่เผลอขาดสติมาก ปัญหาก็จะตามมา ยิ่งเราฝึกได้มากเท่าไร ปัญหาก็น้อยลงเท่านั้น อย่าเพิ่งไปโกรธโทษตัวเองที่ยังฝึกไม่ได้ แต่เรามาตั้งใจฝึกจากวันนี้ไปข้างหน้าให้ดีขึ้น เรียนรู้จากอดีต และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ข้างหน้า อนาคต ปัญหาก็จะน้อยลง

ขออนุโมทนา เจริญพร

ถ้าคุณรู้สึกว่ากำลังต้องเผชิญกับความยากลำบาก ระบายความหนัก ความเหนื่อย หรือความเครียด ความทุกข์ของคุณมาให้พวกเราได้ที่ www.bia.or.th/dhamlife ติดตามข้อธรรมดีๆ ได้ที่เพจ fb : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ 

Line: @Suanmokkh_Bangkok  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0