จุฬาภรณ์ จัดงาน “ไตโลก” เผยข้อมูลคนไทยป่วยไม่รู้ตัวกว่า 17% แนะ “คนกินแซ่บ” ใช้สมุนไพรแทนเครื่องปรุง
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ทึ่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ 400 เตียง พญ.ชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน “Kidney Health For All สุขภาพไตสำหรับทุกคน” เพื่อร่วมรณรงค์เนื่องในวันไตโลก 9 มีนาคมของทุกปี โดยมีกิจกรรมการเสวนาในหัวข้อ ‘ลดความดัน ลดความเค็ม ลดความเสี่ยงโรคไต เพิ่มคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรมอย่างเท่าเทียม’ และการสาธิตเมนูพิเศษกินอย่างไรให้ไตไม่พัง ด้วยเมนูแรปยำทูน่าเพื่อสุขภาพ นอกจากนั้น ยังมีบริการตรวจคัดกรองหาโปรตีนในปัสสาวะเพื่อหาความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต การแนะนำโภชนาการกินอย่างไรให้ห่างไกลโรคไต รวมถึงกิจกรรมร่วมสนุกแจกของรางวัล
พญ.ชนิสากล่าวว่า การจัดกิจกรรม Kidney Health For All ในวันนี้ เพื่อสร้างการตระหนักรู้เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงบริการดูแลรักษาโรคไตในประเทศไทยที่ก้าวหน้า เท่าเทียมตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์นายกสภาและประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตลอดจนการรณรงค์ให้ความรู้ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการตระหนักรู้ถึงการใช้ยาที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพไต ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์โรคไตวายเรื้อรังในปัจจุบันมีอุบัติการณ์และความชุกมากขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และมีแนวโน้มของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตรายใหม่ที่มีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติข้อมูลพบว่าคนไทยปลูกถ่ายอวัยวะมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ “ไต” ที่มีผู้ป่วยรอปลูกถ่ายมากที่สุดกว่า 6,000 รายต่อปี
พญ.ชนิสากล่าวว่า สำหรับศูนย์โรคไต โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตทั้งในแบบระยะสั้น และระยะยาวอย่างครบครันด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีทีมบุคลากรซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคไต ทำงานร่วมกันกับโภชนากร เภสัชกร และพยาบาลประจำศูนย์ในการประเมินการทำงานของระบบไต ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเองในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อช่วยในการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยชะลอการเสื่อมของไตและช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากไตเสื่อม เปิดให้บริการตรวจรักษาโรคโดยทีมแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคไต อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง และให้บริการฟอกเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังหรือเฉียบพลันด้วยเครื่องไตเทียมชนิดพิเศษและเทคโนโลยีกระบวนการฟอกเลือดประสิทธิภาพสูง
ด้าน นพ.ศุภณัฐ วรวิชชวงษ์ อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคไต กล่าวว่า การเกิดโรคไตเกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุหลัก คือ โรคความดันโลหิตสูง มีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 รองลงมาคือโรคเบาหวาน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 40 เช่นกัน และอีกร้อยละ 20 เป็นปัจจัยอื่นๆ เช่น การใช้ยาโดยไม่จำเป็น ดังนั้นจึงมีคำแนะนำสำคัญคือการใช้ยารักษาโรคต่างๆ ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเพื่อลดการใช้ยาโดยไม่จำเป็น นอกจากนั้น ยังมีเรื่องกรรมพันธุ์ด้วยแต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นความเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ของโรคเบาหวานมากกว่าซึ่งนำมาสู่ความเสื่อมของไต
นพ.ศุภณัฐกล่าวว่า สถานการณ์ของโรคไตในปัจจุบันคนไทยเป็นโรคไตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีการสำรวจพบว่า ประชากรไทยมีภาวะโรคไตแฝงประมาณร้อยละ 17 เป็นตัวเลขที่สูงมาก และยังมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเข้าสู่ระยะที่ 5 ที่ต้องบำบัดทดแทนไตประมาณ 200,000 คน จึงเป็นสิ่งที่ทางสาธารณสุขต้องหาทางป้องกันและทำให้คนไทยตระหนักถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตในอนาคต ทั้งนี้ หลายคนเป็นโรคไตโดยไม่รู้ตัว เรียกว่า “โรคไตแฝง” เนื่องจากโรคไตในระยะแรกๆ มักจะไม่แสดงอาการ จะเริ่มอาการมากขึ้นในระยะที่ 3 ดังนั้นหากผู้ที่ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี ก็จะไม่รู้ว่าตัวเองนั้นมีค่าการทำงานของไตที่ผิดปกติไป ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลโรคไตแฝงอย่างเหมาะสมก็จะนำไปสู่ภาวะไตเสื่อมได้ในเวลาอันสั้น
นพ.ศุภณัฐกล่าวว่า สำหรับการรักษาโรคไตในปัจจุบันจะต้องเน้นเรื่องการควบคุมอาหาร เพราะคนไทยมักจะรับประทานอาหารที่ค่อนข้างเค็ม มักจะปรุงรสอาหารด้วยผงชูรส น้ำปลา หรือการถนอมอาหารที่ต้องใช้โซเดียม เช่น การมักปลาร้า น้ำพริก ซึ่งอาหารเหล่านี้จะมีผลต่อภาวะความดันโลหิตสูง ความอ้วน โรคเบาหวาน ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ไตทำงานหนักขึ้นนำมาสู่ภาวะไตเสื่อม อย่างไรก็ตาม การบำบัดทดแทนไตจะมี 3 วิธี คือ 1.การปลูกถ่ายไตจากการรับบริจาค ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติได้มากที่สุด 2.การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ที่จะต้องฟอกเลือดในโรงพยาบาล สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 4 ชั่วโมง และ 3.การล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งจะมีสายฟอกไตเทียมที่ช่องท้องเพื่อล้างไตด้วยน้ำยา โดยปัจจุบันมีเครื่องอัตโนมัติที่จะทำงานในช่วงกลางคืน ตอนกลางวันผู้ป่วยก็สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยทั้ง 2 วิธีมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แตกต่างกันเพียงวิธีการและความเหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้ป่วย
ขณะที่ พญ.สิรี วงศ์รักมิตร แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โภชนศาสตร์คลินิก กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่อยู่ในระหว่างการรักษานั้น จะต้องระมัดระวังเรื่องการรับประทานอย่างมาก แต่ต้องย้ำว่าการรับประทานอาหารนั้น ควรจะต้องปรับให้เหมาะกับทุกโรคที่เป็น ไม่ว่าจะโรคไต โรคเบาหวาน โรคอ้วน เช่น ลดการบริโภคโซเดียม น้ำตาลในแต่ละวัน เพิ่มการรับประทานผักผลไม้ เลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป เนื่องจากโรคเหล่านี้มักจะมาพร้อมๆ กัน ดังนั้นหากภาวะโรคไตดีขึ้น โรคอื่นๆ มักจะดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ป่วยมีความสนใจและมีความรู้ด้านโภชนาการมากขึ้น ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเอง หรือญาติมักจะมาขอคำปรึกษากับนักโภชนาการเพื่อให้เกิดความสำเร็จในการรักษามากขึ้น
“ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ลดปริมาณโซเดียมหรือน้ำตาลลงจากปกติ ซึ่งมีข้อดีคือทำให้อาหารยังมีรสชาติจัดจ้าน แต่ลดความเข้มข้นของเครื่องปรุงลงได้ แต่ราคาอาจจะสูงกว่าเครื่องปรุงทั่วไป นอกจากนั้น บางผลิตภัณฑ์ยังมีปริมาณโพแทสเซียมสูง ซึ่งเป็นข้อควรระวังในผู้โรคไตรายที่มีค่าโพแทสเซียมสูงด้วย ดังนั้นการใช้เครื่องปรุงลดโซเดียมอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อน ส่วนทางเลือกอื่นที่แนะนำคือ การปรุงอาหารด้วยสมุนไพร เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก หรือมะนาว เพื่อชูรสชาติอาหารและทำให้ร่างกายเริ่มชินกับรสชาติอื่นๆ คนไทยยังติดความเคยชินกับอาหารรสแซ่บ จัดจ้าน ซึ่งไม่ผิด แต่เราควรปรับให้กินแซ่บด้วยรสเผ็ด รสเปรี้ยวหรือการปรุงอาหารด้วยสมุนไพร” พญ.สิรีกล่าว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : จุฬาภรณ์ จัดงาน “ไตโลก” เผยข้อมูลคนไทยป่วยไม่รู้ตัวกว่า 17% แนะ “คนกินแซ่บ” ใช้สมุนไพรแทนเครื่องปรุง
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th
ความเห็น 0