โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

มาร์ส MOU จุฬาฯ ยกระดับการศึกษา และปรับปรุงคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 05 ส.ค. 2567 เวลา 07.55 น. • เผยแพร่ 05 ส.ค. 2567 เวลา 07.51 น.
APAC Pet Center-1
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มาร์ส จับมือ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยกระดับการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงและการศึกษาในไทย จัดให้มีการตรวจสุขภาพตามกำหนดสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมถึงเปิดโอกาสให้นิสิตได้ฝึกงาน

มาร์ส อินคอร์ปอเรทเต็ด บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านผลิตภัณฑ์และบริการดูแลสัตว์เลี้ยง รวมถึงขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว และอาหาร ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามกำหนดและให้คำแนะนำสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมถึงเปิดโอกาสให้นิสิตสัตวแพทย์ได้ฝึกงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์

ศ.สพญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ คณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือกับมาร์ส ประเทศไทยในวันนี้ เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย อีกทั้งยังเพิ่มพูนความรู้และเปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับนิสิตและคณาจารย์ของคณะสัตวแพทยศาสตร์

นายรัชกร เจนพัฒนพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทยและอินโดจีน มาร์ส เพ็ท นูทริชั่น กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลิตแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักอย่าง เพดดิกรี, วิสกัส, ไอแอมส์, ซีซาร์, ชีบา และเทมเทชันส์ มาร์สจึงลงทุนอย่างมากในการวิจัย โดยวิธีไม่รุกล้ำเกี่ยวกับพฤติกรรมและการให้อาหารสัตว์เลี้ยง ผ่านทางศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC Pet Center)

ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อพัฒนาและปรับปรุงอาหารสัตว์เลี้ยงของมาร์สให้เหมาะสมกับความต้องการและความชื่นชอบของแมวและสุนัขในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งแตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก

นอกจากนี้ยังสนับสนุนวัตถุประสงค์ของมาร์ส เพ็ทแคร์ ที่ต้องการสร้าง : โลกที่ดีกว่าสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ เพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการให้อาหารที่ครบถ้วนและสมดุล ยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงสู่ระดับสากล และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการของสัตว์เลี้ยงอย่างกว้างขวาง

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างมาร์สและคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1. ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจ : ให้ข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงระดับโลกแก่ นิสิตและคณาจารย์ ผ่านการเยี่ยมชม การศึกษาดูงาน และการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ

2. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา : เสริมสร้างความร่วมมือในการวิจัยและศึกษาด้านอาหารสัตว์เลี้ยงภายในอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ตอบสนองความต้องการของสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันและอนาคต

3. พัฒนาเทคโนโลยีและมาตรฐาน : นำมาตรฐานความปลอดภัยและเทคโนโลยีระดับสากลมาใช้ในการทดสอบและผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยง

4. เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยง : มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพกายและจิตใจของสัตว์เลี้ยงตามหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

5. รวบรวมข้อมูลเพื่อการศึกษา : เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวิจัยและการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการสัตว์เลี้ยงและสุขภาพสัตวแพทย์ในอนาคต

ดร.จารึก ศรีเกียรติเด่น ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมระดับโลก มาร์ส เพ็ท นูทริชั่น กล่าวสรุปว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในจังหวัดชลบุรี มีมาตรฐานการวิจัยในระดับสากล อีกทั้งขับเคลื่อนและยกระดับความสามารถในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ครบถ้วนและสมดุลของมาร์สในภูมิภาคนี้

ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการด้านโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักถึงการเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นความสำคัญสูงสุดสำหรับประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับสามของโลก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : มาร์ส MOU จุฬาฯ ยกระดับการศึกษา และปรับปรุงคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยง

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net