โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

AMC จับตาโมเดลซื้อหนี้ประชาชน ขยับปรับแผนธุรกิจครึ่งหลังปี’68 รับมือ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 16 เม.ย. เวลา 08.27 น. • เผยแพร่ 17 เม.ย. เวลา 00.35 น.
Buy debt

ผู้ประกอบธุรกิจ AMC จับตาโมเดล “รับซื้อหนี้ประชาชน” ของภาครัฐ-ปรับแผนซื้อหนี้ใหม่ “CHAYO” ชะลอแผนซื้อหนี้ไตรมาส 2-3 ขอดูความชัดเจน เล็งเบนเข็มซื้อหนี้มีหลักประกันเพิ่มขึ้น คาดแบงก์จะตัดขายหนี้ “ไม่มีหลักประกัน-วงเงินต่ำ 1 แสนบาท” ยากขึ้น ขณะที่ “JMT” เผย “คุณสู้ เราช่วย-มาตรการ RL” ทำแบงก์ชะลอขายหนี้รอคัดกรองลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้ก่อน ฟาก “ARUN AMC” ขอรอดูรายละเอียดโมเดลซื้อหนี้ประชาชน ชี้อาจต้องปรับกระบวนการใหม่

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มปี 2568 นี้ การตัดขายหนี้เสียของระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ยังเห็นธนาคารทยอยตัดขายหนี้ออกมาสู่ระบบอยู่ แต่คาดว่าภายหลังจากภาครัฐกำหนดโมเดลการรับซื้อหนี้ประชาชนออกมา ในช่วงไตรมาส 2 จะเห็นการตัดขายหนี้ทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และวงเงินต่ำกว่า 1 แสนบาท

แต่หลังจากโมเดลรับซื้อจากประชาชนมีความชัดเจน คาดว่าจะเห็นธนาคารทยอยตัดขายหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจรายใหญ่ออกมา โดยประเมินว่าทั้งปีนี้จะเห็นการตัดขายหนี้เสียออกมาราว 1 แสนล้านบาท

“บริษัทจะชะลอการรับซื้อหนี้ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เพื่อรอดูสถานการณ์และความชัดเจนของโมเดลการรับซื้อหนี้ของภาครัฐ และจะเข้าไปรับซื้อมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ส่วนหนึ่งลูกหนี้เองก็รอดูโครงการของภาครัฐ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการซื้อหนี้และการชำระหนี้ของลูกค้าด้วย”

นายสุขสันต์กล่าวว่า หากมีการซื้อหนี้ประชาชนแล้ว บริษัทคงจะมุ่งเน้นรับซื้อหนี้ในกลุ่มที่มีหลักประกันมากขึ้น หรือหนี้มีมูลค่ากว่า 1 แสนบาทมากขึ้น โดยในปี 2568 บริษัทตั้งเป้ารับซื้อหนี้มาบริหารราว 1 หมื่นล้านบาท จากเม็ดเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทได้ซื้อหนี้มาบริหารแล้วเป็นหลักร้อยล้านบาท

“แบงก์ตอนนี้ยังทยอยขายหนี้ออกมาเรื่อย ๆ แต่หลังรัฐกำหนดโมเดลรับซื้อหนี้แล้ว คาดว่าน่าจะขายหนี้ได้ยากขึ้น และส่วนใหญ่อาจจะเป็นหนี้มีหลักประกันแทนหนี้ไม่มีหลักประกัน ซึ่งเราก็จะเข้าไปประมูลตามปกติ หากมีจดหมายเชิญ แต่อาจจะเลือกหนี้ที่ดีและราคาเหมาะสม เพราะอยากรอดูสถานการณ์ความชัดเจนของโครงการรัฐก่อน แต่มองว่าโครงการรับซื้อหนี้จากประชาชน หากทำได้ก็ดีต่อประเทศ เพราะหนี้ต่ำ 1 แสนบาทคิดเป็น 10% ของหนี้ครัวเรือน 12 ล้านล้านบาท แต่เป็นจำนวนคนสูงถึง 65% และเกือบ 70% เป็นหนี้ที่เกิดจากโควิด-19 ที่ยังฟื้นไม่ได้”

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า คาดว่าสถาบันการเงินจะเร่งตัดขายหนี้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถาบันการเงินยังคงดำเนินมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) และโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งธนาคารจะเริ่มเห็นลูกหนี้ที่ไม่สามารถเข้าโครงการได้ และจะเริ่มทยอยตัดขายออกมาได้ในครึ่งหลัง และจะขายเพิ่มมากขึ้นในปี 2569

“คาดว่ามูลค่าการตัดขายหนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน เพราะสถานการณ์คล้ายคลึงกันในเรื่องของมาตรการช่วยลูกหนี้ อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าจากตัวเลขของเครดิตบูโร พบว่าตัวเลขไปกองอยู่ในสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ค่อนข้างเยอะ โดยสัดส่วน SM อยู่ที่ราว 4% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL อยู่ที่ 9% และตัวเลขปรับโครงสร้างหนี้ หรือ TDR อยู่ที่ 7%”

นายสุทธิรักษ์กล่าวว่า จากทิศทางดังกล่าวบริษัทตั้งเป้าเม็ดเงินลงทุนรับซื้อหนี้ 2,000 ล้านบาท โดยปีก่อนบริษัทสามารถซื้อหนี้มาบริหารได้ราว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาส 1 ยังซื้อหนี้มาบริหารได้ค่อนข้างน้อย เป็นไปตามสถานการณ์ที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี ปีนี้บริษัทยังคงมุ่งเน้นซื้อหนี้ทุกกลุ่ม แต่ยังคงให้ความสำคัญกับหนี้ที่ไม่มีหลักประกันเป็นหลัก

“ปีนี้บรรยากาศรับซื้อหนี้และการตัดขายหนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน เพราะปีก่อนเรามีเกณฑ์ RL แต่ปีนี้เรามี “คุณสู้ เราช่วย” ทำให้การขายหนี้จะไปเห็นเยอะ ๆ ในช่วงครึ่งหลัง ส่วนประเด็นรับซื้อหนี้ของประชาชนนั้น บริษัทยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากยังต้องรอรายละเอียดของโมเดลก่อน”

นายสมชาย ธนุรักษ์ไพโรจน์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ อรุณ จำกัด (ARUN AMC) กล่าวว่า ในปีนี้สถาบันการเงินยังคงมีนโยบายการตัดขายหนี้ออกมาไม่น้อยกว่าปีก่อน อย่างไรก็ดี จะเห็นการแข่งขันของ AMC มีมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อสถาบันการเงินที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากภาวะการแข่งขัน

ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท ARUN AMC ปีนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการบริหารและติดตามหนี้ที่ได้รับมา แต่การรับซื้อหนี้อาจจะไม่ได้สูงมาก เนื่องจากบริษัทยังอยู่ระหว่างการเตรียมระบบ และวางแผนธุรกิจ (Business Plan) อยู่

“แผนการรับซื้อหนี้ประชาชนต้องดูสัญญาณจากภาครัฐอีกที ว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร จะมีการเปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมหรือไม่ หากเปิด เราก็ต้องมีการปรับกระบวนการ แต่ AMC ของภาครัฐมีอยู่แล้ว อาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งใหม่ก็ได้”

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : AMC จับตาโมเดลซื้อหนี้ประชาชน ขยับปรับแผนธุรกิจครึ่งหลังปี’68 รับมือ

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net