11 จังหวัดวิกฤต “ปลาหมอสีคางดำ” แพร่ระบาดหนัก ขยายพันธุ์เร็ว กระทบอาชีพ “ประมงชายฝั่ง” เดือดร้อนหนัก เหตุ “กุ้ง-หอย-ปู-ปลา” ถูกจับกินหมด ทำลายเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ เผยยังพบวางขายใน “ร้านขายลูกปลา” หวั่นคนเข้าใจผิดว่าเป็น “ปลานิลจิตรลดา”
วันที่ 24 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวจังหวัดตราดรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้ลงพื้นที่จังหวัดตราด และเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ปลาหมอสีคางดำซึ่งเป็นปลาต่างถิ่นมีกำเนิดในทวีปแอฟริกา ตระกูลเดียวกับปลาหมอเทศ ปลานิล แต่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ กำลังแพร่ระบาดรุกรานในประเทศไทยไปประมาณ 11 จังหวัดแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกปัญหานี้ขึ้นมาแก้ไขอย่างเร่งด่วน
โดยกรมประมงมีแผนดำเนินการใน 3 เรื่องหลัก คือ 1) จังหวัดที่มีจำนวนมาก ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศกฎกระทรวง ให้ใช้เครื่องมืออวนรุน เพื่อกำจัดปลาได้ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการประมงจังหวัด
2) ปล่อยผู้ล่า เนี่องจากปลาหมอสีคางดำมีการขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว จะออกลูกทุก ๆ 22 วัน จะใช้ปลากะพงขาวกำจัดในระบบนิเวศ และ 3) ใช้บริโภค เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่ได้มีพิษโดยตรง กรมประมงให้นำปลาชนิดนี้นำมาใช้ประโยชน์ บริโภคเหมือนปลาหมอเทศ ปลานิล ทำปลาแดดเดียว ปลาล้ม
ทั้งนี้ ได้ประสานสมาคมปลาป่น ให้นำปลาชนิดนี้ไปทำปลาป่น เนื่องจากมีปริมาณโปรตีนสูงถึง75% ราคากก.ละ 7-9 บาท ซึ่งจะช่วยลดปริมาณปลาในทะเลที่จะนำไปทำปลาป่นได้ ในภาพรวมจะแก้ปัญหานี้ได้ ทั้งนี้เกษตรกรเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เช่น เลี้ยงกุ้ง ต้องมีมาตรการ เกษตรกรมีเทคนิควิธีการอยู่แล้ว การนำน้ำเข้าบ่อต้องกรองก่อนเพื่อไม่ให้มีไข่ปลาชนิดนี้เข้าไป
“กรมประมงจะเร่งดำเนินการ โดยในวันที่ 29 ม.ค. 67 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะ Kick Off กำจัดปลาหมอสีคางดำที่จังหวัดสมุทรสาคร จะใช้ขบวนเรืออวนรุน 23 ลำ ที่ได้รับการอนุมัติแล้วภายใต้การควบคุมคณะกรรมการประมงจังหวัด กำจัดปลาหมอสีคางดำและปล่อยปลากะพงขาวลงสู่แม่น้ำและนำปลาไปเข้าโรงงานปลาป่น หรือใช้ประโยชน์ จากนั้นจะดำเนินการ 5 จังหวัดบริเวณใกล้เคียงกันด้วย” อธิบดีกรมประมงกล่าว
นายนิพนธ์ สร้อยทอง รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี กล่าวกับ ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้การทำประมงชายฝั่ง ต.ช้างข้าม อ.นายายอาม จ.จันทบุรี ได้รับความเดือดร้อนหนัก เนื่องจากปลาหมอสีคางดำมาทำลายกุ้งหอย ปู ปลา ในลำคลอง ปกติชาวบ้านจะหากุ้ง ปู ปลา ในคลองช้างข้ามที่เป็นน้ำกร่อย ตามธรรมชาติเป็นอาหารและอาชีพเล็ก ๆ น้อย ๆ ชาวบ้านเกรงว่าจะมีการแพร่ระบาดไปทั่วเพราะปลาหมอสีคางดำจะอยู่ได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย ทางอำเภอเคยทำหนังสือแจ้งความเดือดร้อนไปอธิบดีกรมประมงแล้ว เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567
“เดือนธันวาคม ประมงอำเภอนายายอาม ลงไปเก็บข้อมูลที่คลองช้างข้าม ใช้เวลา 1ชั่วโมงยกยอ จับปลาได้กว่า 20 กก. เพราะจะอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ ปลาหมอสีคางดำไม่กัดทำร้ายคน แต่กินสัตว์น้ำในคลองทั้งหมด กุ้ง หอย ปู ปลา มีชาวบ้านจับมาขาย กก.ละ 20-30 บาท (ตัดหัว) แล้ว แต่เนื้อน้อย เนื้อแข็ง รสชาติไม่อร่อยเท่าปลานิล
หากปล่อยไว้จะขยายตัวเข้าไปในลำน้ำอำเภอที่ติดต่อกัน หรือจังหวัดใกล้เคียง จะทำลายสัตว์น้ำธรรมชาติหมด ทำลายเศรษฐกิจ และระบบนิเวศจะเสียไป บางคนเปรียบเทียบความสำคัญของปัญหาเหมือนหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนของภาคใต้ที่ทำความเสียหายต่อผลผลิตทุเรียน
ดังนั้น เรื่องนี้กรมประมงต้องรีบแก้ไขและไม่ให้ลุกลาม แพร่กระจายไปพื้นที่อื่น ๆ นอกจากนี้ยังพบเห็นมีลูกปลาจำหน่ายในร้านขายลูกปลา โดยที่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นปลานิลจิตรลดา แต่ดูลักษณะแล้วน่าเป็นลูกปลาหมอสีคางดำมากกว่า” นายนิพนธ์กล่าว
- ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศกรมประมง สัตว์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด 2567
- กรมประมงปูพรมตรวจสินค้าสัตว์แช่แข็งนำเข้าประเทศเสี่ยงสูงทุกลอต
- แก้ปัญหาประมง “ธรรมนัส” เร่งรัดออกประกาศกฎหมายลำดับรอง 9 ฉบับ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : 11 จังหวัดวิกฤต ปลาหมอสีคางดำ ระบาด ประมงชายฝั่ง ตะวันออก เดือดร้อนหนัก
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net
ความเห็น 0