โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จากคลองไทย กลายเป็น Land Bridge ความจำเป็นในการขุดคลองไทย หรือสร้าง Land Bridge

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 01 พ.ย. 2566 เวลา 11.33 น. • เผยแพร่ 01 พ.ย. 2566 เวลา 10.05 น.
Untitled-2-Recovered

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนตลอด 20 ปี คน 1,400 ล้าน สร้างกำลังผลิตขนาดใหญ่ ทำให้ต้องการทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และตลาดในการระบายสินค้า โดยภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ การเติบโตของอุตสาหกรรมอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของจีน และยังมีประเทศอุตสาหกรรม อีก 3 ประเทศใกล้เคียง ที่มีเป้าหมายแบบเดียวกันคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ดังนั้น การขนส่งทางเรือคือเส้นเลือดใหญ่

ด้วยความจำเป็นนี้จีนจึงประกาศฟื้นเส้นทางสายไหม เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุก One Belt One Road ในยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

เพราะประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ต้องใช้การขนส่งทางน้ำที่จะต้องผ่านช่องแคบมะละกา เพื่อเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย จึงจะไปถึงประเทศในทวีปแอฟริกา…ภูมิภาคเอเชียกลาง ภูมิภาคเอเชียใต้ อินเดีย ตะวันออกกลาง และผ่านคลองสุเอซเข้าสู่ยุโรป ซึ่งเป็นทั้งตลาดค้าขายขนาดใหญ่ เป็นแหล่งทรัพยากรและแหล่งพลังงาน

แต่การผ่านช่องแคบมะละกา เป็นปัญหาเพราะทุกวันนี้มีเรือ ผ่านประมาณ 85,000 ลำต่อปี หนาแน่นจนต้องรอคอยต่อคิวกัน

เพิ่มเส้นทางโดยขุดคลองไทย

หรือสร้าง Land Bridge?

นานมากแล้วที่มีผู้คิดที่จะเปิดช่องทางเดินเรือผ่าน โดยขุดคลองผ่านคอคอดกระในประเทศไทย ช่วงหลังจึงมีการเคลื่อนไหวให้ย้ายจุดมาขุดคลองไทยซึ่งจะมีระยะทางประมาณ 135 กิโลเมตรโดยจะผ่านด้านอ่าวไทยจากสงขลา และไปออกทะเลอันดามันด้านจังหวัดตรัง สู่มหาสมุทรอินเดีย

แนวเส้นทางล่าสุด คือคลองไทยแนว 9 A จะมีความยาว 135 กิโลเมตร กว้าง 400 เมตร และลึก 25-30 เมตร ตัดผ่านพื้นที่จังหวัดตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา งบประมาณลงทุน 2.3 ล้านล้านบาท มีการศึกษาสำรวจหลายครั้ง แต่หลายฝ่ายยังกังวลกันมาก ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ และความคุ้มค่าการลงทุน

จนเวลานี้อนาคตการขุดคลองไทย ดูแล้วผ่านยาก เพราะ

1. การขุดคลองไทย จะใช้งบประมาณมากมายมหาศาล โดยจากการศึกษาเบื้องต้นคือ อย่างต่ำ 2 ล้านล้านบาท หรืออาจบานปลายไปถึง 4 ล้านล้าน

2. จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และต่อภาคการท่องเที่ยว ในพื้นที่ใกล้เคียงกับการก่อสร้าง

3. ที่ถกเถียงกันมากคือผลกระทบต่อประเด็นด้านความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาการแบ่งแยกดินแดน คลองไทยจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหาร แม้ในยามที่ไม่มีสงครามจะเป็นประโยชน์กับประเทศที่มีการขนส่งออกสินค้า

แต่ถ้ามีสงครามใหญ่ ในเชิงยุทธศาสตร์ทางทหาร คลองไทยจะเป็นเส้นทางผ่านของเรือรบที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกจากอ่าวไทยไปสู่ทะเลอันดามัน ของมหาสมุทรอินเดีย

กลายเป็น Land Bridge

สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) เริ่มต้นจากแหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร สิ้นสุดที่บ้านอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง

โครงสร้างพื้นฐานของการเชื่อมโยงประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่จังหวัดชุมพร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน ที่จังหวัดระนอง ถนนมอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจร และรถไฟทางคู่ ระยะทางประมาณ 94 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่ง

ใช้งบประมาณราว 1 ล้านล้านบาท ให้เอกชนลงทุนทั้งหมด รัฐบาลไทยจัดหาที่ดิน และออกค่าเวนคืน แต่จะให้สัมปทานผู้ลงทุนกี่ปี?

คาดว่า เมื่อโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง แล้วเสร็จ ก่อให้เกิดประโยชน์คือ

1. ช่วยลดระยะเวลาขนส่งสินค้าได้ 4 วัน และลดความหนาแน่นของการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา

2. ส่วนการรองรับเรือบรรทุกสินค้าเท่าไรนั้น ผู้วิเคราะห์มองว่าขึ้นอยู่กับขนาดของหน้าท่าเรือว่าใหญ่แค่ไหน และประสิทธิภาพของระบบขนถ่ายตู้สินค้าว่าเร็วแค่ไหน เรือที่ต้องการใช้บริการมีแน่ เพราะจากการประเมินของ Maritime Institute of Malaysia ช่องแคบมะละกาสามารถรองรับเรือสินค้าได้เพียง 122,000 ลำต่อปี จะทำให้เรืออีกนับแสนลำที่ต้องอ้อมผ่านไปทางอินโดนีเซีย Land Bridge ของไทยจึงเป็นเหมือนทางด่วนเส้นใหม่ที่ประหยัดและเร็วกว่า

3. การขนส่งสินค้าและน้ำมันของไทย จะรวดเร็ว และถูกลง โดยใช้ท่าเรือใหม่นี้

4. สิ่งที่จะเกิดตามมาคือเมืองท่าและอุตสาหกรรม

นอกจากท่าเรือสองแห่งที่อยู่หัวและท้ายของเส้นทาง ตามเส้นทางไทยสามารถสร้างเขตอุตสาหกรรมซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากโดยตรง เพราะสินค้าที่ผลิตในเขตอุตสาหกรรมนี้สามารถส่งไปจำหน่ายต่างประเทศได้ โดยผ่านท่าเรือทั้ง 2 ด้านโดยตรง

นอกจากงานในโรงงานและท่าเรือ ยังสามารถสร้างอาชีพใหม่โดยอ้อมให้กับชุมชน คือมีการค้าขายและการบริการ จะเกิดอาคารพาณิชย์, โรงแรม, สถานีบริการต่างๆ ร้านอาหาร, ร้านค้าปลีก, ร้านค้าส่ง, สถานบันเทิง, โรงพยาบาล ฯลฯ

ทีมวิเคราะห์มองว่าความสำคัญของ Land Bridge หรือคลองไทยไม่ได้อยู่ที่ว่าจะลดระยะเวลาลงมามากน้อยเท่าใด แต่นี่เป็นการเพิ่มเส้นทางขนส่งระดับสากล ที่จะช่วยระบายความหนาแน่นของเรือจากแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียซึ่งจะต้องขนทั้งสินค้าสำเร็จรูปวัตถุดิบและพลังงาน เพื่อเลี้ยงระบบการค้า การผลิตของโลก

ถ้าให้ประเมินตอนนี้ก็คาดว่า Land Bridge มีโอกาสสร้าง 80% เพราะรัฐบาลนี้ต้องการทำโครงการทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และเป็นความจำเป็นของจีน ญี่ปุ่น และประเทศผู้ค้าน้ำมันในตะวันออกกลาง ที่ต้องขยายเส้นทางขนส่ง แต่การชี้ขาดเรื่องนี้อยู่ที่ผู้ลงทุน เพราะใช้เงินมหาศาล

สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj

— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น