จากความฝันในวัยเด็กที่ชื่นชอบปลากัด นำมาสู่การต่อยอดเป็นอาชีพเสริม จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ คุณณัฐวุฒิ สุกล้ำ ช่างตัดผมวัย 30 ปี ในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และเจ้าของฟาร์มปลากัดสวยงาม แฟนซี ซื้อปลากัดสายพันธุ์ต่างๆ มาทดลองเพาะพันธุ์ เพื่อตอบสนองความชอบของตนเองในวัยเด็ก ก่อนเห็นช่องทางในการเพาะพันธุ์ขาย ที่สามารถทำควบคู่ได้กับงานประจำ
เมื่อว่างจากงานอาชีพหลักคือช่างตัดผม คุณณัฐวุฒิจึงทดลองเพาะพันธุ์ปลากัดสายพันธุ์ต่างๆ ไว้ดูเล่นก่อน 4-5 ตัว โดยที่ยังไม่นึกถึงการเพาะเลี้ยงขยายสายพันธุ์ แต่ด้วยเสน่ห์แห่งความหลากหลายของสายพันธุ์และสีที่มีจุดเด่นโดยเฉพาะ ยิ่งเวลาผ่านไปนาน ยิ่งหวนนึกถึงบรรยากาศในวัยเด็กที่ชื่นชอบปลากัด บวกกับเห็นว่าในโซเซียลมีเดียมีการเพาะพันธุ์ขาย จึงเกิดไอเดียและจุดเริ่มต้นในการเพาะพันธุ์ปลากัดขายอย่างจริงจัง
เมื่อเริ่มเพาะพันธุ์ปลากัด กลับต้องพบกับความผิดหวัง เพราะไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการเลี้ยงปลากัดที่มากพอ ทำให้เจอปัญหาลูกปลากัดตายจำนวนมาก ยิ่งลองผิดลองถูกมากเท่าไร ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้คุณณัฐวุฒิศึกษาข้อมูลการเลี้ยงปลากัดด้วยตัวเองในช่องทางยูทูบเป็นเวลากว่า 2 ปี จึงจะประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลากัด
“การเพาะพันธุ์ครั้งแรกเริ่มต้นจากการดูในยูทูบ ลองผิดลองถูก ลูกปลาที่เกิดมารอดน้อยมาก เพราะไม่รู้ว่าเขาเพาะกันแบบไหน ดูแลอย่างไร ทำอย่างไรให้ลูกปลารอด ลูกปลาต้องกินอาหารอะไร ไม่มีความรู้ด้านนี้เลย”
คุณณัฐวุฒิ บอกด้วยว่า การเพาะพันธุ์ปลากัดนั้น ควรศึกษาหาข้อมูลในการเลี้ยง หากไม่มีความรู้และประสบการณ์ที่มากพอ มีโอกาสที่จะพบกับปัญหาลูกปลาเกิดมาแล้วรอดน้อย ซึ่งอาจเกิดจากวิธีการดูแลและการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง
ปัจจุบันทางฟาร์มปลากัดสวยงาม แฟนซี มีปลากัดจำนวนหลายตัว ส่วนมากเป็นปลากัดพันธุ์หางสั้น จำพวกกาแล็กซี หูช้างลาเวนเดอร์ เป็นต้น สำหรับความพร้อมในการผสมพันธุ์ของปลากัดนั้น ควรมีอายุ 3 เดือนขึ้นไป มีลักษณะที่สมบูรณ์พร้อมที่จะผสมพันธุ์ โดยตัวเมียจะดูที่ท่อนำไข่ใต้ท้อง เม็ดขาวๆ คล้ายๆ ไข่ แต่ไม่ใช่ไข่ ลำตัวมีลายขวางสีขาวอ่อนๆ ตัวผู้ดูที่ความแข็งแรงสมบูรณ์เพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะสั่งซื้อมาจากฟาร์มที่มีชื่อเสียง ราคาค่อนข้างสูง
เมื่อปลากัดพร้อมที่จะผสมพันธุ์ จะเริ่มเตรียมภาชนะ ตกแต่งบ่อเพาะเลียนแบบธรรมชาติ โดยการใส่พืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง หญ้าพองลม จอก แหน เป็นต้น คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่พร้อมที่สุด เทใส่รวมกัน ควรอยู่ในช่วง 17.00-18.00 น. เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปลากัดพักผ่อน ถ้าเทตอนเช้าปลาจะไล่กัดกันทั้งวัน และช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 08.00-09.00 น. เป็นต้นไป ตัวผู้จะเริ่มสร้างหวอดหรือรัง เริ่มไล่กัดตัวเมียจนกว่าตัวเมียจะยอม ช่วงเวลานี้คุณณัฐวุฒิแนะนำว่าห้ามให้อาหารเด็ดขาด เพราะหากปลากัดกินอาหารอิ่มแล้วจะไม่รัดกันจะแยกกันอยู่ เมื่อตัวเมียยอมที่จะผสมพันธุ์ด้วยจะว่ายมาที่หวอดหรือรังที่ปลากัดตัวผู้ก่อไว้ หลังจากนั้นปลากัดตัวผู้จะทำการรัดเพื่อรีดไข่ออกจากท้องปลากัดตัวเมีย โดยปลากัดตัวผู้จะทำหน้าที่เก็บไข่ และมีปลากัดตัวเมียทำหน้าที่ช่วยอีกแรง
“จากนั้นช่วง 17.00 น. ของวันที่ปลากัดผสมพันธุ์จะทำการช้อนปลากัดตัวเมียออก เพื่อป้องกันไม่ให้ปลากัดตัวเมียกินไข่ เพราะโดยธรรมชาตินิสัยของปลากัดตัวเมียนั้นจะหวงไข่เป็นพิเศษมากกว่าปลากัดตัวผู้ จริงๆ สามารถเลี้ยงไว้ด้วยกันได้ แต่ปลากัดตัวเมียจะมีนิสัยตื่นตัวง่าย ช่วงที่เราเปิดดูปลากัดตัวเมียจะตกใจและอาจจะไล่กินไข่หมด จึงจำเป็นต้องแยกตัวเมียออกมาจะดีที่สุด จากนั้นปิดฝาให้มีอากาศพอเข้าได้ และนำไปไว้ในสถานที่ที่ไม่มีลมเข้า”
หลังจากนั้นทิ้งไว้ 3 วัน ห้ามรบกวนและห้ามให้อาหาร ปลากัดตัวผู้จะทำหน้าที่ดูแลลูก สามารถให้อาหารได้ในวันที่ 4 ซึ่งเป็นอาหารมื้อแรกของลูกปลากัด ควรเป็นไรแดงเป็นๆ สดๆ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการรอดของลูกปลาเยอะมาก ปลากัดทุกฟาร์มต้องทำและต้องมีน้ำเขียวเพื่อเลี้ยงไรแดง หากไม่มีไรแดง โอกาสที่จะได้ลูกปลานั้นก็น้อยลงมาก ให้อาหารแบบนี้วันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและช่วงเย็นจนลูกปลากัดอายุถึง 1 เดือน
เมื่อให้อาหารมื้อแรกเสร็จ จะทำการเตรียมภาชนะที่ใหญ่ขึ้น นั่นก็คือบ่อปูน เตรียมน้ำสูงจากก้นบ่อประมาณ 4-5 นิ้ว ใส่ไม้น้ำลงไปเพื่อให้ลูกปลาเกาะ ใส่ฟางข้าวแห้งๆ ลงไปเล็กน้อยเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ไรแดงซึ่งเป็นอาหารของลูกปลากัด เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำกันมานานแล้ว จากนั้นย้ายลูกปลากัดออกจากบ่อเพาะ ค่อยๆ เท เพื่อเพิ่มพื้นที่และเพิ่มออกซิเจนให้ลูกปลากัดและทำให้ลูกปลากัดโตเร็วขึ้น
เมื่อลูกปลากัดอายุ 1 เดือน จะทำการเปลี่ยนอาหารเป็นพวกไข่ตุ๋น เต้าหู้หลอด เพราะว่ามีส่วนผสมของโปรตีนสูง เมื่อลูกปลากินเข้าไปจะเร่งการเติบโต ก่อนให้ลูกปลากิน ต้องล้างให้สะอาด รีดใส่กระชอนตักปลาจนละเอียด ให้ลูกปลากัดกินในปริมาณปลายช้อนโต๊ะ ตักใส่ตะกร้าที่ลอยน้ำไว้ ลูกปลาจะว่ายเข้ามากิน ถ้าเหลือควรนำออกเพื่อป้องกันไม่ให้เศษอาหารจมลงก้นบ่อปลา ซึ่งอาจจะทำให้ปลาป่วยได้ ให้แบบนี้ติดต่อกันไปจนลูกปลากัดอายุ 2 เดือน ลูกปลากัดจะขยายไซซ์และกินมากขึ้น
พอลูกปลาอายุ 3 เดือน จะทำการคัดหัวคอกออก คือการคัดไซซ์ลูกปลาไซซ์ใหญ่ออกเพื่อให้ปลากัดไซซ์กลางขยับขนาดเป็นไซซ์ใหญ่ ปลากัดไซซ์เล็กขยับขนาดเป็นไซซ์กลาง หากไม่คัดออกปลากัดจะเริ่มกัดกันซึ่งเกิดการแย่งอาหาร
หลังจากนั้นจะทำการแยกมาใส่ในภาชนะที่มีขนาดกว้าง ประมาณขวดน้ำ 5 ลิตร หาที่กั้นมากั้นไว้เพื่อป้องกันการพองกัน เมื่อปลาเริ่มโตเต็มที่ สามารถขายได้เมื่ออายุ 4 เดือนไปแล้ว ไซซ์ 1.5-2.5 นิ้ว ความยาวจากหัวถึงโคนหาง จะเริ่มถ่ายรูปโพสต์ขายลงในเฟซบุ๊ก เก็บตัวที่สวยไว้ทำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อไป
ปัญหาโรคที่เจอส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ปรับอุณหภูมิ เช่น โรคตัวเปื่อย ครีบเปื่อย มีแผลตามลำตัว เหมือนโดนกัดแหว่ง โรคตาบวม ปรสิตตามตัว ตามครีบ จะทำให้ครีบออกมาไม่สวย หากเจอลูกปลาที่ป่วยจะทำการแยกออกทันที เอาไปรักษาต่างหาก ซึ่งการรักษามีหลายรูปแบบ หากรักษาแบบธรรมชาติ จะทำการใส่เกลือเม็ด เกลือสมุทร 2-3 เม็ด ใส่น้ำน้อยๆ แช่ไว้ เปลี่ยนน้ำทุกวัน หมั่นสังเกตอาการของปลา อย่างที่สองเป็นยาเคมี เป็นผลิตภัณฑ์ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อรักษา เช่น ยาเหลือง ยาเขียว สมุนไพรบรรจุก้อนเล็กๆ
ด้านสภาพอากาศที่เหมาะสม ควรเป็นที่ที่มีแสงแดดรำไรประมาณ 50% ไม่ร้อนจนเกินไป อุณหภูมิควรอยู่ 30-35 องศา
คุณณัฐวุฒิ เล่าว่า ปัจจุบันตลาดของปลากัดมีการพัฒนาไปไกลมาก สามารถพัฒนาสายพันธุ์ไปได้เรื่อยๆ ไม่มีการหยุดอยู่กับที่ รวมถึงการผสมพันธุ์แบบข้ามสายพันธุ์ออกมาเป็นสีแปลกๆ ได้ จึงกลายเป็นความหลากหลายของสีสันและเสน่ห์ของการเพาะเลี้ยงปลากัด ซึ่งทั้งหมดจะเป็นตัวกำหนดราคาของปลากัด ราคาถูกแพงแตกต่างกันออกไป ราคาเริ่มต้นที่ฟาร์มจะอยู่ที่ 100-500 บาท จะมีการซื้อขายกันผ่านทางเพจเฟซบุ๊กการเพาะเลี้ยงปลากัดต่างๆ
สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะเพาะเลี้ยงปลากัด คุณณัฐวุฒิ สุกล้ำ ยินดีให้คำปรึกษาสามารถเข้าไปชมในเพจเฟซบุ๊ก ปลากัดสวยงาม แฟนซี หรือโทรศัพท์ได้ที่เบอร์062-923-5394
ความเห็น 0