โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“คนโสด”...ต้องมี ‘ประกัน’ อะไรบ้าง?

Wealthy Thai

อัพเดต 23 ต.ค. 2563 เวลา 18.34 น. • เผยแพร่ 23 ต.ค. 2563 เวลา 18.34 น. • wealthythai
“คนโสด”...ต้องมี ‘ประกัน’ อะไรบ้าง?
“ประกัน” เป็นสินค้าทางการเงินที่ช่วย ‘บริหารความเสี่ยง’ ทางการเงินเมื่อเราเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ การซื้อประกันต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่เรามีอยู่ จำนวนเบี้ยประกันที่จ่ายได้ และสุขภาพของเราขณะทำประกัน

“ประกัน” เป็นสินค้าทางการเงินที่ช่วย ‘บริหารความเสี่ยง’ ทางการเงินเมื่อเราเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ การซื้อประกันต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่เรามีอยู่ จำนวนเบี้ยประกันที่จ่ายได้ และสุขภาพของเราขณะทำประกัน
“แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่เราสามารถนำมาวิเคราะห์ก่อนการซื้อประกันได้คือ ‘สถานะขณะทำประกัน’ของเรานั่นเอง การซื้อประกันที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับสถานะของเราว่าขณะนั้นเรามีภาระอะไรที่ต้องดูแลบ้าง เช่นต้องดูแลบุพการี ลูก หรือพี่น้อง แต่ถ้าเป็น ‘คนโสด’ จะมีความต้องการในการทำประกันอย่างไร บทความนี้เราจะอธิบายความจำเป็นในการซื้อประกันสำหรับคนโสดว่าต้องพิจารณาปัจจัยใดบ้าง”
หลักพื้นฐานของการทำประกันคือ เพื่อป้องกันผลกระทบทางการเงินเมื่อเกิดความเสี่ยงภัยขึ้น ความเสี่ยงภัยในที่นี้เกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น การจากไปก่อนวัยอันควร การเจ็บป่วยร้ายแรง อุบัติเหตุ และทุพพลภาพ สำหรับ ‘คนโสด’ เราสามารถพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมาเพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำประกันได้
“หากเป็น ‘คนโสด’ ที่มีการอุปการะใครสักคนอยู่ ทุนประกันชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาในการทำประกันด้วย หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน จะไม่ทำให้คนที่อุปการะอยู่เดือดร้อน หรือทำทุนประกันเพื่อสร้างเป็นมรดกให้คนในอุปการะเพิ่มได้”
‘ค่ารักษาพยาบาล’ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่คนโสดควรพิจารณา สำหรับคนที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่แล้ว ควรตรวจสอบว่าเพียงพอต่อความต้องการของตนหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอก็ควรทำประกันเพิ่มเติมเพื่อปิดความเสี่ยงด้านนี้
“สำหรับ ‘ผู้ประกอบอาชีพอิสระ’ หรือไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ ‘ประกันสุขภาพ’ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะการเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับการพักรักษาที่โรงพยาบาลเท่ากับการขาดรายได้ไป การทำ ‘ประกันเพื่อชดเชยรายได้’ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อช่วยลดความเสียหายทางการเงินของคนโสดได้”

 

 

อีกเรื่องหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามคือ ‘โรคร้ายแรง’ เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดน้อย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผลกระทบทางการเงินค่อนข้างสูงมาก และสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของหลาย ๆ หน่วยงานมักไม่ครอบคลุมถึงเรื่องนี้ ดังนั้นการทำ ‘ประกันคุ้มครองกรณีเกิดโรคร้ายแรง’ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากจะช่วยลดความเสี่ยงทางด้านการเงินจากเรื่องนี้ได้ ซึ่งเบี้ยประกันสำหรับโรคร้ายแรงไม่แพงเมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ
เรื่องพิจารณาอย่างสุดท้ายที่ผู้เขียนแนะนำ และคนโสดส่วนใหญ่มองข้ามไปคือ ‘ความเสี่ยงจากการขาดรายได้’ จากการทำงาน ดังที่กล่าวไปข้างต้น ถ้าเราต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล เราจะขาดรายได้ในการทำงานไป ยิ่งถ้าการขาดรายได้ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เราจะมีวิธีรับมืออย่างไร ในที่นี้ผู้เขียนกำลังกล่าวถึงความเสี่ยงเมื่อเกิดเหตุ ‘ทุพพลภาพ’ ถ้าเราเป็นคนโสดที่ไม่มีภาระใดๆ สิ่งที่เรากังวลที่สุดน่าจะเป็นการที่เราไม่สามารถทำงานหารายได้เพื่อใช้จ่ายให้ตัวเองได้
“ดังนั้น ทุพพลภาพจึงเป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบมากที่สุดที่เราต้องคำนึงถึงก่อนเป็นอย่างแรก การทำ ‘ประกันคุ้มครองทุพพลภาพ’ สามารถทำได้ด้วยเบี้ยที่ไม่แพงมาก และทำให้เราลดความกังวลกับความเสี่ยงดังกล่าวได้”
การเลือกซื้อประกันให้เหมาะสมกับตัวเองเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ถึงแม้ว่าจะเป็น ‘คนโสด’ ก็ยังมีความจำเป็นต้องทำประกัน เพราะคนโสดอาจมีผู้ในอุปการะที่ต้องดูแล หรือต้องทำประกันเพื่อดูแลตนเอง จึงต้องพิจารณาว่าตนเองมีความเสี่ยง หรือต้องการความคุ้มครองในเรื่องใดบ้าง เพื่อพิจารณาทำประกันได้อย่างครอบคลุม ทั้งนี้ ก็ต้องคำนวณค่าเบี้ยประกันด้วยเช่นกัน เพราะเป็นรายจ่ายที่ค่อนข้างประจำ เพื่อให้ประกันคุ้มครองเราอย่างต่อเนื่อง
“การบริหารความเสี่ยง” และการจัดสรรเงินเพื่อซื้อประกันได้อย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่เราต้องทำเป็นอย่างแรก ก่อนการจัดสรรเงินไปลงทุนเพื่อเป้าหมายทางการเงิน ทุกท่านสามารถเลือกใช้บริการ ‘นักวางแผนการเงิน’ เพื่อช่วยเหลือ และให้คำแนะนำในการซื้อประกันอย่างเหมาะสมได้
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand,สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpageและ  www.tfpa.or.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0