โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

นอนกลิ้งบนผืนหญ้า ดำดิ่งท่ามกลางผู้คน ทำไมการอ่านหนังสือนอกบ้านจึงรื่นรมย์

The MATTER

อัพเดต 08 ส.ค. 2565 เวลา 09.36 น. • เผยแพร่ 06 ส.ค. 2565 เวลา 04.05 น. • Lifestyle

นึกภาพการได้เอนตัวลงบนผืนหญ้า หงายหน้าเห็นท้องฟ้าสีฟ้าสดและเงาไม้รำไร เราหยิบหนังสือขึ้นมาค่อยๆ อ่านทีละหน้า การอ่านหนังสือกลางแสงอ่อนๆ ลมเอื่อยๆ และกลิ่นสดชื่นของต้นไม้ใบหญ้าย่อมเป็นการใช้ช่วงเวลายามสายหรือเย็นที่มีคุณภาพและน่ารื่นรมย์

ถ้าเรามองย้อนไป ภาพวาดในยุควิกตอเรียน เราจะเห็นภาพของการอ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก และในจำนวนนั้นไม่น้อยที่มักเป็นภาพของสุภาพสตรีที่กำลังอ่านหนังสืออยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ จะเป็นสวนสีเขียว ไปจนถึงม้านั่งในสวนสาธารณะ ภาพวาดจากยุคศตวรรษที่ 19 นั้นให้ภาพชีวิตของผู้คนที่สงบและสวยงาม ซึ่งด้านหนึ่งก็สัมพันธ์กับการโหยหาพื้นที่เงียบสงบในเมืองใหญ่ รวมถึงการค่อยๆ ก่อตัวขึ้นของสวนสาธารณะและการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียว

การอ่านด้วยตัวเองเป็นกิจกรรมที่น่ารื่นรมย์ และเมื่อการอ่านเป็นกิจกรรมที่ไม่จำกัดพื้นที่ การหยิบหนังสือออกไปอ่านท่ามกลางต้นไม้ใบหญ้า หรือการซุกหน้าลงอ่านเรื่องราวของตัวละครอื่นๆ ท่ามกลางคนแปลกหน้า ก็เป็นอีกบรรยากาศที่เพิ่มอรรถรสและความรื่นรมย์ในการอ่านได้ การอ่านหนังสือนอกบ้าน การอ่านกลางแจ้งในสวนสาธารณะนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีคุณประโยชน์เฉพาะตัว โดยนอกจากประโยชน์จากพลังของพื้นที่ธรรมชาติแล้ว การอ่านงานบางประเภทเช่นการอ่านนวนิยายเพื่อการสันทนาการ การไปนั่งอ่านข้างนอกก็อาจจะทำให้เราได้รสชาติเรื่องราวผู้คนในหน้าหนังสือที่สะท้อนกับคนแปลกหน้ารอบตัวเราด้วยอีกชั้นหนึ่ง

A Lady Reading a Newspaper (1886), Carl Larsson, ภาพจาก : Wikimedia Commons

พลังของธรรมชาติและแสงธรรมชาติ

ประโยชน์ของการอ่านหนังสือกลางแจ้ง (หมายถึงการอ่านในสวน ใต้เงาไม้) ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประโยชน์เดียวกันกับการใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติช่วยลดความเครียด ลดคอร์ติซอล ลดความดันโลหิต นอกจากสีเขียวๆ ของต้นไม้ใบหญ้าแล้ว แสงแดดอ่อนๆ ก็ช่วยส่งเสริมสุขภาพกายเช่นเพิ่มปริมาณวิตามิน การรับแสงแดดอ่อนๆ ส่งผลดีกับการนอนหลับ นอนหลับง่ายขึ้นและหลับสนิทมากขึ้น

นอกจากประโยชน์ทั่วไปจากธรรมชาติแล้ว การอ่านกลางแจ้งยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่าการอ่านกลางแจ้งหรืออ่านด้วยแสงธรรมชาติยังมีคุณสมบัติเฉพาะตัวอีก งานศึกษาจากวิทยาลัยจักษุวิทยา มหาวิทยาลัย State University of New York ระบุถึงประโยชน์ของแสงธรรมชาติที่มีต่อการอ่านว่า แสงธรรมชาติส่งผลต่อการที่สายตาของเราจับเส้นหรือสีที่ตัดกัน (visual contrast) เช่นแสงเงาหรือตัวอักษรบนหน้ากระดาษ โดยสรุปคือแสงธรรมชาติส่งผลดีกับสายตา โดยนอกจากจะอ่านง่ายกว่าแล้วยังส่งผลกระตุ้นสมองและการรับรู้ด้วย

A boy in a sailor suit reading on the beach. (1905), Niels Frederik Schiøttz-Jensen, ภาพจาก : Wikimedia Commons

อ่านชีวิตผู้คนท่ามกลางผู้คน

ทีนี้ หนังสือมีความพิเศษคือเป็นโลกของตัวเองก็จริง แต่หนังสือและเรื่องราวที่เราอ่านก็ไม่เชิงว่าจะขาดออกจากโลกภายนอก แต่มีบางส่วนที่อ้างอิงและเชื่อมต่อเราเข้ากับโลกของความจริง เบื้องต้นที่สุด การอ่านท่ามกลางบรรยากาศอื่นๆ อาจส่งผลให้เรามีการรับรู้ที่เฉียบคมขึ้น นึกภาพการที่เรากำลังตั้งใจอ่านเรื่องราวที่อาจกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ระบบการรับรู้ของเราจะตื่นตัวขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ เมื่อสายตาและความคิดเราจดจ่อ ในอีกด้านหนึ่งประสาทการรับรู้อื่นๆ เช่นหูและลิ้นของเราก็จะเปิดกว้างเช่นกัน

การเชื่อมต่อกันของสิ่งที่เราอ่านกับบรรยากาศรอบๆ ก็นับว่าเป็นการเลือกสรรอย่างหนึ่ง การอ่านหนังสือบางเล่มอาจจะมีรสชาติมากกว่าถ้าอ่านในที่ต่างกัน การอ่านเรื่องราวนวนิยายในยุควิกตอเรียน หรืองานแนว cozy mystery ที่พูดถึงชีวิตของคนเมือง การได้นึกภาพเรื่องราวชีวิตของผู้คนโดยมีคนจริงๆ มีเมืองจริงๆ มีสวนและสนามหญ้าสีเขียวเป็นฉากหลัง ก็อาจทำให้การอ่านที่อาจจะสบายๆ เป็นการหย่อนใจหนึ่งมีรสชาติมากขึ้นและผ่อนคลายมากขึ้นกว่าเดิม

Reading by the Brook (1879), Winslow Homer, ภาพจาก : Wikimedia Commons

การอ่านหนังสือนอกบ้านเป็นกิจกรรมที่หลายคนนึกถึง บางคนอาจจะได้ไปนอนกลิ้งมาแล้วบ้าง แต่ในด้านหนึ่งการอ่านนอกบ้านนั้นก็เป็นกิจกรรมที่เราต้องอาศัยภาครัฐหรือการพัฒนาเมือง รวมถึงการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่มีประสิทธิภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือเราเองคงยากที่จะมีสวนส่วนตัวเหมือนเศรษฐียุควิกตอเรียน การจะอ่านหนังสือและใช้เวลาอย่างสงบงามในช่วงบ่ายของเมืองร้อนได้ เราก็อาจจะหวังใจให้มีสวนดีๆ ที่ไม่ต้องใหญ่มาก แต่ไปถึงได้ง่าย มีสาธารณูปโภคที่ดี ออกแบบโดยบรรเทาความร้อนของแดดเมืองไทยได้

จากการพัฒนาหรือการเปิดสวนหลายสวนที่ผ่านมา เราก็จะพบว่า การมีกิจกรรมยามว่างเช่นการปิกนิก การหยิบหนังสือไปรับแดดอ่อนๆ นั้นทำได้จริง เพียงแค่ว่าพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพอาจจะอยู่ไกลเราไปหน่อย บางที่ถ้ามีก็อาจจะยังคงเป็นสวนที่อ่านไม่ค่อยสะดวก สาธารณูปโภคอาจจะไม่หลากหลายนัก ไม่มีม้านั่ง ห้องน้ำ กลุ่มเงาไม้ หรือสนามหญ้า มีการใช้งานสวนที่ยังไม่ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ เท่าไหร่

พื้นที่เช่นสวนที่มีฟังก์ชั่นหลายๆ แบบ การมีพื้นที่สีเขียวหลายๆ ขนาดที่กระจายตัวออกไป ห้องสมุดสาธารณะที่มีพื้นที่สีเขียวเป็นองค์ประกอบจึงเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกิจกรรมการอ่าน กิจกรรมที่ทั้งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเรียนรู้ และได้รับทุนทางวัฒนธรรม และส่งเสริมสุขภาพกายใจให้ผู้คนได้เวลาว่างได้อย่างมีคุณภาพ

อ้างอิงข้อมูลจาก

jstor.org

fiveminutehistory.com

scottishbooktrust.com

blog.scribd.com

sunyopt.edu

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0