เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คำบางคำที่เคยใช้อาจมีความหมายเชิงความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับคำว่า “ผัว-เมีย” ในหมู่วัยรุ่นที่มักใช้กันแบบเปิดเผยตามสื่อสมัยใหม่ทั่วไป
ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของคำว่า “ผัว” ไว้ว่า สามี, ชายที่เป็นคู่ครองของหญิง ส่วนคำว่า “เมีย” หมายถึง ภรรยา, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย โดยที่คำว่า “คู่ครอง” หมายถึง หญิงและชายที่อยู่ร่วมกันฉันผัวเมีย
ผ่านิยามความหมาย “ผัว-เมีย” ของวัยรุ่น
ดร.ปุรินทร์ นาคสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ความหมายของคำว่า “ผัว-เมีย” ของเด็กยุคนี้ที่ใช้เรียกกันเป็นการใช้คำใช้ความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป คำว่า “ผัว-เมีย” อาจหมายถึงความสัมพันธ์ของคนที่คบกันเป็นแฟนหรืออาจมีความหมายถึงขั้นพฤตินัยที่มีความสัมพันธ์ทางเพศ หรืออาจยังไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศก็ได้ ซึ่งการใช้คำเหล่านี้ของวัยรุ่นในปัจจุบันหากศึกษาเรื่องการใช้คำจะพบว่า คำเหล่านี้สะท้อนถึงความใกล้ชิด ความเป็นพวกพ้อง ซึ่งพวกผู้ใหญ่อาจรู้สึกว่าฟังเด็กสมัยนี้พูดแล้วระคายหู ยิ่งสนิทกันมากก็จะมีคำพูดสารพัดสัตว์ โดยคำเหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงความใกล้ชิด
“ดังนั้นคำว่า “ผัว-เมีย” ไม่ใช่คำแรง แต่เป็นการแสดงสถานภาพและความผูกพันของพวกเขา แต่สำหรับผู้ใหญ่การที่จะใช้คำว่า “ผัว-เมีย” กับใครจะสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบ ภาระหน้าที่ การสมรส การสร้างครอบครัว ซึ่งเด็กยุคนี้ไม่ได้คาดหวังว่าจะยาวนานแค่ไหน แค่อยากบอกว่าตอนนี้มีความสุข อยากประกาศ ซึ่งวัยรุ่นจะเปลี่ยนสถานภาพเร็วมาก แต่พอเลยอายุช่วงวัยรุ่นจะพบว่าจะไม่ค่อยขึ้นสถานภาพความรักอย่างเปิดเผยมากนัก” ดร.ปุรินทร์ กล่าว
“ผัว-เมีย” ความหมายที่แตกต่างจากรุ่นสู่รุ่น
ดร.ปุรินทร์ กล่าวว่า คำว่า “ผัว-เมีย” ของคนรุ่นนี้กับคนรุ่นก่อน อาจไม่เหมือนกันแต่ก็อาจมีความคล้ายกัน เพราะสะท้อนความสัมพันธ์ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการร่วมหัวจมท้าย แต่คำว่า “ผัว-เมีย” ในปัจจุบันมองแค่ความใกล้ชิดความสัมพันธ์
ส่วนการแสดงสถานภาพความรักผ่านเฟซบุ๊กของวัยรุ่นสมัยนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามช่วงวัย ในอดีตไม่มีเฟซบุ๊กก็เปิดเผยแบบรู้กันในโรงเรียน ในห้องเรียน ในสังคมที่เราอยู่ แต่ปัจจุบันมีเฟซบุ๊ก ก็เปลี่ยนรูปแบบไปสู่โลกสาธารณะ ขณะที่การระบุสถานภาพความรักของวัยรุ่นในเฟซบุ๊กเป็นเหมือนการแสดงความเป็นเจ้าของ เป็นการแสดงออกในเรื่องเพศ การประกาศเพื่อให้รู้ว่าคนนั้นเป็นของเรา เป็นการแสดงกรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นเพียงช่วงวัยหนึ่งที่จะขึ้นสเตตัส หรือสถานะแบบนี้
สำหรับพฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการปฏิบัติตามความคาดหวังของสังคม ในเรื่องเพศ เรื่องความสัมพันธ์ที่จะมีเรื่องของความคาดหวังทางสังคมคอยกำกับ เพียงแต่ว่าการปฏิบัติตามความคาดหวังทางสังคมในอดีตค่อนข้างเคร่งครัดและเข้มงวด จนกระทั่งมีความพร้อมจึงจะอนุญาตให้ไปไหนกันสองต่อสอง นั่นหมายความว่าทั้งสองคนมีความพร้อมที่จะสร้างครอบครัวฉันสามีภรรยาจนปัจจุบัน ก็ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลง เพราะความคาดหวังของสังคมต่อเด็กคือการเรียนไม่ใช่การไปหาลูกเขยหรือลูกสะใภ้ให้พ่อแม่ เพียงแต่การปฏิบัติตามความคาดหวังเป็นเรื่องของการตอบสนองตัวเองเป็นหลักมากกว่าการตอบสนองความต้องการของครอบครัว ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีเด็กจำนวนหนึ่งมองว่าความสัมพันธ์นี้เป็นเรื่องส่วนตัว โดยไม่ได้มองว่าพ่อแม่มีความเป็นห่วง
ดร.ปุรินทร์ กล่าวว่า จากสถิติการตั้งครรภ์ ของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เด็กผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดที่ตั้งครรภ์อายุประมาณ 12-13 ปี ส่วนเด็กผู้ชายที่เป็นพ่อคนอายุ 9 ขวบ ซึ่งสะท้อนว่าปัจจุบันเด็กในระดับประถมศึกษา ก็มีคู่ผัวตัวเมียและมีการใช้คำว่า “ผัว-เมีย” ค่อนข้างชัดเจน
ส่วนคำว่า “สามีแห่งชาติ” เป็นการแสดงความชอบ เป็นการแสดงความอยากได้ อยากครอบครอง ซึ่งสามีในที่นี้ใช้ในเรื่องของการมโน หรือจินตนาการว่าคนนี้คือคนรักของเรา ซึ่งคำว่า “สามี” มีความหมายในหลายมิติ ความปรารถนา ความต้องการ เพียงแต่ความหมายไม่ได้ถูกนำไปพัฒนาเป็นครอบครัวตามสังคมอุดมคติ ที่คนเป็นครอบครัวกันต้องผ่านพิธีกรรมการสมรส
ดร.ปุรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับสื่อโซเชียลมีเดียแม้จะเป็นการโพสต์เรื่องส่วนตัวแต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่สื่อส่วนตัว แต่เป็นสื่อสาธารณะ ต้องระวังในการนำมาใช้งาน เพราะอาจกลายเป็นอาวุธที่กลับมาทำร้ายตัวเราเอง พร้อมแนะนำการใช้เฟซบุ๊กให้อยู่ในขอบข่ายความพอดีในการแสดงออก โดยตัวเด็กเองต้องเข้าใจความเป็นห่วงของพ่อแม่ และรู้จักวิธีป้องกันตนเอง การพูดเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องต้องห้ามเหมือนในอดีต
เปิดใจวัยรุ่นกับนิยาม "ผัว-เมีย" ในสเตตัสเฟซบุ๊ก
น้องอ๋อม นักเรียนชั้น ม.6 ผู้ที่โพสต์แสดงสถานภาพความรักแบบเปิดเผย ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลที่แสดงสถานภาพความรักผ่านเฟซบุ๊ก เพราะต้องการสื่อข้อความถึงคนรัก หรือคนที่เราแอบชอบว่าเรารู้สึกอย่างไร โดยสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในการใช้แสดงความรัก ขณะที่การใช้เฟซบุ๊กในการโพสต์และตั้งสเตตัสเกี่ยวกับความรักไม่มีใครแนะนำ เป็นสัญชาตญาณ เพราะเมื่อเรามีความรู้สึกรักหรือไม่สบายใจก็อยากจะระบาย ยิ่งเราทะเลาะกันก็อยากให้อีกฝ่ายง้อ ดีกว่าเก็บไว้ในใจไม่รู้ความรู้สึกของกันและกัน และทำให้อึดอัด ซึ่งช่วงที่หวานแหววก็จะโพสต์หวานๆ โพสต์รูปคู่ ส่วนช่วงทะเลาะกันก็จะโพสต์บอกผ่านหน้าวอลล์เฟซบุ๊ก
น้องอ๋อม ให้ความเห็นว่า การโพสต์เรื่องความรักผ่านเฟซบุ๊กไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะคนที่เห็นก็เป็นเพื่อนๆ กัน ส่วนการตั้งค่าเฟซบุ๊กเป็นสาธารณะซึ่งคนอื่นเห็นได้ด้วยนั้น การจะโพสต์ข้อความก็ต้องดูให้ดีก่อนโพสต์ ไม่ใช้คำหยาบคายเกินไป
ต่อคำถามที่ว่าถ้าเกิดเลิกรากันไปจะลบโพสต์ที่เคยโพสต์ตอนรักกันหรือไม่ น้องอ๋อม บอกว่า ส่วนตัวไม่ลบ เพราะในเฟซบุ๊กจะมีการเตือนว่าวันนี้ในอดีตเราทำอะไรโพสต์อะไร ก็จะนำมาใช้ในการเตือนตนเองและใช้ปรับปรุงตนเอง แต่เพื่อนบางคนก็ลบโพสต์เพราะไม่อยากให้อดีตมาตอกย้ำหรือทำร้ายปัจจุบัน
ส่วนการโพสต์โดยการใช้คำว่า "ผัว-เมีย" ในการเรียกแฟน น้องอ๋อม อธิบายว่า เป็นคำธรรมดาที่ใช้เรียกแฟน ซึ่งอาจมีเพศสัมพันธ์กันแล้วหรือยังไม่มีก็ได้ ซึ่งคำนี้อาจไม่เหมือนกับคนในอดีตที่ต้องแต่งงานกันแล้วถึงใช้คำเรียกว่า "ผัว-เมีย" โดยคำเรียก "ผัว-เมีย" มีที่มาจากการดูละครที่ตัวละครวัยรุ่นใช้เรียกกัน ขณะที่คำว่า "สามีแห่งชาติ" ก็มีที่มาจากการเรียกดาราผู้ชายที่ชื่นชอบ สำหรับกลุ่มวัยรุ่นน่าจะเริ่มมาจากนักแสดงชายเกาหลี "ซงจุงกิ" ที่ทำให้เกิดคำเรียก “สามีแห่งชาติ”
งานวิจัย “การแสดงสถานภาพความรักผ่านเฟซบุ๊กของวัยรุ่นไทย” ชี้ชัด “ผัว-เมีย” ความหมายเปลี่ยน
สิ่งที่กล่าวข้างต้น สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง “การแสดงสถานภาพความรักผ่านเฟซบุ๊กของวัยรุ่นไทย” ของ ผศ.ศุภนิตย์ วงศ์ทางสวัสดิ์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาเอกวารสารศาสตร์ดิจิทัล สาขาวิชานวัตกรรมสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับการแสดงสถานภาพความรักผ่านเฟซบุ๊กของวัยรุ่นไทย หรือ เจนเนอเรชันแซด เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กมาก และใช้งานเฟซบุ๊กสูงเกือบครบ 100 % โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างเป็นวัยรุ่นช่วงอายุ 13-22 ปี การเก็บข้อมูลใช้วิธีการสุ่มจากชื่อบัญชีของเฟซบุ๊กที่เจ้าของเป็นวัยรุ่นทั่วประเทศมาเป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 502 คน ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา โดย 312 คน หรือคิดเป็น 62.15 % ไม่มีการแสดงสถานภาพความรักผ่านเฟซบุ๊ก ส่วน 190 คน หรือคิดเป็น 37.84 % มีการแสดงสถานภาพความรักผ่านเฟซบุ๊ก เก็บข้อมูลช่วง 3-9 ตุลาคม 2560
จากผลการวิจัย พบว่า ในส่วนของคนที่มีการแสดงสถานภาพนั้น คนที่ระบุว่าโสด/ยังไม่มีคู่ ใช้การระบุสถานภาพความรักอันดับที่ 1 คือ การตั้งค่าตามที่ระบบเฟซบุ๊กมีให้เลือก คือ โสด จำนวน 39 คน รองลงมาคือ ระบุสถานภาพความรักด้วยการใส่ข้อมูลด้วยตนเอง เช่น โสดตัวคนเดียว แฟนยังไม่มี จำนวน 21 คน และอันดับที่ 3 คือ การใส่ข้อความที่ทำให้รู้ว่ายังไม่มีคู่ เช่น ชอบพูด ชอบอ่อย ชอบเราหน่อย เราโสด อยากรู้จักว่าเป็นใครก็ทักมา ทักได้ไม่หยิ่ง จำนวน 5 คน โดยมีการใช้เบอร์โทรศัพท์ ไลน์ไอดี ชื่ออินสตาแกรม เป็นอันดับน้อยที่สุดจำนวน 2 คน
ส่วนคนที่ระบุว่ามีคู่แล้ว ผลการวิจัยพบว่า ใช้การระบุสถานภาพความรักอันดับที่ 1 คือ การระบุชื่อแฟนไว้ที่ช่องนิกเนม/ชื่ออื่นของเฟซบุ๊กของตนเอง จำนวน 16 คน รองลงมาคือ การระบุวันที่เริ่มคบหากับแฟนไว้ที่ช่องนิกเนม/ชื่ออื่นของเฟซบุ๊กของตนเอง จำนวน 15 คน และอันดับที่ 3 คือ การใส่ข้อความที่ทำให้ทราบว่ามีคู่แล้ว เช่น เมีย/ภรรยา/แฟน/คนของ(ชื่อแฟน) จำนวน 14 คน โดยมีการใช้ชื่อแฟนเป็นชื่อเฟซบุ๊กแทนชื่อตนเอง เป็นอันดับสุดท้าย จำนวน 2 คน
สำหรับมูลเหตุจูงใจในการแสดงสถานภาพความรักผ่านทางเฟซบุ๊ก พบว่า อันดับแรกคือ เพื่อป้องกันคนอื่นมายุ่งกับแฟน จำนวน 12 คน รองลงมาคือ ภูมิใจในตัวแฟน เช่น แฟนหน้าตาดี เรียนเก่ง น่ารัก นิสัยดี จำนวน 7 คน อันดับที่ 3 และอันดับที่ 4 คือ อยากอวดแฟนให้คนอื่นรับรู้ให้อิจฉา และทำตามกระแสทำตามเพื่อน จำนวนอย่างละ 4 คน และอันดับสุดท้ายคือ อื่นๆ เช่นเพื่อเปิดเผยแสดงความรักในเพศวิถีของตน เป็นช่องทางบอกรัก และไม่ทราบว่าทำไปเพราะอะไร จำนวนอย่างละ 1 คน
ขณะที่ ผลการวิจัยที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก ระบุว่า วัยรุ่นมองว่า เฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในการบอกรัก และแสดงออกเรื่องความรัก เป็นพฤติกรรมปกติที่ทำกันในหมู่วัยรุ่น ส่วนแรงจูงใจที่อยากเปิดเผย เพราะต้องการให้คนอื่นๆ รู้ว่าคนนี้มีแฟนแล้ว ป้องกันไม่ให้คนอื่นมายุ่ง แต่หากอนาคตเกิดการเลิกรากับแฟนที่คบหากันในปัจจุบันก็ อาจเก็บโพสต์ไว้เพียง 1-2 % เพื่อเป็นการบันทึกเรื่องราวชีวิต
ส่วนการเรียกแฟนว่า “ผัว-เมีย” ในการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ทั้งที่ยังไม่ได้สมรสกันอย่างเป็นทางการ ผลการวิจัย ระบุว่า วัยรุ่นมองว่าเป็นเพียงเรื่องหยอกล้อกันเพื่อความสนุกสนาน เพราะบางคู่มีเพศสัมพันธ์กันแล้วจะมีความสนิทสนมกับแฟนมากจนใช้คำนี้ แต่บางคู่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์กันก็จะใช้คำเรียกกันแบบนี้เพื่อหวังให้ความรักยาวนานจนแต่งงานกันเป็นสามีภรรยา หรือแก่เฒ่าไปพร้อมกัน
ที่มางานวิจัยเรื่อง “การแสดงสถานภาพความรักผ่านเฟซบุ๊กของวัยรุ่นไทย”
ผศ.ศุภนิตย์ วงศ์ทางสวัสดิ์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาเอกวารสารศาสตร์ดิจิทัล สาขาวิชานวัตกรรมสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงแนวคิดในการทำงานวิจัยเรื่องนี้ว่า เกิดจากการทำโปรโมตเพจของกลุ่มวิชาเอกผ่านเฟซบุ๊กและเจอพฤติกรรมของวัยรุ่นช่วงอายุระหว่าง 13-22 ปี ที่แสดงความรักในหลากหลายแบบ จึงสนใจที่จะทำวิจัยเรื่องนี้ เนื่องจากพบว่าเป็นพฤติกรรมในการแสดงออกทางความรักที่ต่างไปจากในอดีต
ผศ.ศุภนิตย์ ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่าประมาณ 40% ของกลุ่มตัวอย่างมีการแสดงออกด้านความรัก โดยคนที่เป็นโสดจะระบุสถานะปกติ ส่วนคนมีคู่จะแสดงสถานะความรักที่หลากหลาย เช่น ใช้ภาพถ่ายคู่กัน แท็กชื่อแฟน ระบุว่า กำลังคบหากับคนนี้ โดยที่แปลกไปคือมีการเรียกขานแฟนว่า “ผัว-เมีย” บางคนก็ระบุว่า ตนเองเป็นผัวของใคร เมียของใคร และมีการใช้ข้อความต่างๆ เช่น “เมียคุม” “ผู้หญิงห้ามทัก” “มีเมียแล้ว” “รักเมียมาก” “แฟนขี้หึง” โดยมูลเหตุจูงใจเป็นเพราะวัยรุ่นรู้สึกว่า ความรักยังไม่มั่นคง อยากให้คนอื่นอิจฉาและทำตามกระแส
ผศ.ศุภนิตย์ ให้ความเห็นว่า วัยรุ่นกลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยนี้เป็นกลุ่มคนเจนเนอเรชัน แซด สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องปกติในวัยของเขา ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี และมีเพื่อนในสังคมเสมือน จึงใช้สื่อโซเชียลเป็นช่องทางในการให้ข้อมูลส่วนตัวในเรื่องของความรัก ซึ่งการเลือกโพสต์บางอย่างก็อาจได้รับผลกระทบในอนาคต เช่น เมื่อถึงวัยที่ต้องไปสมัครเข้าทำงาน บริษัท หรือนายจ้างอาจย้อนดูพฤติกรรมและสิ่งที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กก็เป็นได้
นอกจากนี้ ผศ.ศุภนิตย์ กล่าวแนะนำว่า การใช้งานเฟซบุ๊กเพื่อแสดงออกถึงความรักต้องใช้งานอย่างรู้เท่าทัน ทั้งการเลือกโพสต์รูปภาพและข้อความ เพราะบริบทของสังคมไทยเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเช่นกัน และที่ลืมเสียมิได้คือสิ่งที่เราโพสต์คือประวัติชีวิตของเรา ที่ใครๆ ก็มีโอกาสได้รับรู้และบันทึกเก็บไว้ได้ จึงต้องระมัดระวังการใช้งานไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลัง
วาเลนไทน์นี้ขอให้ทุกคนมีความรักที่สดใส และใช้เฟซบุ๊กแสดงออกได้อย่างเหมาะสมและรู้เท่าทัน
สวัสดีวันแห่งความรัก 2561
ความเห็น 4
R @ R
คำเดิม meaning ใหม่
14 ก.พ. 2561 เวลา 02.17 น.
Again
เศร้าใจ รอบตัวเยอะมาก เกิดมาก็เหมือนจะอยากจับคุ่อย่างเดียว คิดเยอะกว่านั้นหน่อย รุ้สึกห่วงอนาคตประเทศ
14 ก.พ. 2561 เวลา 02.52 น.
จัยมันรัก
ภาษาไทยวันละคำเหรอ
14 ก.พ. 2561 เวลา 03.53 น.
👋
ผู้ใหญ่บางคนโลกแคบ ทั้งๆที่ตัวเองก็เคยเป็นเด็ก ตลกดี
14 ก.พ. 2561 เวลา 03.21 น.
ดูทั้งหมด