อีกหนึ่งข่าวเศร้าของวงการภาพยนตร์ จากกรณี วันที่ 13 ก.พ.2566 เพจเฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) โพสต์แจ้งข่าวเศร้าการสูญเสียอดีตผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเชื้อสายจีนชื่อดัง "ชาญ ทองมั่น" ผู้เป็นบิดาของ ปีเตอร์ ชาน ผู้กำกับคนสำคัญของฮ่องกง ซึ่ง"ชาญ ทองมั่น" เป็นผู้นำภาพยนตร์ไทยเข้าสู่ตลาดโลก และได้ฝากผลงานกำกับภาพยนตร์ชื่อดังไว้หลายเรื่อง
โดย ชาญ ทองมั่น หรือ ชาน ทุง มัน เกิด พ.ศ. 2474 ที่เมืองเฉาอัน ประเทศจีน เมื่ออายุ 1 ขวบได้เข้ามาอยู่เมืองไทย เพราะพ่อได้มาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนสอนภาษาจีนใน อ. ปากพนัง นครศรีธรรมราช จนกระทั่งอายุราว 8 ขวบ จึงได้กลับไปอยู่ที่จีนประมาณ 2 ปี ก่อนจะกลับมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ
เมื่ออายุ 20 ปี ชาญ ทองมั่น ได้เป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนเผยอิง ระหว่างนั้น ได้รับหน้าที่กำกับและเขียนบทละครเวทีภาษาจีนให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ รวมทั้งโรงพยาบาลหัวเฉียว จนกระทั่งอายุประมาณ 25 ปี จึงเดินทางไปยังประเทศจีน เพื่อศึกษาด้านการกำกับการแสดง แต่ปีนั้นโรงเรียนที่สมัครไม่เปิดรับแผนกผู้กำกับ
ปีต่อมา เขาได้ไปทำงานด้านภาพยนตร์ที่ฮ่องกง เริ่มต้นจากเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์ที่บริษัท เกรตวอร์ ตามด้วย บริษัท คาร์เธย์ และสุดท้ายคือบริษัทชอว์บราเดอร์ส ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของที่นั่น ในแผนกโฆษณา
- บิ๊กโจ๊ก เรียกทีมทำคดี "น้องต่อ 8 เดือนหายปริศนา" มาดูสำนวน ถามความคืบหน้า
- รู้จักอาการ "Computer Vision Syndrome" (CVS) เตือนคนที่ติดหน้าจอเป็นเวลานาน
- 4 ตำรวจ ขับรถนำขบวน นทท.จีน โดนข้อหาหนัก ถ้าผิดจริงไล่ออก-ปลดออกจากราชการ
ปี 2515 ชาญ ทองมั่น ได้สร้างภาพยนตร์ร่วมกับ ฉลอง ภักดีวิจิตร เรื่อง “2 สิงห์ 2 แผ่นดิน” โดยมีดาราใหญ่จากฝั่งไทยคือ สมบัติ เมทะนี ประกบกับดาราดังของฮ่องกงทั้ง เกาหย่วน พระเอกเงินล้านของบริษัทชอว์บราเดอร์ส, หยีห้วย นางเอกระดับนางงามไซโก้, เถียนฟง ดาวร้ายชั้นนำ และ เฉินซิง ดารานักคาราเต้ เป็นต้น
“2 สิงห์ 2 แผ่นดิน” โดยการดำเนินงานจัดจำหน่ายของทางฮ่องกงได้ออกฉายทั่วเอเชีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา ต่อมาชาญ ทองมั่น ซึ่งได้รับการโปรโมตว่าเป็นคนไทยที่ไปดังในฮ่องกง และเป็นผู้นำภาพยนตร์ไทยเข้าสู่ตลาดโลก ได้มีผลงานกำกับภาพยนตร์ไทยเรื่อง “รสสวาท”ปี 2516 ร่วมกับ พิชัย น้อยรอดซึ่งส่งให้ ปริม ประภาพร ได้รับรางวัลสิงโตทะเล จากงานมหกรรมภาพยนตร์เอเซีย ครั้งที่ 19
นอกจากนี้ เขายังมีผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ตามมา เช่น ใจรัก (2518) สาวหมาป่า (2519) สองเสือใจสิงห์ (2520)
ขอบคุณ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews
ความเห็น 0