5…4…3…2…1… Happy New Year !
Marjan / Pexels
และแล้วก็สิ้นสุดการรอคอย เวลาแห่งการที่จะได้เฉลิมฉลองเริ่มต้นปีใหม่ก็มาถึง หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยจากสิ่งต่าง ๆ มาตลอดทั้งปี หลาย ๆ คนรอวันที่จะได้พักผ่อนในวันหยุด บ้างก็รอที่จะสังสรรค์ บ้างก็รอที่จะได้ใช้เวลากับครอบครัว และสิ่งที่หลาย ๆ คนให้ความสำคัญและขาดไปไม่ได้ นั่นก็คือการรอที่จะได้เคาต์ดาวน์หรือนับถอยหลังในค่ำคืนสิ้นปี เพื่อก้าวไปสู่ปีใหม่ที่สว่างสดใสมากกว่าเดิม
ในช่วงใกล้ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ ผู้คนต่างตื่นเต้นและให้ความสำคัญกับเทศกาลดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะวันปีใหม่ก็เป็นเหมือนช่วงเวลาที่ทุกคนจะได้ตั้งเป้าหมายต่าง ๆ ที่ต้องการจะไปให้ถึง พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิม ๆ ให้ดีขึ้นในแต่ละแง่มุม ในคืนสิ้นปี เมื่อนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืนนั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าอะไรใหม่ ๆ กำลังจะเกิดขึ้น ให้ทุกคนก้าวออกมาจากปีเก่า พร้อมที่จะทบทวนตัวเองก่อนจะเดินต่อไปข้างหน้า เหมือนที่นักจิตวิทยาท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ปีใหม่ทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายวัฏจักรของเวลาที่เราต้องประเมินใหม่และทบทวนชีวิตของเรา” นั่นเอง
เมื่อคนให้ความสนใจกับเทศกาลปีใหม่ สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็เห็นจะเป็นเรื่อง “ความเชื่อ” ที่คนส่วนใหญ่มักจะถือปฎิบัติบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้เกิดเป็นความสิริมงคลแก่ชีวิตในวันปีใหม่ และเราจะชวนทุกคนไปร่วมสำรวจความเชื่อในวันปีใหม่ของแต่ละประเทศ ตั้งแต่วิธีปฏิบัติ ไปจนถึงความหมายดี ๆ ที่มาจากความเชื่อเหล่านั้น เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมฉลองวันปีใหม่ไปด้วยกันกับผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมและที่มาของแต่ละประเทศ
กินปั๊บรับโชค คนสเปนกินองุ่น 12 ลูกในคืนข้ามปี
ความเชื่อเกี่ยวกับการกินอาหารเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เพราะอาหารบนโลกนี้มีนับพันนับล้านชนิด ความหมายของการกินสิ่งต่าง ๆ จึงแตกต่างกันออกไป และในช่วงปีใหม่นี้มีอาหารที่เป็นมงคลเหมาะกับการกินในเทศกาลเฉลิมฉลองมากมาย รวมไปถึง “ผลไม้” ที่ก็จัดอยู่ได้ของกินที่เป็นมงคลด้วยเช่นกัน เหมือนอย่างเช่นในประเทศ “สเปน” ที่เชื่อกันหากกินองุ่นครบ 12 ลูก จะทำให้ตลอดทั้งปีได้พบเจอแต่ความโชคดีในชีวิต
ในกิจกรรมเฉลิมฉลองปีใหม่ การกินองุ่นเป็นความเชื่อที่คนสเปนมักนิยมปฏิบัติกันในวันสุดท้ายของปี ในช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืน เพราะองุุ่นสำหรับชาวสเปนมีความหมายที่ดี มีความหมายถึงความสามัคคี ความยินดี ความสุข และจิตวิญญาณ ทำให้องุ่น เป็นผลไม้ที่เหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้สำหรับช่วงเวลาของการเริ่มต้นปีใหม่ที่สวยงาม
สำหรับกิจกรรมนี้ทุกคนจะมารวมตัวกันที่ Puerta del Sol จัตุรัสสาธารณะในกรุงมาดริด เมื่อถึงเวลา 23.59 น. ทุกสายตาจะพากันจับจ้องไปที่หอนาฬิกาเพื่อรอสัญาณของการร่วมเฉลิมฉลอง และทุกคนจะลงมือกินองุ่นจำนวน 12 ลูกพร้อมกับเสียงระฆังที่ดังขึ้น 12 ครั้งเช่นกัน โดยเสียงระฆังครั้งที่ 1 กินลูกที่ 1 และจะเป็นเช่นนี้จนถึงครั้งที่ 12 พร้อมกับคำอธิษฐานในขณะที่กำลังเคี้ยวองุ่น ซึ่งทุกคนจะต้องกินองุ่นให้ทันเสียงระฆังในแต่ละครั้งถึงจะได้รับโชคดีตลอดปี นับเป็นความท้าทายที่ทั้งสนุกสนานและยังเป้นการสร้างขวัญและกำลังใจในการก้าวสู่ปีต่อไปได้อย่างถ้วนหน้า
ญี่ปุ่นตีระฆัง 108 ครั้ง ขับไล่กิเลส เริ่มต้นปีใหม่ด้วยใจบริสุทธิ์
ในช่วงเวลาที่กำลังจะก้าวข้ามผ่านปีเก่า ๆ แน่นอนว่าทุกคนย่อมปราถนาที่จะพบเจอแต่สิ่งที่ดีในชีวิตในวันข้างหน้า หลายคนมองย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมาแล้วพบว่า ตนเองอาจหลงใหลในวัตถุนิยมหรือกิเลสตัณหาต่าง ๆ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามที ซึ่งในวันปีใหม่ หลาย ๆ คนจึงอยากจะใช้โอกาสนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงและเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง พร้อมทิ้งอดีตไว้กับปีเก่า
สำหรับชาวญี่ปุ่นนั้นมีความเชื่อในเรื่องของการชำระล้างกิเลสตัณหาทางโลกในตัวมนุษย์ และในคืนสิ้นปีที่กำลังจะมาถึง จึงได้ใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรม “ประเพณีตีระฆัง 108 ครั้ง” เพื่อชำระบาปที่อยู่ในใจทุกคนก่อนจะเริ่มใช้ชีวิตในปีต่อไป พร้อมปลดปล่อยความทุกข์หรือความไม่สบายใจที่ผ่านมาไปกับเสียงของระฆัง
หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมถึงเป็นตัวเลข 108 นั่นก็เพราะว่าแรกเริ่มเดิมทีตั้งแต่สมัยโบราณ รากฐานของพระทุทธศาสนาญี่ปุ่น ตัวเลข 108 ว่ากันว่าเป็นจำนวนความปรารถนาทางโลก ตัณหาชั่วร้ายที่ทำให้ผู้คนผิดใจกัน เกิดปัญหา และความทุกข์ทรมานที่อยู่ในตัวเราทุกคนนั่นเอง
ในวันที่ 31 ธันวาคม ช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืน เสียงระฆังจะเริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ วัดทั่วประเทศในญี่ปุ่น หากได้ยินเสียงระฆัง นั่นบ่งบอกถึงสัญญาณแห่งการชำระกิเลสตัณหาที่กำลังจะเริ่มขึ้น เสียงระฆัง107 ครั้งจะดังก่อนเที่ยงคืน และเมื่อถึงเที่ยงคืนจะจบลง ณ ครั้งที่ 108 พอดี หรือในบางสถานที่อาจรอให้ถึงเที่ยงคืนก่อนถึงจะเริ่มตีระฆัง แต่จะตีให้ครบจำนวน 108 ครั้งเช่นเดิม เมื่อนั้นความกังวลใจ ความทุกข์ใจที่เกิดจากกิเลสต่าง ๆ ที่เกิดจากปีที่ผ่านมา ก็จะถูกคลี่คลายและได้รับอิสระตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น
ฟิลิปปินส์กับความเชื่อสัญลักษณ์วงกลม
ความเชื่อที่มากับงานเทศกาลต่าง ๆ ล้วนเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น เนื่องจากในวันสำคัญล้วนมีความเชื่อมากมายนานัปการ อย่างอาหารมงคล ประเพณี หรือกิจกรรมต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่ เพราะวันเทศกาลจัดเป็นวันที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผู้คนจึงให้ความสนใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงทำให้เกิดความเชื่อตามมา เหมือนดั่งเช่นวันปีใหม่ที่มีความเชื่อหลากหลายรูปแบบ ต่างคน ต่างพื้นที่จึงต่างความเชื่อและสัญลักษณ์ที่นำมาซึ่งการปฏิบัติที่แตกต่างกัน
ความเชื่อเกี่ยวกับสัญลักษณ์ในวันปีใหม่มีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ สิ่งของ หรือเครื่องหมาย เหมือนอย่างในประเทศฟิลิปปินส์ ที่จะนำ “สัญลักษณ์วงกลม” มาเป็นตัวแทนของความเชื่อด้านความเป็นสิริมงคงในวันปีใหม่ เพราะชาวฟิลิปปินส์เชื่อว่า วงกลมเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย ด้วยความที่มีรูปร่างคล้ายเหรียญทองหรือเงินในสมัยก่อน ทำให้ในช่วงปีใหม่ พวกเขาจะนำสิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นทรงกลมมาไว้ในบ้านเพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลนั่นเอง
สัญลักษณ์วงกลมสำหรับชาวฟิลิปปินส์ถือว่ามีความหมายที่ดีเป็นอย่างมาก เมื่อถึงช่วงปีใหม่พวกเขามักจะกินผลไม้ที่เป็นทรงกลมจำนวณ 12 ชนิด จะเป็นผลไม้ชนิดใดก็ได้ ว่ากันว่าจะนำโชคลาภมาให้ในปีหน้า อย่างเช่น แอปเปิล ส้ม สัปปะรด แตงโม องุ่น เมลอน ลำไย เป็นต้น โดยผลไม้แต่ละสีก็จะมีความหมายแตกต่างกันออกไป อย่างสีเขียวและสีม่วงเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง สีชมพูหมายถึงสุขภาพที่ดี สีแดงเป็นความสุขและโชค สีเหลืองคือความสุข และสีส้มคือความสามัคคี นอกจากนั้นในตอนเที่ยงคืน ชาวฟิลิปปินส์มักจะนำเหรียญมาใส่ไว้ในกระเป๋าแล้วเขย่าพร้อมกับอธิษฐาน หรืออาจโปรยเหรียญไว้รอบ ๆ บ้าน วางไว้ตามลิ้นชัก โต๊ะ หรือประตูบ้านก็ได้ ด้วยเชื่อว่าการทำสิ่งเหล่านี้จะนำความโชคดีมาให้ หรือแม้แต่การสวมชุดก็ยังคงมีสัญลักษณ์วงกลมเช่นการสวมชุดลายจุดที่เชื่อว่าเป็นการต้อนรับความเจริญก้าวหน้าและความร่ำรวยในปีใหม่
เผาหุ่นไล่กามอดไหม้ ขับไล่สิ่งชั่วร้ายในเอกวาดอร์
ถึงแม้ความเชื่อจะเป็นเพียงความสบายใจ หรือเชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคล เชื่อเพราะเป็นประเพณีสืบทอดต่อ ๆ กันมา หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ในบางครั้งความเชื่อก็นำมาซึ่งกิจกรรมแปลก ๆ อยู่เหมือนกัน เหมือนอย่างเปรูซึ่งจัดกิจกรรมการชกต่อยกันเพื่อขจัดความบาดหมางหรือปัญหาที่ค้างคากันมาก่อน หรือจะเป็นการทุบจานให้แตกในประเทศเดนมาร์ก ที่ว่ากันว่ายิ่งจานแตกมากเท่าไร ความโชคดีในวันปีใหม่ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น ส่วนประเทศเอกวาดอร์ก็เช่นกัน ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับ “การเผาหุ่นไล่กาในคืนสิ้นปี” ที่ก็เป็นความเชื่อแปลก ๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
การเผาหุ่นไล่กานั้น จริง ๆ แล้วมีต้นกำเนิดมาจากโศกนาฏกรรมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลา ที่ได้เกิดโรคไข้เหลืองระบาด ทำให้สมาชิกในครอบครัวจำต้องนำเสื้อผ้าของผู้ตายบรรจุลงในโลงศพแล้วจุดไฟเผา ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างโรคภัยร้ายและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีกิจกรรมการเผาหุ่นไล่กา เพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา เพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างมีความสุขและราบรื่นไปตลอดทั้งปี
สำหรับชาวเอกวาดอร์ สัญลักษณ์หุ่นไล่กานั้นมีความหมายในเชิงลบ เพราะหมายถึงสิ่งชั่วร้าย จึงเป็นที่นิยมในการนำมาเผาเพื่อขจัดสิ่งไม่ดีทิ้งไป โดยส่วนใหญ่จะนำมาแต่งตัวสวมใส่ชุดต่าง ๆ บ้างก็แต่งเป็นคนดัง นักการเมือง หรือคนที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ คน ในบางพื้นที่จะจัดขบวนและนำหุ่นไล่กาหรือตุ๊กตาที่ตกแต่งอย่างอลังการขนาดใหญ่ยักษ์เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับกิจกรรมเฉลิมฉลองนี้ บ้างก็เผารูปถ่ายหรือเผาของใช้ในปีเก่าร่วมด้วย จนทำให้การจุดไฟเผาหุ่นหน้าตาต่าง ๆ ในทุกพื้นที่กลายเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตาในคืนสิ้นปี
ความเชื่อที่มาพร้อมกับวันปีใหม่นั้นแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล กลุ่มคน พื้นที่ และวัฒนธรรม แต่ละความเชื่อไม่มีผิดถูก แต่คือความสบายใจที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกดีในคืนข้ามปีนั่นเอง
ที่มา : บทความ “Psychology Tips for New Year's Resolutions” โดย Michelle Konstantinovsky
บทความ “Why Getting Excited for the New Year is a Necessity” โดย heather
บทความ “The Twelve Grapes of Luck (Las doce uvas de la suerte)” จาก Pretty lady VINEYARDS
บทความ “Las Doce Uvas – and 4 More Spanish New Year’s Traditions” โดย Jessica Bowler
บทความ “2023 Count Down the Japanese - Way The Temple Bell on New Year’s Eve in Osaka” จาก Osaka metro Nine
บทความ “Why is the great bell rang at Chion-in Temple 108 times on New Year’s eve?” จาก Kyoto Inn&Tour
บทความ “Five traditions followed in Philippines to ring in the New Year” โดย HT School Web Desk
บทความ “12 LUCKY FRUIT's FOR NEW YEAR” จาก steemit
บทความ “Filipino’s New Year Traditions and Superstitions” จาก Golden Haven
บทความ “Años Viejos: Torching the Old Year to Toast the New One” จาก The New York Time
บทความ “Spongebob in Flames: The New Year’s Eve Effigy Burning in Ecuador” โดย ALLISON MEIER
เรื่อง : รัชฎาพรวรรณ มุ่งหมาย