โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

มอง "ทักษิณ" ทำการเมืองไทยไม่แน่นอนสูง - ยังยึดติดกับภาพเก่า

PPTV HD 36

อัพเดต 27 ก.ค. เวลา 16.11 น. • เผยแพร่ 26 ก.ค. เวลา 12.03 น.
มอง
“รศ.ดร.โอฬาร” มอง “ทักษิณ” คุมอยู่เบื้องหลัง ทำการเมืองไทยมีความไม่แน่นอนสูง “รศ.ดร.พิชาย” ชี้ “ทักษิณ” ยังยึดติดภาพเก่า ยิ่งปรากฏตัวไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ทำกระแส “คิดถึงลุงตู่” มาแรง
มอง

สถานการณ์การเมืองในช่วงเวลานี้ ยังเป็นประเด็นที่สามารถหยิบยกมาพูดถึงได้เสมอ โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีการวินิจฉัยของศาลในหลายกรณี โดยเฉพาะ "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฉลองวันเกิดครบรอบอายุ 75 ปี ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 พร้อมคาดการณ์เกี่ยวกับบทบาทของนายทักษิณในอนาคต ทั้งบทบาทการประคับประคองพรรค หรือจะสามารถผลิกฟื้นพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่อย่างไร

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ร่วมพูดคุยในรายการเข้มข่าวเย็น ช่วงคุยข้ามช็อต Exclusive Talk เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

"ทักษิณ" คุมหลังบ้าน ทำการเมืองไทยมีความไม่แน่นอนสูง

รศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า ขณะนี้มีลักษณะของการเมือง 2 ด้านที่เกิดคู่ขนานกัน และปรากฏว่าการเมืองระหว่างด้านที่เป็นทางการกำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่สังคมก็เกิดความคลางแคลงใจต่อกระบวนการยุติธรรมนั้น ขณะที่การเมืองด้านที่ไม่เป็นทางการ อิทธิพลของตัวแสดงที่อยู่ด้านหลังม่านเริ่มฉายภาพปรากฏการณ์เข้ามาในพื้นที่การเมืองที่เป็นทางการมากขึ้น พอเกิดสถานการณ์แบบนี้ โอกาสเกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองจึงมีสูงมาก

รศ.ดร.โอฬาร กล่าวต่อว่า จริง ๆ แล้ว นายทักษิณไม่จำเป็นต้องรอถึงวันที่ 20 สิงหาคม คิดว่าตั้งแต่การกลับเข้ามา การออกมาจากโรงพยาบาลตำรวจได้ อำนาจของเขามีอยู่เต็มอยู่แล้ว กลายเป็นคนที่มีอิทธิพลทางการเมืองนอกระบบเหนือรัฐบาลแบบตัวจริง ซึ่งการเมืองนอกระบบคือไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของรัฐบาล ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของกฎหมาย แต่เป็นคนที่สามารถบัญชาการควบคุมรัฐบาลได้ทั้งรัฐบาล มีอิทธิพลเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ และดีไม่ดีอาจมีอิทธิพลต่อฝ่ายตุลาการด้วย

ซึ่งกรณีนี้ จะทำให้การเมืองไทยมีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากตามหลักการแล้ว เราให้น้ำหนักในด้านที่เป็นทางการ ในการทำหน้าที่รัฐบาล ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่ปรากฏว่าพอมีอำนาจที่มีอำนาจเหนือกลไกต่าง ๆ จึงทำให้การเมืองนี้สามารถคาดเดาได้ยากขึ้น เพราะเหมือนกับมีผู้คุมบังเหียนกลไกทั้งหมดเอาไว้

รศ.ดร.โอฬาร ยกตัวอย่างว่า วันดีคืนดีรัฐบาลบริหารแล้วกระแสตก นายทักษิณสั่งให้นายกรัฐมนตรีประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เป็นต้น คือการเมืองด้านหนึ่งในกระบวนการการพัฒนาการเมืองในเชิงสถาบัน ต้องช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคม ประชาชนผู้คนในประเทศสามารถเดาสถานการณ์ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นทางการเมือง แต่สำหรับในปัจจุบันมีการเมืองด้านหลัง ไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้

"ทักษิณ" ยุ่งการเมือง ทำกระแส "คิดถึงลุงตู่" มาแรง

รศ.ดร.พิชาย กล่าวว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ การเมืองไทยมีแนวโน้มว่าจะมีความเข้มข้นขึ้น และมีศักยภาพที่จะเกิดความวุ่นวาย หรือความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกรณีที่นายทักษิณจะได้ใบบริสุทธิ์ และจะไปกระตุ้นปรปักษ์เก่าของนายทักษิณ ให้มีความขุ่นเคืองมากขึ้น ถือเป็นอีกเชื้อหนึ่งที่เข้าไปสุม

สถานการณ์การเมืองในขณะนี้สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ช่วงนี้มีกระแสอยู่ และกระแสดังกล่าวมาเรื่อย ๆ ไม่เช่นนั้นกระแส "คิดถึงลุงตู่" จะไม่มา ซึ่งกรณีนี้เป็นปฏิกิริยาด้านกลับของการที่นายทักษิณเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองมากจนเกินไปในยุคปัจจุบัน ที่อาจไม่เหมาะกับการดำรงอยู่ทางการเมืองของนายทักษิณแล้ว แต่เมื่อยังปรากฏตัวอยู่ ถ่านไฟเก่าก็เริ่มที่จะติดขึ้นมา และเริ่มที่จะลุกโชนมากขึ้น

ทว่าไฟที่ลุกโชนนั้นอาจจะลุกโชนมากกว่าเดิม เนื่องจากแต่เดิมเป็นเพียงแค่กลุ่ม ๆ หนึ่ง ส่วนปัจจุบันจะเป็นกลุ่มใหม่ที่มีมากกว่าเดิม ซึ่งกลุ่มใหม่อาจยังไม่มีปฏิกิริยามากกับนายทักษิณ เพียงแต่อาจขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจกับเรื่องของการมีอภิสิทธิ์มากเกินไป และยิ่งถ้าอยู่ในการเมืองหลังฉาก และเข้ามาควบคุมการเมืองหน้าฉากด้วย ก็ยิ่งไปกระตุ้นคนที่อาจจะไม่เคยรู้สึก ให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจขึ้นมาได้

รศ.ดร.พิชายกล่าวต่อว่า บางทีคนมีอำนาจก็ย่ามใจ ซึ่งเป็นคุณลักษณะของนายทักษิณ บางทีอาจมองข้ามประเด็นอะไรต่าง ๆ ไป และท้ายที่สุดก็จะประสบปัญหา ซึ่งจากที่นายทักษิณออกมากล่าวถึงบทบาทของตนในวันเกิด ตนก็ไม่เชื่อเท่าไร มองว่านักการเมืองมีหลายมิติ ในช่วงจังหวะนี้นายทักษิณรู้ว่าควรจะพูดอะไรในหน้าฉากให้คนเห็น แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่หลังฉากมีมากกว่า ซึ่งคนไม่รู้ ที่ออกมาคือต้องการให้คนคิดเห็นไปในทิศทางนั้น

การพบเจอกัน 3-4 คนในครั้งนั้น เราสามารถมีความ ตั้งข้อสงสัยได้ ซึ่งสิ่งนั้นคือร่องรอยที่จะทำให้เราวิเคราะห์ว่ามีอะไรหลังฉาก รวมถึงยังเป็นการเย้ยหยัน ไม่ตอบโต้ ไม่ให้ค่านายเฉลิม ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการออกมาท้าดีเบตต่าง ๆ

ทริปเขาใหญ่ "ทักษิณ" จงใจปล่อยสาส์น เป็นนายแบบ "พรรคเพื่อไทย"

รศ.ดร.โอฬารกล่าวว่า การตอบคำถามของนายทักษิณถือว่าเป็นการสื่อสารที่ตอบสื่อมวลชนตามปกติ แต่ภาพที่ปรากฏสามารถตีความไปในเชิงอำนาจเชิงการเมืองได้ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ปฏิญญาการพบกันที่เขาใหญ่ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะไปตีกอล์ฟ ไปกินข้าว ไปร้องเพลงคาราโอเกะกัน แต่ตนมองว่ากรณีนี้มีความจงใจในการปล่อยสาส์นที่เป็นภาพออกมาในทางสาธารณะ

การกระทำทั้งหมดนั้นสามารถเลือกที่จะไม่ลงโซเชียลก็ได้ ไม่บอกใครก็ได้ แต่กรณีนี้ต้องการส่งสัญญาณการเมือง เนื่องจากในตอนนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีผลงาน 1 ปีผ่านไปไม่กระเตื้องขึ้นเลย นี่คืออีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนโหยหาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกอบกับคะแนนนิยมของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของนายทักษิณ ไม่สามารถตีคะแนนขึ้นมาได้เลยจากผลของนิด้าโพล บวกกับคะแนนที่ยังคงที่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ผู้นำหลัก ๆ ในพรรคเพื่อไทยขณะนี้ ล้มละลายในแง่ของความน่าเชื่อถือ นายทักษิณ จึงต้องกลายเป็นนายแบบของพรรค ที่ต้องออกมาบอกว่าสายสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมยังอยู่ โดยเฉพาะพรรคที่มีกำลัง มีอิทธิพลในทางการเมืองในสภาสูง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ถ้านายเศรษฐาอยู่หรือไม่อยู่ ทั้ง 2 พรรคก็ยังคงผนึกกำลังกัน และส่งสัญญาณไปหาคนในป่าด้วย

รศ.ดร.โอฬารกล่าวต่อว่า จริง ๆ แล้วคนที่อยู่หลังม่านทางการเมืองไทยนั้นมีตลอด แต่เขารู้ว่าควรจะอยู่อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น นายเนวิน ชิดชอบ ก็จะเนียนกริบ ไม่กระโตกกระตาก แต่เขาอยู่แบบนั้นได้เพราะพรรคเขามีเสถียรภาพ แตกต่างจากพรรคเพื่อไทย จึงทำให้นายทักษิณต้องออกมา แนะนำว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยสงสารนายทักษิณบ้าง ให้อยู่บ้านเลี้ยงหลาน อย่าให้เป็นอย่างนี้

คำถามต่อมาคือ พรรคเพื่อไทยมีใครสามารถเป็นนายแบบ มีความเชื่อมั่นได้เท่ากับนายทักษิณ ลองดูนางสาวแพทองธารที่พยายามออกมาแสดงบทผู้นำ มีความเด็ดขาด ดีดนายเฉลิมออกจากไลน์กลุ่ม ซึ่งด้านหนึ่งอาจจะแสดงบทบาทภาวะการนำ แต่พรรคการเมืองไม่ใช่บริษัท นักการเมืองต้องเป็นศิลปินที่ใช้อำนาจอย่างมีศิลปะ ถ้าบริษัทเป็นตัวของตัวเองได้ จะไล่ใครออกก็ได้ แต่นี่ไม่ใช่ สิ่งนี้จะยิ่งสร้างภาระให้กับนายทักษิณ

"ทักษิณ" ยึดติดภาพเก่า การปรากฏตัวไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น

รศ.ดร.พิชายกล่าวว่า นายทักษิณยังติดอยู่กับภาพเก่า ขณะที่นายเนวินยังอยู่ในตำแหน่งของตัวเอง ว่าสิ่งที่จะทำให้เขาได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ ต้องเล่นแบบไหน เขารู้ข้อจำกัดของตัวเองเพราะภาพลีกษณ์เขาไม่ดี เพราะฉะนั้นก็จะไม่ออกสื่อ ก็จะเล่นอยู่ข้างหลัง คอยจัดการภายใน

ในขณะที่นายทักษิณ มีความสามารถทำแบบนายเนวินก็ได้ คือเล่นอยู่ข้างหลังแบบเงียบ ๆ เพียงแต่ว่านายทักษิณยังติดภาพเดิมของตนเองในแง่ของความนิยม ที่คิดว่าตัวเองยังมีอยู่ คิดว่าถ้าตัวเองปรากฏตัวต่อหน้าสื่อสาธารณะก็จะเพิ่มคะแนนนิยมขึ้นมาได้ด้วย เพราะการควบคุมบงการไม่จำเป็นต้องทำผ่านสื่อ สามารถทำข้างหลังได้ แต่ที่ออกมา เพื่อทำให้สังคมระลึกว่าตนยังอยู่

ประเด็นคือในตอนนี้คือการประเมิน คนเหล่านี้เก่งในเรื่องของการประเมินอำนาจที่เล่นกันอยู่ในแวดวงเครือข่าย เพียงแต่ว่าตอนนี้เขาพยายามที่จะไม่เข้าใจความคิดของประชาชนที่เปลี่ยนไป โครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะฉะนั้นถ้านายทักษิณยังยึดติดอยู่กับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และยังคิดอยู่ว่าคนไทยยังเป็นเช่นนั้นอยู่ อันนั้นเขาก็จะประสบกับปัญหาเอง

รศ.ดร.พิชายกล่าวต่อว่า ทั้งคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมไม่ติดกับนายทักษิณ และคนรุ่นเก่าที่เป็นเสื้อแดงก็ถอยห่างจากนายทักษิณไปแล้ว ฉะนั้นการที่นายทักษิณออกมามาก ๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย

ด้าน รศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า ความสำเร็จของนายทักษิณทั้งในด้านการเมืองและในด้านเศรษฐกิจเมื่อ 20 ปีก่อนอยู่ในระดับสูงมาก จึงไม่แปลกที่นายทักษิณจะคิดว่าสามารถครองความเป็นเจ้าที่จะสามารถนำพาประเทศไปในมุมนั้นได้อีก ยังคงเชื่อและมั่นใจในลักษณะนั้น เช่นเดียวกันกับนายเฉลิม ที่ยังคงมองว่าตนเป็นผู้มีบทบาทอภิปรายในสภาเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งทั้งสองคนก็สื่อสารกันในมุมที่ตนเองประสบความสำเร็จสูงสุด แต่ไม่มองว่าโลกทัศน์เปลี่ยนไปแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พิชาย” เชื่อ “ทักษิณ” เข้ามายุ่งการเมืองแน่นอน ชี้มีนายกฯ 2 คนนานแล้ว

“เศรษฐา” ชี้ปม “ทักษิณ” เข้าพรรคเพื่อไทย ไม่ครอบงำรัฐบาล!

เปิด 3 โมเดล “เฉลิม อยู่บำรุง” ต้องเลือก ในวันแตกหัก “ชินวัตร”

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0