สุชาติ พบปะผู้ประกอบการธุรกิจ รปภ. ลั่น! มุ่งยกระดับงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ
วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษในที่ประชุมใหญ่สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 หัวข้อ แนวทางการยกระดับงานรักษาความปลอดภัยเอกชนไทย ที่ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี-รังสิต กรุงเทพมหานคร
นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสําคัญกับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน และเพื่อให้มีความปลอดภัยในการทำงาน สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย
จึงเป็นหน่วยงานที่มีส่วนในการยกระดับมาตรฐานของพนักงานรักษาความปลอดภัย เพื่อให้พนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
“วันนี้มีเป็นโอกาสดีที่มีผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยทั่วประเทศกว่า 300 บริษัท และผมขอยินดีกับผู้ประกอบรักษาความปลอดภัย 9 แห่ง ที่ได้รับมอบโล่ ประกาศเกียรติคุณด้านความปลอดภัย เชื่อมั่นว่าทุกคนจะเป็นกลไกสำคัญในการดูแลคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนให้สามารถทำงานได้อย่างผาสุกและปลอดภัย แม้ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทุกคนคงทราบถึงความท้าทายที่ทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกัน ตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมาได้มีนโยบายและมาตรการช่วยเหลืองแรงงานและสถานประกอบการที่สำคัญๆ ตามห้วงสถานการณ์ที่เหมาะสมเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน ซึ่ง IMF คาดปี 2566 จีดีพีไทยเป็นบวก อัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก แม้เป็นช่วงพีคของโควิด-19 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดประเทศและการลงทุนขนาดใหญ่ที่สร้างเสถียรภาพ จนทำให้มีอัตราว่างงานเพียงร้อยละ 1.5” นายสุชาติ กล่าว
นอกจากนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า และคาดว่าปีหน้าก็จะยังคงต่ำที่สุดของโลก มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านโควิด-19 ของกระทรวงแรงงาน ภาพรวม เช่น ตรวจโควิด-19 แบบประจำจุดและตรวจเชิงรุกในโรงงาน ผลการตรวจโควิด-19 จำนวน 526,657 คน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แรงงานแล้ว 3,962,206 โดส โครงการแฟคทอรี่ แซนด์บ็อกซ์ มีแรงงานเข้าร่วม 407,770 คน ฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 112,746 โดส ลดเงินสมทบให้แก่ผู้ประกันตน เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 163,492 ล้านบาท มาตรา 33 และ มาตรา 39 รวม 7 ครั้ง ผู้ประกันตน 13.36 ล้านคน นายจ้าง 502,693 ราย เป็นเงิน 160,250 ล้านบาท และ มาตรา 40 รวม 2 ครั้ง ผู้ประกันตน 10.80 ล้านคน เป็นเงิน 3,242 ล้านบาท เยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ 29 จังหวัด นายจ้าง จำนวน 192,951 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 3.75 ล้านราย รวมเป็นเงิน 32,542.27 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 39 จำนวน 1.37 ล้านราย มาตรา 40 จำนวน 7.21 ล้านราย รวมเป็นเงิน 71,214.63 ล้านบาท
“ยังมีการเยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิงฯ มาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 นายจ้าง 192,951 คน ผู้ประกันตน 12.48 ล้านราย รวมเป็นเงิน 104,495.50 ล้านบาท เยียวยาจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ 81,136 คน เป็นเงิน 412.65 ล้านบาท ฉีดวัคซีนให้แก่คนงาน 606 แคมป์ ผู้ประกันตน 67,282 คน ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้พี่น้องแรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม โดยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 354 – 328 บาท ซึ่งได้ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565” นายสุชาติ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวถึงภารกิจที่กระทรวงแรงงานกำลังเร่งดำเนินการ ว่า อาทิ เร่งผลักดันแก้ไขกฎหมายประกันสังคม 3 ขอ ขอเลือก ขอคืน ขอกู้ ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. … รวมถึงจัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ประกันตน เพื่อวางรากฐานความมั่นคงให้แก่พี่น้องแรงงานในอนาคตอีกด้วย
“ในวันนี้เป็นโอกาสดีที่ผมได้มาพบปะกับพี่น้องสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย ทุกท่าน ผมขอขอบคุณ ที่ได้รวมตัวกันจัดตั้งและร่วมกันบริหารจัดการองค์กรแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความสามัคคีปรองดองของสมาชิก ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อนายจ้าง รวมถึงการประสานประโยชน์ให้เกิดการยอมรับเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่สำคัญ บนพื้นฐานระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ผมขอให้ทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันเพื่อขับเคลื่อนองค์กรและประเทศชาติต่อไป” นายสุชาติ กล่าว
ความเห็น 0