โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

'อดีตอาจารย์จุฬาฯ' เสียใจมหา'ลัยไม่ปกป้องกรณีถูกฟ้องเรื่องธีสิสแต่ถูกตั้ง กก.สอบสวนบทบาทแทน

MATICHON ONLINE

อัพเดต 09 พ.ย. 2564 เวลา 04.17 น. • เผยแพร่ 09 พ.ย. 2564 เวลา 03.31 น.
จุฬาฯ

 

‘อดีตอาจารย์จุฬาฯ’ เสียใจมหา’ลัยไม่ปกป้องกรณีถูกฟ้องเรื่องธีสิสแต่ถูกตั้ง กก.สอบสวนบทบาทแทน ชี้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาตามคำสั่ง

 

จากกรณีที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ในฐานะหลานของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร มอบหมายให้ นายสมผล ตระกูลรุ่ง ทนายความ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อดำเนินคดีต่อ นายณัฐพล ใจจริง ผู้แต่งหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี จำเลยที่ 1, นางกุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเลยที่ 2, นายชัยธวัช ตุลาธน จำเลยที่ 3, น.ส.อัญชลี มณีโรจน์ หุ้นส่วนสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จำเลยที่ 4, นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จำเลยที่ 5 ในฐานความผิดละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท นั้น

อ่านข่าว: [ฟ้อง ‘ณัฐพล ใจจริง-ฟ้าเดียวกัน’ 50 ล้าน เขียนธีสิส ป.เอก ทำราชสกุลรังสิตเสียหาย](http://ฟ้อง ‘ณัฐพล ใจจริง-ฟ้าเดียวกัน’ 50 ล้าน เขียนธีสิส ป.เอก ทำราชสกุลรังสิตเสียหาย)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน เพจสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้เผยแพร่คำแถลงการณ์ของ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด จำเลยคนที่ 2 โดยมีรายละเอียดว่า

แถลงการณ์จาก
อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด
อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ดิฉันมีความเสียใจที่ต้องตกเป็นจำเลยในคดีที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง

คดีนี้แยกเป็นสองส่วน
คือส่วนแรกที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ ซึ่งดิฉันมีบทบาทเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
และส่วนที่สองคือ หนังสืออันเป็นผลผลิตของวิทยานิพนธ์ ซึ่งดิฉันไม่มีบทบาทใดๆ ทั้งสิ้น

การดำเนินคดีในส่วนแรก เป็นความท้าทายต่อหลักการของเสรีภาพทางวิชาการ การฟ้องดำเนินคดีดิฉันซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เป็นการละเมิดหลักการทั้งสองและย่อมมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวงการวิชาการในอนาคตด้วย

คดีนี้จึงเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาหลักการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งมีหลักการเป็นสากลว่า ผลผลิตของวิทยานิพนธ์ย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้ทำวิทยานิพนธ์นั้น

คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิได้ใช้เวลาตรวจสอบวิทยานิพนธ์แล้ว และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า วิทยานิพนธ์สอบผ่าน และวิทยานิพนธ์ดีมาก ซึ่งเป็นงานวิชาการที่เปิดให้มีการโต้เถียงได้โดยเสรี

หากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเป็นสถาบันวิชาการในระดับสากล ก็ควรต้องรับรองหลักการดังกล่าวอันเกิดขึ้นภายในสถาบันของตนด้วย และควรต้องมีบทบาทในการปกป้องดิฉันซึ่งทำหน้าที่อันชอบธรรมตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย

แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ยอมรับหรือกระทำตามหลักการที่มีความเป็นสากลนี้ และไม่ได้ดำเนินการปกป้องดิฉันในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งทำหน้าที่ตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยอย่างที่ควร แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนบทบาทของดิฉันในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาดังกล่าว

และในทางตรงกันข้าม ดิฉันกลับได้รับการสนับสนุน กำลังใจ ไมตรีจิต และความช่วยเหลือจากอาจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน
ซึ่งดิฉันขอขอบพระคุณ ณ ที่นี้ด้วย”

9 พฤศจิกายน 2564

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0