โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

8 ข้อคิด ฝึกเมตตาตนเองให้เป็น | พศิน อินทรวงค์

พศิน อินทรวงค์

เผยแพร่ 05 ส.ค. 2562 เวลา 09.50 น.

1. เมื่อท่านมีความเมตตา ท่านมิได้ทำเพื่อใครเลย แต่ท่านทำเพื่อตนเอง เมตตาผู้อื่นเท่ากับเมตตาตนเอง โกรธแค้นผู้อื่น ก็ไม่ต่างอะไรกับการจุดไฟเผาใจตน จงเปลี่ยนมุมมองข้อนี้เสียใหม่ ท่านมิได้ให้อภัยเขา เพราะอยากให้เขาเป็นสุข แต่ท่านต้องให้อภัยเขา เพื่อสร้างความสุขให้ตัวของท่านเอง เมตตาผู้อื่นเท่ากับเมตตาตนเอง ขอให้ท่านตั้งทัศนคติไว้เช่นนี้ แล้วชีวิตของท่าน จะเป็นอิสระจากความโกรธ เกลียด ชิงชัง

2. “ฉันไม่แคร์” คำ ๆนี้คือคำลวงตา เหมือนว่าท่านพ้นไปจากความยึดมั่นถือมั่นแล้ว แต่เปล่าเลย เมื่อท่านเอยคำนี้ “ฉันไม่แคร์” ท่านกำลังหลงกลมานะอัตตาตนเอง มองให้ดีสิ กิเลสตนใดอยู่ภายใต้คำพูดประโยคนี้ ความชิงชังกำลังบงการท่านอยู่ เปลี่ยนจากคำว่า “ฉันไม่แคร์” เป็นคำว่า “ฉันเข้าใจ” ได้ไหม “ไม่เป็นไรหรอก ฉันเข้าใจแล้ว ฉันเป็นอิสระจากความทุกข์นั้นแล้ว” แม้ท่านคิดได้อย่างนี้ ท่านจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีเมตตาตนเองอย่างแท้จริง

3. ความเป็นผู้นำคือสิ่งลวงตา แม้ท่านรักตนเอง จงปรารถนาที่จะเป็นมิตรแท้ มากกว่าปรารถนาจะเป็นผู้นำ ความเป็นผู้นำแยกท่านออกจากเพื่อนมนุษย์ ท่านจะเหงา และไม่กล้าเปิดเผยตนเองกับใคร ทว่า ความเป็นมิตรแท้ ทำให้ท่านมีเพื่อนฝูงมากมาย ทำให้ท่านผ่อนคลายในความเป็นมนุษย์ธรรมดา ยิ่งท่านแบ่งแยกตนเองออกจากผู้อื่นมากเท่าไหร่ ความโดดเดี่ยวอ้างว้าง จะยิ่งทบถมพันเท่าหมื่นทวี

4. หมู ไก่ เป็ด ปลา มิใช่อาหาร แต่คือเพื่อนของท่าน หากท่านคิดอย่างนี้ ท่านจะรู้จักความสำรวม กินแต่พอดี ท่านติดรสชาติอาหารมามาก ฆ่าชีวิตด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มามาก นั่นทำให้ความละเอียดอ่อนในชีวิตหายไป หากท่านดื่มกินอาหารแต่ละจาน ด้วยความสำนึกว่า เพื่อนของท่านที่นอนเรียงรายอยู่ในจานข้าวใบโต เสียสละชีวิตเพื่อท่าน พวกเขายอมตาย เพื่อให้ท่านอยู่รอด ความรู้สึกเช่นนี้จะทำให้ท่านปีติสุข อาหารทุกจานจะกลายเป็นอาหารทิพย์ ท่านจะมีความสุข และสติทุกครั้งที่ได้ดื่มกิน นี่คือการรักตนเองที่ได้จากการดื่มกินอย่างมีเมตตา

5. ในแต่ละวันที่ท่านทำหน้าที่ ท่านจะเหนื่อย ท้อแท้มาก หากท่านคิดว่า สิ่งที่กำลังอยู่นี้ท่านจะได้รับอะไร ความคิดที่จะ “ได้” เป็นของหนัก แต่ความคิดที่จะ “ให้” เป็นของเบา จงถามตนเองว่า การงานของท่าน ช่วยใครบนโลกใบนี้ให้มีความสุขบ้าง แล้วใช้พลังตรงนั้นเป็นตัวขับเคลื่อน นี่คือการทำงานด้วยความเมตตา แต่จงระวังให้ดี กิเลสนี้ร้ายนัก บางครั้งมันหลอกลวงท่าน ทำให้ท่านคิดว่ากำลังทำเพื่อผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ท่านกำลังใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ สิ่งนี้อันตราย โปรดดูใจของตนให้ดี อย่าด่วนสรุปเรื่องนี้เร็วเกินไปนัก

6. แม้ท่านรักและเมตตาตนเอง ท่านจะตัดขาดตนเองออกจากความงดงามของธรรมชาติไม่ได้ จงรักธรรมชาติ รักต้นไม้ ภูเขา และท้องทะเล คำว่ารักมิใช่การเชยชม แต่คำว่ารักคือการโอบอุ้มดูแล แม้ท่านเดินทางไกลไปชมน้ำตก นั่นยังไม่เรียกว่ารักธรรมชาติ ท่านเพียงชอบชื่นชมธรรมชาติ ความชอบมิได้มีพลังพอให้ท่านเกิดความรู้สึกในการดูแลรักษา ความรักต่างหากที่ทำให้ท่านอยากจับจอบเสียม เดินทางไกลไปปลูกป่า จงรักธรรมชาติ จงเสียสละตนเพื่อดูแลโอบอุ้มธรรมชาติ แล้วท่านจะได้สัมผัสความเย็นกายเย็นใจ ธรรมชาติจะสอนให้ท่านเมตตาตนเอง ผ่านความกตัญญูรู้คุณต่อเหล่าสรรพสิ่ง ท่านจะได้เรียนรู้การลดละอัตตาตัวตน ความเมตตาและรักตนเองในทางที่ถูกที่ควร ในทางงดงาม จะบังเกิดแก่ท่าน

7. คำพูดมีพลังย้อมจิตย้อมใจ แม้เมตตาตนเองแล้ว จงเลือกใช้แต่วาจาภาษาดอกไม้ ภาษาดอกไม้มิได้วัดกันที่หยาบคายหรือสุภาพ หากแต่วัดกันที่ความจริงใจ และศูนย์กลางในการส่งสาร แม้ท่านเอ่ยถ้อยคำผ่านจิตใจที่งดงาม คำพูดอาจสั้นห้วน ทว่ามันได้กลายเป็นดอกไม้ของผู้ฟังอย่างสมบูรณ์แล้ว รักตนเองแล้วจงอย่าพูดจาทำลายจิตใจผู้อื่น รักตนเองแล้วจงอย่าริอาจเป็นคนขี้โกหก รักตนเองแล้ว จงใช้คำพูดด้วยเหตุด้วยผล ท่านจะรักและรู้สึกดีกับตนเองหากทำได้ ผู้อื่นก็จะรู้สึกดีกับท่านเช่นกัน

8. ความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นสามสิ่งที่ทำลายชีวิตของเรามากที่สุด อะไรหรือคือการรักและเมตตาตนเอง สนองความต้องการตนเองอย่างนั้นหรือ เรียกร้องความเข้าใจ เรียกร้องความรักจากผู้อื่นอย่างนั้นหรือ ดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จที่สุดอย่างนั้นหรือ เปล่าเลย ความรักตนเองมีความลึกซึ้งกว่านั้นมากนัก แม้ท่านรักตนเองแล้ว ท่านจำเป็นต้องเป็นผู้หาญกล้า กล้าทำลายความเห็นแก่ตัวของตน มีเพียงผู้กล้าเท่านั้นที่กล้าเป็นศัตรูกับความเห็นแก่ตัวของตนเอง เพราะความเห็นแก่ตัวกลืนกินชีวิตของท่านมาเนิ่นนาน ด้วยความไม่รู้ ด้วยความปล่อยปละละเลย ด้วยความเคยชิน ด้วยข้ออ้างทางสังคมอันว่าด้วยกระแสชีวิตบนพื้นฐานแห่งความจำเป็น 

เราจะเมตตาตนเองได้อย่างไรท่ามกลางยุคสมัยแห่งการแก่งแย่งช่วงชิง 

นี่คือคำถามสำคัญ ที่อาจต้องจริงจังในการแสวงหาคำตอบ 

การกระทำนั่นแหละคือคำตอบ 

หลายครั้งเราหลงผิดทำร้ายผู้อื่น โดยมิเฉลียวใจเลยว่า เรานี่เองคือผู้ฉีกวิญญาณของตนเป็นชิ้น ๆ อย่างโหดร้ายที่สุด

พศิน อินทรวงค์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 4

  • boonyasiri
    ขอบคุณมากค่ะ..ดีจริงๆบทความนี้..เข้าใจง่าย..สอนให้เราได้รู้จักวิธีจัดการกับสิ่งที่เปนตัวเราให้เปนไปในทิศทางที่ถูกที่ควร👍👍👍
    05 ส.ค. 2562 เวลา 22.01 น.
  • หนึ่ง
    สังคมทุกวันนี้เห็นแก่ตัว เราเองก็อาจเห็นแก่ตัวโดยไม่รู้ตัว เรียนรู้ตัวเองให้มาก ขอบคุณอาจารย์ครับ
    08 ส.ค. 2562 เวลา 13.19 น.
  • แต่หากว่าได้พิจรณาให้ดีๆแล้ว ในการเพื่อแผ่ก็สามารถที่จะสร้างกัลยาณมิตรที่ดีเพิ่มขึ้นมาได้เช่นกัน.
    06 ส.ค. 2562 เวลา 01.25 น.
  • Yongyuth
    เมตตา เป็นบารมี หมายถึงความดีที่สั่งสม เป็นตัวแรก ของพรหมวิหาร 4 พ่อและแม่ จึงเป็นพรหมของลูก เพราะมีเมตตา กรุณา ต่อลูก โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เป็นพระอรหันต์ของลูก ผู้ที่จะปล่อยวาง ด้วยอุเบกขาบารมี ก็ต้องอาศัยเมตตาบารมี ขาดเมตตาแล้ว การให้อภัย ย่อมเป็นไปไม่ได้ การปล่อยวาง ย่อมไม่มี อันนี้เป็นเรื่องของปัญญา และเมตตา นำไปสู่อุเบกขาบารมี
    02 พ.ย. 2562 เวลา 18.17 น.
ดูทั้งหมด