โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

รู้ชัด "ลองโควิด (Long COVID)" อันตรายไหม ส่งผลระยะยาวอย่างไรต่อร่างกาย

PPTV HD 36

อัพเดต 22 พ.ค. 2565 เวลา 03.15 น. • เผยแพร่ 22 พ.ค. 2565 เวลา 03.30 น.
รู้ชัด
หลังหายป่วยจากโควิด-19 ยังมีเรื่องที่น่าห่วงนั่นคือ ภาวะลองโควิด (Long COVID) ที่ส่งผลต่อร่างกายไม่แพ้ฤทธิ์ไวรัส

ภาวะ ลองโควิด (Long COVID) คือภาวะที่เกิดจากการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 (COVID 19) ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะเกิดตั้งแต่เริ่มเป็นโควิด-19 ต่อเนื่องเป็นระยะยาว หรืออาจจะเกิดขึ้นภายหลังที่หายจากอาการทั้งหมดแล้ว

อาการที่เกิดขึ้น เช่น รู้สึกไม่สบายเหมือนกับไม่หายจากการเจ็บป่วยสักที ที่พบบ่อยคือการหายใจไม่อิ่มและไม่สุด มีอาการเหนื่อย เพลีย มึนศีรษะ คิดอะไรไม่ออก หรือซึมเศร้าและมีภาวะเครียด บางรายอาจปวดเมื่อย ปวดข้อ ใจสั่น โดยมักจะเป็นอยู่ในช่วงราว 1-3 เดือน หลังจากหายจากการติดเชื้อโควิด-19

อาการแบบไหนเสี่ยงเป็น "ลองโควิด" ก่อนไปพบแพทย์

"ลองโควิด" LONG COVID เรื่องต้องรู้เมื่อหายป่วยจากไวรัสร้าย

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าภาวะลองโควิด (Long COVID) เกิดจากอะไร และมีความสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยมากน้อยขนาดไหน แต่โดยทั่วไปที่พบในขณะนี้ ผู้ที่ป่วยในช่วงเป็นโควิด-19 แม้อาการจะไม่รุนแรงก็สามารถพบภาวะลองโควิด (Long COVID) ได้ หรือบางคนที่มีภาวะเจ็บป่วยรุนแรง แต่ว่าไม่พบภาวะลองโควิด (Long COVID) เลยก็มี

ภาวะลองโควิด (Long COVID) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านใดบ้าง

เมื่อเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ไวรัสจะทำให้เกิดการอักเสบได้ทั่วร่างกาย ซึ่งอาจจะไปทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์ประสาท เซลล์สมอง ถุงลมปอด ไต หรืออวัยวะอื่นๆ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือทำให้มีอาการของลองโควิด (Long COVID) ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในแต่ละคน ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการรุนแรงขณะติดเชื้อ อาจทำให้เชื้อไปทำลายอวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายให้มีความผิดปกติมากกว่าผู้ที่มีอาการน้อย แต่ก็ไม่ใช่ทุกราย

ผลในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับปอด จากภาวะลองโควิด (Long COVID)

ในช่วงที่เป็นโควิด-19 หากไวรัสเข้าไปทำลายถุงลมปอด ซึ่งถุงลมปอดมีหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน ก็ส่งผลดังนี้

  • อาการติดเชื้อลงปอดไม่รุนแรงหรือเป็นไม่มาก : หากถุงลมปอดโดนทำลายไม่มาก โอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมาปกติก็จะมีได้มาก
  • อาการติดเชื้อลงปอดรุนแรง : หากถุงลมปอดโดนทำลายไปมาก อาจทำให้ปอดไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ ถุงลมปอดอาจจะกลายเป็นพังผืด การแลกเปลี่ยนออกซิเจนจึงลดลง

ภาวะลองโควิด (Long COVID) ในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว

ภาวะลองโควิด (Long COVID) อาจจะมีผลในระยะยาวได้ในคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคปอดติดเชื้อเรื้อรัง หรือว่ามีโรคปอดที่มีทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ก็จะทำให้โรคเป็นหนักขึ้น และโอกาสที่จะกลับมาเป็นปกติลดลง

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ปกติจะเกิดจากการขาดอินซูลินหรือร่างกายดื้อต่ออินซูลิน การติดเชื้อโควิด 19 จะทำให้เซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่สร้างอินซูลินถูกทำลายได้ การติดเชื้อจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้อาการของโรคเบาหวานเกิดเร็วหรือรุนแรงขึ้น

คลินิก "ลองโควิด" (Long COVID) เปิดรักษาใน รพ. 9 แห่ง ทั่วกทม.

ฝึกหายใจฟื้นฟู "ปอด" หลังหายป่วยจากโควิด-19

สังเกตตัวเองเพื่อเช็กอาการลองโควิด (Long COVID)

อาการภาวะลองโควิด (Long COVID) บางคนอาจจะมีอาการ ไอ มีไข้ มีน้ำมูก ซึ่งผ่านไปเป็นสัปดาห์แม้จะรักษาโควิด 19 หายแล้วแต่ก็ยังมีอาการนั้นๆ อยู่ บางคนมีอาการเป็นสัปดาห์ หรือนาน 1-3 เดือนก็พบได้

ขณะเดียวกัน บางคนอาจจะเริ่มมีอาการลองโควิด (Long COVID) หลังจากหายจากโรคไปแล้วหนึ่งสัปดาห์ แต่หลังจากนั้นประมาณ 1-3 เดือน กลับเริ่มมีภาวะลองโควิด (Long COVID) เกิดขึ้นอีก ซึ่งอาการของแต่ละคนจะเกิดได้หลายลักษณะไม่เหมือนกัน เช่น

  • รู้สึกหายใจไม่สุด หายใจไม่อิ่ม เหนื่อย เพลีย เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
  • รู้สึกว่าคิดอะไรไม่ค่อยออก หัวตื้อๆ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความจำในระยะสั้น
  • รู้สึกใจสั่น วิงเวียน
  • มีอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • มีความผิดปกติของระบบประสาทการรับรู้การสัมผัส รู้สึกชาเหมือนมีอะไรมาทิ่มผิวหนังบริเวณมือ
  • อาการผมร่วง เนื่องจากโดยปกติแล้วการติดเชื้อไวรัสจะเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย เซลล์จึงถูกทำลาย หากเชื้อกระจายไปทำลายเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของรากผม ก็อาจทำให้ผมร่วงได้ง่ายขึ้น หรืออาจเกิดจากภาวะความเจ็บป่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็สามารถทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน

ติดเชื้อโควิด 19 ซ้ำ มีโอกาสเป็นภาวะลองโควิด (Long COVID) ซ้ำได้

ปกติแล้ว หากมีติดเชื้อมารอบแรกจบไป ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก รวมถึงยังมีโอกาสเกิดภาวะ Long COVID ซ้ำได้ด้วย แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีอาการมากหรือน้อยแตกต่างจากรอบแรกอย่างไร

เชื้อหมด ฤทธิ์ไม่หมด เช็กสุขภาพหลังหายจากโควิด-19

แนะอาหารผู้ป่วย "ลองโควิด" (Long COVID) เสริมวิตามินแร่ธาตุฟื้นฟูร่างกาย

การฟื้นฟูร่างกายเมื่อมีภาวะลองโควิด (Long COVID)

โดยรวมแล้ว ภาวะลองโควิด (Long COVID) ไม่มีการรักษาที่จำเพาะ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และอื่นๆ เช่น

  • การปรึกษาจิตแพทย์ : เมื่อมีปัญหาทางด้านจิตใจ อารมณ์ มีความเครียด หรือซึมเศร้า
  • การทำกายภาพบำบัดปอด : เมื่อมีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจไม่สุด หายใจไม่อิ่ม จะต้องฝึกการหายใจใหม่
  • การทำกายภาพบำบัดร่างกาย : คนที่รู้สึกเหนื่อย เพลีย กล้ามเนื้อไม่มีแรง และปวดเมื่อย จะเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน การวิ่งเยาะๆ เพื่อลดอาการภาวะลองโควิด (Long COVID) และฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงขึ้น

และอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า อาการลองโควิด (Long COVID) ยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง ทั้งนี้หากมีความสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม

ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลพญาไท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0