โรคสตีเวนส์จอห์นสันคืออะไร ส่งผลต่อดวงตา และทำให้ตาบอดได้อย่างไร ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
กลุ่มอาการที่เกิดจากการแพ้ยาอย่างรุนแรง เรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้กันว่า มีอาการของโรคสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens Johnson Syndrome)
โรคสตีเวนส์จอห์นสันเป็นอาการแพ้อย่างรุนแรง เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้น เกิดจากสาเหตุหลายอย่าง ได้แก่ การใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติทันทีหลังใช้ยา หรือแสดงอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์
1. ยาต้านการติดเชื้อ เช่น เพนิซิลลิน (Penicillin) โคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole)
2. ยาระงับอาการปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen)
3. ยากันชักหรือยารักษาอาการป่วยทางจิต เช่น ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) เฟนิโทอิน (Phenytoin) เซอร์ทราลีน (Sertraline) คาร์บามาซีพีน (Carbamazepine) และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากอยู่ในระหว่างเข้ารับการรักษาโรคด้วยวิธีฉายรังสี
4. ยารักษาโรคเกาต์ เช่น อัลโลพูรินอล (Allopurinol) ยาโคลชิซิน (Colchicine) ยาโพรเบเนซิส (Probenecid) ซัลฟินไพราโซน (Sulfinpyrazone) เบนโบรมาโรน (Benzbromarone) เป็นต้น
อาการสตีเวนส์จอห์นสันไม่ได้มีสาเหตุเกิดจากการแพ้ยาเท่านั้น บางคนไม่อาจหาสาเหตุได้เลย โดยก่อนหน้านั้นประมาณ 1 สัปดาห์ อาจจะติดเชื้อไวรัสไข้หวัดบางชนิดและหลังจากนั้นเกิดอาการสตีเวนส์จอห์นสันตามมาได้
อาการสตีเวนส์จอห์นสัน หลังจากได้รับสิ่งกระตุ้น
อาการ “สตีเวนส์จอห์นสัน” หลังได้รับสิ่งกระตุ้น ได้แก่ ช่วงแรกมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ไอนิดหน่อยเหมือนคนเป็นไข้หวัด หลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ เริ่มมีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง มีผื่นขึ้นตามลำตัว ต่อมาเริ่มมีตุ่มน้ำเกิดพุพองบริเวณเยื่อบุผิวต่าง ๆ เช่น ในช่องปาก
อวัยวะหนึ่งที่เกิดความเสียหายค่อนข้างรุนแรงก็คือ ดวงตา ทำให้เยื่อบุตาแดง อักเสบ ระยะแรกเหมือนกับคนที่เป็นโรคตาแดงอย่างรุนแรงทั้ง 2 ข้าง
การอักเสบหรือภูมิคุ้มกันทำลายเยื่อบุตาก็จะรุนแรงมากขึ้น ในที่สุดอาจทำให้เยื่อบุผิวกระจกตาดำขุ่น และเยื่อบุตาขาวและเปลือกตาด้านในหลุดลอกติดกันทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็น และมีความผิดปกติบริเวณลูกตา จนกระทั่งไม่สามารถลืมตาได้
ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม อาจทำให้เกิดความพิการถาวร (ตาบอด) ได้
โดยทั่วไป ความผิดปกติที่เยื่อบุผิวหนังและเยื่อบุผิวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หลังจากผ่านการรักษาหรือการดำเนินโรคทุเลาลงและอาการดีขึ้นแล้ว อาจจะทิ้งร่องรอยความผิดปกติไว้ เช่น ผิวหนังอาจจะยังมีสีดำคล้ำ หรือในช่องปากหลังจากหายแล้วก็สามารถกลับมาใช้งานได้ปกติ
สำหรับที่ “ดวงตา” ถึงแม้ว่าจะป้องกันกระจกตาขาวขุ่นเป็นแผลเป็น หรือการเกิดพังผืดบริเวณเยื่อบุตา สิ่งที่กระทบตามมาคือการสูญเสียการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาโดยธรรมชาติ
ผู้ป่วยสตีเวนส์จอห์นสันถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างดีและหายแล้วก็มักจะเกิดภาวะ “ตาแห้ง” อย่างรุนแรงตามมาได้ ซึ่งจักษุแพทย์จะต้องดูแลอย่างต่อเนื่องระยาว
สัญญาณเตือน เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกัน “สตีเวนส์จอห์นสัน”
ปกติแล้ว สามารถป้องกัน หลีกเลี่ยง “สตีเวนส์จอห์นสัน” ได้ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น
2. ใช้ยารักษาอาการตามแพทย์แนะนำเท่านั้น
3. เคยแพ้ยา หรือสงสัยว่าแพ้ยา จะต้องแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง
4. กินยาแล้วมีอาการผิดปกติ จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
บางกรณี ไม่ได้กินยาอะไรมาก่อน แต่มีอาการผิดปกติคล้ายกับ “สตีเวนส์จอห์นสัน” ก็จะต้องไปพบแพทย์ทันที เพื่อรักษาไม่ให้อาการลุกลามจนเกิดอันตรายกับร่างกาย และ/หรือ ป้องกันความพิการจากตาบอดได้
ดังนั้น ไม่ควรรอให้อาการสตีเวนส์จอห์นสันเป็นมากขึ้นจนลุกลามไปอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะจะทำให้การรักษายากขึ้นและเกิดความพิการกับอวัยวะบางอย่าง
อย่าละเลยอาการผิดปกติและรีบปรึกษาแพทย์ จะช่วยป้องกันและรักษาได้ทันเวลา
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : แพ้ยา ทำให้ตาบอด
ความเห็น 0