“ปาท่องโก๋” เป็นอาหารจีนชนิดหนึ่งที่คนไทยจำนวนมากรู้จักและคุ้นเคยกับรสชาติของมันอย่างกว้างขวาง เรามักกินปาท่องโก๋กับชา, กาแฟ, น้ำเต้าหู้ หรือกินกับโจ๊กเป็นอาหารเช้า กินกับนมข้นหวาน, สังขยาเป็นของว่างกันมานาน
แม้ปาท่องโก๋เป็นอาหารจีน แต่คนจีนไม่ได้เรียกมันว่า “ปาท่องโก๋”
ก่อนจะไปดูว่าชื่อเสียงเรียงนามที่แท้จริงของมันคืออะไร มาดูคำอธิบายเกี่ยวกับปาท่องโก๋จากฝ่ายไทยก่อน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำอธิบายไว้ว่า
(1) น. ของกินชนิดหนึ่งของจีน ทำด้วยแป้งข้าวเจ้ากับนํ้าตาลทราย รูปสี่เหลี่ยม เนื้อคล้ายขนมถ้วยฟู
(2) น. ของกินชนิดหนึ่งของจีน ทำด้วยแป้งสาลีตัดเป็นท่อนๆ แล้วจับเป็นคู่ติดกัน ทอดนํ้ามันให้พอง, คนจีนเรียกว่า อิ้วจาก๊วย
เมื่อดูคำอธิบายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ข้างต้น ปาท่องโก๋มี 2 ลักษณะ หากเป็นไปตามข้อ (1) จะดูแปลกหน้า แต่ไม่มีชื่อ ขณะที่ข้อ (2) มีลักษณะคุ้นเคยใกล้เคียงกับปาท่องโก๋ที่กินกัน แต่ชื่อกลับแปลกหู
ข้อ (2) นั้นสอดคล้องกับงานเขียนจำนวนไม่น้อยของนักเขียนและนักวิชาการ ที่ต่างก็อธิบายไปในแนวทางเดียวกันว่า “ปาท่องโก๋” ที่กินในไทย ชื่อจริงในภาษาแต้จิ๋วว่า “อิ้วจาก๊วย” (ขนมทอดน้ำมัน) หรือที่ภาษาจีนกลางว่า “โหยวจ้ากว่อ”
ไม่เพียงเท่านั้น ปาท่องโก๋ยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จีนเมื่อกว่าพันปีที่แล้ว
วรศักดิ์ มหัทธโนบล นักวิชาการจีนศึกษา อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า
“…คำว่า อิ้วจาก๊วย นี้เพี้ยนมาจากคำว่า อิ้วจาไขว่ หรือที่จีนกลางออกเสียงว่า โหยวจ้าฮุ่ย อันเป็นตำนานที่มาของขนมชนิดนี้…ตำนานนี้เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127-1279) เวลานั้นมีขุนนางผู้หนึ่งมีชื่อว่า ฉินฮุ่ย (ค.ศ. 1090-1155) เป็นขุนนางกังฉิน ขึ้นชื่อในความโฉดชั่วที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน…เป็นคนขายชาติจีนให้แก่พวกชนชาติจิน (หรือ กิม ในคำจีนแต้จิ๋ว) ให้ร้ายป้ายสีขุนนางตงฉิน ฉ้อราษฎร์บังหลวง…
ขุนนางที่ถูกความโฉดชั่วของฉินฮุ่ยกระทำจนถึงแก่ชีวิตก็คือ เยว่เฟย หรือที่คนไทยรู้จักในเสียงจีนแต้จิ๋วว่า งักฮุย ซึ่งเป็นขุนศึกผู้ซื่อสัตย์ต่อราชบัลลังก์และรักชาติ โดยเมื่อพวกจินยกทัพมารุกรานจีนนั้น เยว่เฟยและบุตรชายซึ่งเป็นนายกองก็กรีธาทัพเข้าโรมรันต่อกรจนได้รับชัยชนะ
แต่เนื่องจากฉินฮุ่ยได้รับผลประโยชน์จากการรุกรานของพวกจิน เขาจึงใส่ร้ายป้ายสีเยว่เฟยต่อองค์จักรพรรดิซึ่งพระองค์ทรงเชื่อตามนั้น จึงทรงเรียกตัวเยว่เฟยกลับมายังพระนครโดยไม่ต้องไปรบกับศัตรูอีก ครั้นพอกลับมาถึงก็ถูกฉินฮุ่ยจับกุมคุมขัง หลังจากนั้นจึงฆ่าทั้งสองพ่อลูกเสีย…
…สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) ในราชวงศ์นี้มีการสร้างศาลเจ้าเยว่เฟยขึ้นที่เมืองหางโจว เพื่อให้ชาวจีนได้สักการะในฐานะขุนศึกผู้รักชาติและซื่อสัตย์สุจริต โดยเบื้องหน้ารูปเคารพของเยว่เฟยจะมีรูปของฉินฮุ่ยกับภรรยาที่หล่อด้วยเหล็กนั่งในท่าคุกเข่าเยี่ยงผู้กระทำผิด เมื่อชาวจีนมาเคารพเยว่เฟยเสร็จก็จะหันมาถ่มน้ำลายใส่ฉินฮุ่ยกับภรรยาด้วยความเคียดแค้นเหยียดหยาม
กล่าวกันว่า หลังจากนั้นจึงมีการทำขนมโหยวจ้าฮุ่ยขึ้น โดยคำว่าฮุ่ยก็คือฉินฮุ่ยนั่นเอง ขนมนี้ทำด้วยแป้งตัดเป็นแนวยาวแล้วนำมาประกบติดกัน เพื่อแทนสองสามีภรรยาในท่าที่ผูกติดกัน จากนั้นนำไปทอดจนออกมาเป็นขนมโหยวจ้าฮุ่ย หรือโหยวจ้ากั่ว หรืออิ้วจาก๊วย…” [สั่งเน้นคำและจัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน]
ปัจจุบันที่ประเทศจีน คนส่วนใหญ่มักจะเรียกมัน [ปาท่องโก๋] อย่างย่อๆ ตามรูปทรงขนมที่เป็นเส้นทอดด้วยน้ำมันว่า “โหยวเถียว” ที่แปลตรงตัวว่า เส้นน้ำมัน ซึ่งปาท่องโก๋จีนมีความยาวกว่าปาท่องโก๋ที่ไทยประมาณ 1 เท่าตัว เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม ขณะที่ปาท่องโก๋ไทยจะกรอบนอกนุ่มใน
เมื่อปาท่องโก๋ที่กินกันทุกวันนี้ ไม่ได้มีชื่อเรียกว่าปาท่องโก๋ แล้วปาท่องโก๋ตัวจริงเป็นอย่างไร
วรศักดิ์ มหัทธโนบล อธิบายว่า “ปาท่องโก๋เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำจีนกวางตุ้งที่ออกว่า ปากถ่องโก๊ว จีนกลางออกว่า ไป๋ถังกาว (baitanggao) คำว่า ปา แปลว่า ขาว สีขาว คำว่า ท่อง แปลว่า น้ำตาล [น่าจะเป็นน้ำตาลทราย เพื่อขนมจะออกมาขาวสมชื่อ]และคำว่า โก๋ แปลว่า ขนมแป้งข้าวเจ้า เมื่อรวมกันเป็นคำว่า ปาท่องโก๋ ก็จะแปลตรงตัวได้ว่า ขนมน้ำตาลขาว กล่าวกันว่า ขนมชนิดนี้เป็นของคนจีนกวางตุ้ง มีหน้าตาเป็นรูปสี่เหลี่ยม เนื้อคล้ายขนมถ้วยฟู” [สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]
สรุปได้ว่า ปาท่องโก๋ตัวจริงทำจากแป้งข้าวเจ้า, น้ำตาลทรายขาว, น้ำ และทำให้สุกด้วยการนึ่ง ส่วนตัวปลอมทำจากแป้งสาลี, เกลือปริมาณเล็กน้อย, น้ำ และทำให้สุกด้วยการทอด ทั้งสองจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ส่วนที่ทำไมเรียกสับสนกันนั้น ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้
อย่างไรก็ตามในไทย เรายังต้องเรียกมันว่า “ปาท่องโก๋” ต่อไป เพราะถ้าเรียกด้วยชื่อที่ถูกต้องอื่นๆ รับประกันไม่ได้ว่าจะได้อะไรมากินตอนเช้ากับน้ำเต้าหู้ ชา กาแฟ หรือโจ๊ก ที่นี้แหละเป็นเรื่อง
อ่านเพิ่มเติม :
- “ซามารอเด็ง” หรือ “กือโป๊ะ” อาหารทานเล่นของคนใต้ ต้นตำรับ “ข้าวเกรียบปลา”
- เปิดข้อสันนิษฐาน คำว่า “ปลาเห็ด” มาจากไหน? ใช่อาหารชนิดเดียวกับ “ทอดมัน” หรือไม่!?
ข้อมูลจาก :
วรศักดิ์ มหัทธโนบล. คำจีนสยาม ภาพสะท้อนปฏิสัมพันธ์ไทย-จีน, สำนักพิมพ์อมรินทร์, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2565
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : รู้หรือไม่ “ปาท่องโก๋” จริงๆ ไม่ได้ชื่อนี้-หน้าตาแบบนี้ แล้วตัวจริงหน้าตายังไง?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
ความเห็น 1
plzcallmetaeng
ก็เหมือนที่คนไทยแทบทุกคนเคยเรียกขนมหวานชนิดหนึ่งของไทยที่ชื่อ "ดาราทอง" ว่า "จ่ามงกุฎ" นั่นแหละ กว่าจะแก้ให้เรียกกันแบบไม่ผิดฝาผิดตัวได้ ก็กินเวลาแทบจะค่อนศตวรรษเลยมั้ง แถมทุกวันนี้ก็(น่าจะ)ยังมีคนเรียกผิดอยู่ประปรายด้วยความเคยชิน
26 ก.พ. 2566 เวลา 16.00 น.
ดูทั้งหมด