โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สิ่งที่สร้างความสะเทือนใจมากที่สุดก็คือ 'อารมณ์ฟุ้ง' โดย 'หลวงพ่อฤาษีลิงดำ'

แนวหน้า

เผยแพร่ 04 มิ.ย. 2563 เวลา 12.32 น.

บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัทรวบรวมกำลังใจให้เป็นสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกมีความสำคัญ เพราะว่าการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกนี่เป็นกรรมฐานระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทอย่าทิ้งอารมณ์นี้เสีย ถ้าขณะใดมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ขณะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านจงวางคำภาวนาและพิจารณาเสียให้หมด เอาจิตเข้าไปกำหนดจับลมหายใจเข้าหายใจออก และจงอย่าลืมว่าการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกนี้ อย่าบังคับลมหายใจให้แรงหรือเบา ให้ยาวหรือให้สั้น ปล่อยลมหายใจไปตามปกติเพื่อความสบายใจของจิต

หลังจากนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัทจับลมหายใจเข้าออกว่า เวลานี้เราหายใจเข้าหรือว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือหายใจเข้าสั้น จนกว่าจิตจะสบาย กรรมฐานกองนี้มีความสำคัญมาก บรรดาท่านทั้งหลายมักจะพูดกันอยู่เสมอว่ารวบรวมกำลังใจไม่ได้ ใจมันฟุ้งซ่าน การกำหนดรู้ลมหายใจก็อย่ากำหนดให้นานเกินไป ถ้าเห็นว่านานเกินไป ทนไม่ไหวก็เลิกปล่อยอารมณ์คิดไปตามปกติ

ต่อแต่นี้ไปก็จะนำเอาปฏิปทาของท่านที่ปฏิบัติมาแล้วในชาติปัจจุบันนี้ คือในปัจจุบัน คำว่าปัจจุบันก็หมายความว่าในชีวิตเราๆ สำหรับท่านผู้นี้มีปฏิปทาการปฏิบัติเต็มไปด้วยความยากเข็ญ ก็เห็นจะเหมือนกับพวกเราๆ นี่เอง แต่ว่าในที่สุด อาศัยท่านทรงอิทธิบาททั้งสี่ประการครบถ้วนและก็เป็นท่าเอาจริงเอาจัง ตามสมุดบันทึกปรากฏว่าท่านสามารถเอาชนะกำลังจิตได้อย่างที่เราคาดไม่ถึง

คาดไม่ถึงก็หมายความว่า คนสมัยหนึ่งมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เวลานี้ไม่มี ฌาณสมาบัติไม่มีมรรคไม่มีผล ไม่มีพระอริยะเจ้า สำหรับสมุดบันทึกฉบับนั้นที่สามารถค้นคว้าหาเอามาได้จากปฏิปทาของท่านผู้เฒ่าที่บันทึกไว้ จะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับท่านพุทธบริษัท จึงจะขอนำเอาบันทึกของท่านมาแนะนำกับบรรดาท่านพุทธบริษัทถึงปฏิปทาของคนปัจจุบัน ความจริงก็ไม่ใช่ปัจจุบันนัก เวลากาลผ่านมามากเหมือนกัน รู้สึกว่าในระยะตอนต้นท่านก็ต่อสู้มาหนัก เอามาเล่าสู่กันฟังจะได้เป็นปฏิปทาของท่าน ท่านผู้เฒ่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ไม่ขอบอก เพราะว่าในสมุดบันทึกไม่ได้บอกว่าเป็นใคร ถ้าหากว่าจะถามว่าจะเชื่อได้อย่างไรว่ามีตัวมีตนอยู่ ก็ขอรับรองในฐานะที่ท่านเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครูปฏิปทาเริ่มต้นของท่านมีดังนี้

อันดับแรกก็เจริญพระกรรมฐานอย่างพวกเราๆ อารมณ์ของท่านก็เหมือนอารมณ์ของเรานี่เอง สิ่งที่จะต้องต่อสู้หนักนั่นก็คือ อารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต คำว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิตนี่มันฟุ้งหลายแบบ คือฟุ้งไปในอารมณ์ของความรักในระหว่างเพศ ฟุ้งไปในอารมณ์ของความโกรธ ฟุ้งไปในอารมณ์ของความผูกโกรธ ฟุ้งไปในอารมณ์ของความหลง ฟุ้งไปในอารมณ์ของความทะเยอทะยาน อาการทะเยอทะยานก็มี

ประการที่หนึ่ง อาการอยากจะมีความรู้ให้เลิศกว่าบุคคลอื่น

ประการที่สอง อยากจะมีจริยาเด่นกว่าคนอื่น

ประการที่สาม อยากจะมีฤทธิ์ อยากจะมีเดช

ประการที่สี่ อยากจะบรรลุ มรรค ผล ทำตนให้ขั้นปฏิสัมภิทาญาณ

แต่ความฟุ้งอย่างนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน มันเป็นของไม่ดี นี่เราคุยกันแบบย่อๆ จะขอนำปฏิปทาต้นๆ ของท่าน คือจะขอนำประวัติการประพฤติปฏิบัติ ท่านเล่าไว้ในประวัติของท่าน บอกว่ามีอารมณ์ฟุ้ง

อันดับแรกก็มีการแก้อารมณ์ฟุ้งเป็นสำคัญ พอเข้ามาศึกษากับครูบาอาจารย์ บรรดาครูบาอาจารย์สมัยนั้นท่านก็เป็นครูจริงๆ คำว่าครูจริงๆ ก็หมายความว่าสอนกันครั้งเดียว ขึ้นชื่อว่าคำสอนไม่พยายามสอนเป็นวาระที่สอง อะไรก็ตามถ้าบอกไปแล้ว ถ้าจำไม่ได้ในสมัยที่ขณะบอกให้ทวนถาม ถ้าไม่ถามถือว่าเข้าใจ ถ้าขณะที่สอนไปจุดใดจุดหนึ่ง ถ้าจุดนั้นยังทำไม่ได้ ไม่ยอมสอนต่อ การสอนแบบนี้ก็ดีสำหรับนักปฏิบัติผู้เอาจริงเอาจัง และก็เป็นปัจจัยสร้างความอุตสาหะ วิริยะ ให้แก่คณะศิษยานุศิษย์ ซึ่งผิดกับคำสอนในสำนักของเรา ผมก็รู้สึกว่าคำสอนในสำนักของเรานี้มันเฟ้อเกินไป มีความรู้สึกว่าอย่างนั้น ในกาลบางครั้ง เราจะเห็นว่ากำลังใจของท่านนักปฏิบัติที่อยู่ประจำ มองดูแล้วบางท่านบางทีก็ยังไม่ได้อะไรเลยก็มี แต่ว่ามีความหลงผิดคิดว่าเป็นผู้เลิศ นี่ต้องระวังไว้ให้มาก อย่าดูใจคนอื่น อย่าดูจริยาของบุคคลอื่น ดูแต่ใจของเราเองเป็นสำคัญ มาว่ากันถึงการแก้อารมณ์ฟุ้งของท่านผู้เฒ่า

ในอันดับแรกตามที่ท่านบันทึกไว้ ท่านบอกว่าสิ่งที่มันจะสร้างความสะเทือนใจมากที่สุดก็คือ อารมณ์ฟุ้ง มันฟุ้งทุกอย่าง บางทีเช้าฟุ้งไปอย่างหนึ่งในด้านอารมณ์ของความรัก ทั้งๆ ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา พยายามปฏิญาณตนไว้แล้วว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า เราขอรับผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน นี้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็ได้สมาทานพระกรรมฐานไว้แล้วว่า อิมาหัง ภควา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจจัชฌามิ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่ามอบกายถวายชีวิตก็หมายความว่า จะไม่ทำกิจใดๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ผิดต่อพระพุทธพจน์บทพระบาลี เพราะว่าสิ่งใดที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่า ไม่ควรจะไม่ทำอย่างนั้น สิ่งใดที่องค์พระภควันต์ทรงแนะนำส่งเสริมให้ปฏิบัติจะทำอย่างนั้น

อันดับแรกจะทำเอาจิตเข้าฌานให้จงได้ ท่านกล่าวว่าแม้แต่ตั้งใจไว้อย่างนี้ ความเลวของจิตก็ยังปรากฏ มันฟุ้งทุกแบบ อาการแรกที่ครูบาอาจารย์สอน ท่านบอกว่า หนึ่ง ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก วิธีกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกก็ปล่อยอารมณ์ธรรมดา ให้มันหายใจธรรมดา คือว่าไม่ฝืนลมหายใจธรรมดา ไม่บังคับให้แรง ไม่บังคับให้เบา ไม่บังคับให้ยาว ไม่บังคับให้สั้น ให้มันอยู่ตามปกติของมัน เวลาหายใจเข้า พระอาจารย์สอนให้นึกว่า พุท เวลาหายใจออกให้นึกว่า โธ แล้วครูบาอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าหากปฏิบัติอย่างนี้ ขณะใดที่จิตรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ขณะใดจิตรู้คำภาวนาว่า พุทโธ ขณะนั้นจิตเป็นสมาธิ ท่านสอนไว้เพียงเท่านี้ แล้วท่านก็ทิ้งท้ายว่า ถ้าเธอยังทำไม่ได้ จงอย่ากลับมาหาฉัน

นี่เป็นคำสอนและก็เป็นคำสั่งของอาจารย์ การรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก การรู้คำภาวนา พุทโธ เป็นคำสอน แต่ว่าคำสั่งก็คือคำว่า ถ้าเธอยังไม่สามารถทำได้ ยังไม่สามารถชนะจิตได้ ถ้าเธอยังอดทิ้งอารมณ์ทั้งสองประการ ไม่สามารถจะบังคับอารมณ์จิตให้ทรงอยู่ได้เป็น เอกัคตารมณ์

 

 

คำว่า เอกัคตารมณ์ก็คือว่า ไม่ลืมคำว่า พุทโธ ไม่ลืมกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และขณะที่ใช้คำภาวนาว่า พุทโธ ขณะที่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก จะไม่ยอมให้สิ่งอื่นเข้ามามีอำนาจเหนือใจ และพระอาจารย์ท่านยังแนะนำอีกว่า ในขณะที่เราฝึกใหม่ จะชนะใจของตนตลอดเวลาที่เราทรงจิตตั้งอารมณ์ไว้เฉพาะเวลาไม่ได้ มันก็มีเวลาที่อารมณ์จะฟุ้งไปสู่อารมณ์อื่นได้บ้าง เป็นของธรรมดา แต่ว่าเมื่อมันซ่านไปก็ดึงเข้ามา ในเมื่อมันซ่านไปใหม่ เมื่อรู้สึกตัวก็ดึงเข้ามาใหม่จนกว่าเราจะชนะใจ คือทรงอารมณ์ได้ตามเวลาที่เราตั้งไว้เวลาสั้นๆ

ท่านบอกว่าคำแนะนำตอนต้นของอาจารย์ท่านบอกไว้เพียงเท่านี้ แล้วท่านก็พยายามหาทางฝึกทุกอย่าง หาสถานที่สงัดจากเสียง สงัดจากบรรดาสถานที่ที่เต็มไปด้วยคนหรือประชาชน หามุมสงัดนั่งสมาธิด้วยการขัดสมาธิสองชั้นบ้าง นั่งพับเพียบบ้าง นั่งเอนกายบ้าง นั่งห้อยขาเอาหลังพิงเสาบ้าง พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก

ท่านบอกว่าตอนแรกมันง่ายเหลือเกิน รู้สึกว่าพระกรรมฐานนี่ไม่มีอะไรยาก เพียงแค่นี้น่ะรึที่จะเกินวิสัยเรา แต่ว่าทำเข้าจริงๆ บางคราวมันก็สามารถจะรักษาอารมณ์ยาวได้เวลา ๕ นาที ๑๐ นาที คือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกพร้อมกับคำภาวนา คือหายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ แต่ว่าในกาลบางครั้งท่านบอกว่ามันกลุ้มกลัดจริงๆ แม้แต่เพียงจะตั้งอารมณ์ไว้สักเพียงสองนาทีก็ทรงอารมณ์ไม่อยู่ ครั้นจะไปหาท่านครูให้แก้อารมณ์ ท่านก็สั่งไว้ว่า ถ้าเธอไม่สามารถจะรักษาอารมณ์นี้ไว้ได้ไม่ต้องเข้ามาหาฉันอีก บรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย ครูสมัยนั้นดุเกินไป แต่ความจริงถ้าคิดว่าครูสมัยนั้นดุเกินไปละก็ยังน้อยเกินไป คือว่าน้อยเกินไปสำหรับกฎที่องค์พระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน

สมัยนั้นองค์สมเด็จพระชินวรทรงสอนอย่างย่อแต่ต้นยันอรหัตผล เมื่อสอนแล้วองค์สมเด็จพระทศพลก็ทรงส่งคนพวกนั้นเข้าป่า เมื่อท่านศึกษาอยู่ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง พระพุทธเจ้าไม่เคยพูดกับใครถึงชั่วโมง ไม่เคยเจอบทคำสอนตอนไหนเลยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรสอนถึงหนึ่งชั่วโมง อย่างมากเราถือว่าหนึ่งชั่วโมงก็แล้วกัน การสอนถึงหนึ่งชั่วโมงนี่จะมีอะไรกันบ้าง ลองมาวาดภาพกันดู แต่เมื่อองค์สมเด็จพระบรมครูทรงสอนแล้ว ก็ส่งพระพวกนั้นเข้าป่าไปเลย ไม่ต้องกลับมาหากันอีก แต่ว่าบรรดาท่านทั้งหลายเหล่านั้นเข้าป่าไปแล้ว กว่าจะเข้ามาพบองค์สมเด็จพระประทีปแก้วบางทีก็ไม่ถึงพรรษา บางท่านก็จำพรรษาในป่า บรรลุอรหัตผลก่อน ออกพรรษาแล้วก็มาเฝ้าองค์สมเด็จพระชินวร

เป็นอันว่าสมัยนั้นพระพุทธเจ้าทรงส่งช้างให้แบก แต่ท่านก็แบกกันได้ ถ้าจะบอกว่าบารมีท่านเต็ม ก็อย่าลืมว่า บารมีแปลว่ากำลังใจ ท่านทั้งหลายเหล่านั้นท่านมีกำลังใจฉันใด พวกเราก็มีกำลังใจฉันนั้น

คำสอนขององค์สมเด็จพระภควันต์ยังอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์ ยังไม่ได้สลายตัวไปจากโลกนี้ ในบันทึกฉบับนั้น ท่านบอกว่ามานึกถึงตอนนี้ก็มาคิดในใจว่า ถ้าเราชนะไม่ได้นี่จะยอมตายเสียดีกว่า จะไม่เข้าไปหาอาจารย์จนกว่าจะชนะจิตเบื้องต้น

คำว่าชนะในตอนนี้พระอาจารย์บอกว่า ถ้าหากเธอจะปฏิบัติได้ถึงฌานสี่ก็ยิ่งดี ถ้าไม่ได้ฌาน ก็ให้ได้ธรรมปีติ ปีติคือความอิ่มใจ แล้วก็การโกหกอาจารย์ท่านทั้งหลายไม่มีผล ถ้าพระอาจารย์องค์ใดท่านปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระทศพลจนขั้นได้เจโตปริยญาณ สามารถรู้อารมณ์ใจของเรา เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ ท่านบอกว่าอย่างนั้น

แล้วทำอย่างไรเล่า อารมณ์ฟุ้งตอนนี้ ใช้คำภาวนาว่าพุทโธสามรอบก็ไม่ไหว บางคราวมันก็ดี ท่านก็เลยจัดหาวิธีใหม่ สิ่งที่อาจารย์สอนตอนนั้นต้องกล่าวว่ามันละเอียดเกินไปสำหรับใจของท่าน ท่านจะหาลูกประคำท่านก็หาไม่ได้ เพราะเข้าไปอยู่ในป่าช้า เข้าไปอยู่ในป่าชัฏ เข้าไปอยู่ในที่สงัด ลูกประคำเขาไม่มีขายเกลื่อนกลาดเหมือนสมัยนี้ หาอะไรดี ก็ไปเอาเม็ดกรวดมากำมากี่เม็ดก็ตาม เอามากอบหนึ่ง กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึก โธ หยิบเม็ดกรวดจากกองออกไปวางข้างนอก ๑ เม็ด หายใจเข้าว่า พุท ออกว่า โธ หยิบไปเม็ดหนึ่ง ทำกันอย่างนี้ ตั้งใจไว้ว่าถ้าเราชนะอารมณ์จิตเท่าเม็ดกรวดที่มีอยู่นี้ไม่ได้ เราจะไม่ยอมเลิก เราจะยอมตาย

ตามบันทึกท่านบอกว่า ใหม่ๆ เกือบจะดิ้นตาย ว่าไปสองสามเม็ดเท่านั้นมันดิ้นพังเสียแล้ว มันไม่ยอมเอาด้วย คือหมายความว่ามันไม่ยอมจะทรงอยู่ พอว่า พุทโธเม็ดหนึ่ง พุทโธเม็ดสอง พอพุทโธที่สาม พุท ไม่ทัน โธ อารมณ์อาการอย่างอื่นมันก็เข้ามาแทรก มันคิดแซงเข้ามา เห็นท่าจะไปไม่ไหว ทำอย่างไร ต่อสู้กันไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ใช้ปัญญาด้วยตนเอง

คราวนี้ลุกขึ้นเดิน เดินวนไปวนมา วนมาวนไป มันจะคิดอะไรก็ช่าง เดินไปเดินมา เดินมาเดินไปอยู่สักครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ในช่วงแห่งการเดินนั้นก็นับก้าวเล่นโก้ๆ ว่า หนึ่ง สอง สามก้าวตามจังหวะของก้าว แล้วบางทีก็ก้าวไปก็พุทโธ พุทโธ ไม่กำหนดตามลมหายใจเข้าออก เอาตามเท้าก้าว เดินไปเดินมาเดินมาเดินไปสักครู่หนึ่งก็โปร่ง พอโปร่งดีก็ปล่อยใจให้สบาย มันอยากจะคิดอะไรก็คิดไปให้อารมณ์มันเป็นสุข พออารมณ์เริ่มเป็นสุขก็กลับมาเล่นกับเม็ดกรวดใหม่ จับเม็ดกรวดหนึ่งเม็ด พุทโธ เอามาวางนอกกองหนึ่งเม็ด พุทโธ เอามาวางนอกกองอีกหนึ่งเม็ด ท่านบอกว่าตอนนี้ชนะได้ เม็ดกรวดหมดกองไปแล้วใจยังสบาย ไม่เดือดไม่ร้อน หมายความว่า อารมณ์มันก็เริ่มเป็นสุข พอชนะเม็ดกรวดได้หมดกองพอสบายก็นอน

ตอนนอนอยู่นี้ก็ต้องผ่อนหนักผ่อนเบาสำหรับจิต คืออารมณ์จิตมันอยากจะคิดอะไรก็ปล่อยมันคิดไปตามอารมณ์ เมื่อมันอยากจะคิดก็คิดไป คิดๆ ไปก็เลยหลับ พอตื่นขึ้นมาใหม่ พอมีกำลังใจ พอรู้สึกขึ้น ท่านก็บอกว่าจิตมันก็จับอยู่ พอรู้ตัวก็ พุทโธ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก นอนอยู่แบบนั้น ต่อสู้กับอารมณ์แบบนี้มา ท่านบอกว่ากว่าจะชนะได้หลายวัน อารมณ์จิตกว่าจะเข้าถึงจุด จุดก็ไม่ใหญ่นัก เอากันแค่ปีติเท่านั้น ต่อสู้กันจริงๆ ท่านบอกว่าจะเอาให้อารมณ์ทรงนิ่ง ท่านบอกว่าสู้กันอยู่หลายวันกว่าจะชนะได้ คือเวลาทำไม่ใช่ทำกันอยู่ทั้งวัน ต้องมีอาการผ่อนหนักผ่อนเบาสำหรับอารมณ์

ตอนแรกท่านบอกว่าเรามันโง่ ใช้อารมณ์เครียดเกินไป จะเอาชนะใจทันทีทันใดให้มันเป็นไปตามความประสงค์ มันก็เป็นไม่ได้ พอมาเริ่มรู้สึกผ่อนคลายอารมณ์ พออารมณ์มันเครียดก็เลิกเสีย อารมณ์มันฟุ้งจัดหนักเข้าก็เลิกเสีย หาอิริยาบถให้มันสบาย นอนบ้าง เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งห้อยขาบ้าง ดีไม่ดีก็มาเล่นอย่างโน้น อย่างนี้ จับไม้เคาะบ้าง บางคราวก็มองดูใบไม้ มองดูยอดไม้ มองดูดิน ให้จิตมันอยู่ที่ยอดไม้ จิตมันอยู่ที่ใบไม้ จิตมันอยู่ที่ดินตามอัธยาศัย บางครั้งก็หยิบไม้มาอันหนึ่ง มานั่งเคาะไม้ป๊อกๆ ให้หูมันอยู่ที่ไม้เคาะ บางทีก็เอาจิตไปจับอยู่ที่พระพุทธรูป ดูพระพุทธรูปว่า ท่านมีพระพุทธลักษณะเป็นอย่างไรที่เขาทำไว้ มองไปเพ่งไปใจก็สุข พอใจมันสงบสงัด มีอารมณ์เป็นสุข จับคำภาวนาว่า พุทโธ อารมณ์ก็เกิดความแช่มชื่น

ท่านบอกว่าต่อสู้อยู่อย่างนี้จนกว่าจะชนะใจได้ตามเวลา คือระยะแรกเอาเม็ดกรวดมากอบหนึ่ง พุทโธ หนึ่งเม็ด พุทโธ หนึ่งเม็ด หมดกอบ ตอนต้น ไม่ทันจะหมดกอบมันไม่อยู่ พอท่านี้เข้าบ่อยๆ เม็ดกรวดหมดกอบ ใจยังอยากพุทโธต่อไป มันอยากพุทโธต่อไป ก็ตั้งใจอยู่ว่ากลับทวนอีกรอบหนึ่ง ถ้ามันไม่จบ จิตมันซ่าน เราจะตั้งต้นใหม่ เราจะยอมตาย แต่ต้องดูกำลังใจ ถ้ามันซ่านจริงๆ ท่านก็บอกว่าเผ่นเหมือนกัน

ในที่สุดรอบที่สองท่านก็สามารถทำได้ และก็ทั้งที่สามารถทำรอบที่สอง แต่ในกาลบางครั้ง บางคราวบางวัน ท่านบอกว่าไม่ไหวเหมือนกัน บางทีพอจับเข้า จิตมันก็นึกพล่าน เมื่อมันพล่านจริงๆ ก็ต้องปล่อยมันให้สบาย ในที่สุดท่านก็สามารถจะเอาชนะ ทรงจิตไว้ได้ตามจำนวนเม็ดกรวดที่กองไว้

บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ปฏิปทาการปฏิบัติของท่านผู้เฒ่านี้ยาว เวลานี้มันหมดเสียแล้ว ขอบรรดาท่านทั้งหลายที่ไม่สามารถจะเอาชนะใจของท่านได้ลองไปปฏิบัติตามปฏิปทาของท่าน นี่ยังนะ วิธีเอาชนะจิตนี่ยังไม่จบวันนี้ เพราะว่าชนะจิตแต่เพียงสั้นๆ ยังไม่จบ แต่ว่าเวลาจบแล้ว ต่อนี้ไปขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จงใช้อิริยาบถตามสมควร ท่านจะนั่ง ท่านจะนอน ท่านจะยืน ท่านจะเดินนั่งท่าไหนก็ได้ตามอัธยาศัย ขอให้รักษากำลังใจของท่านให้คงอยู่ตามที่องค์สมเด็จพระบรมครูทรงต้องการ

…………………

คัดลอกจากหนังสือ ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า โดยคำสอนพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วันทาซุง จังหวัดอุทัยธานี (ลานธรรมจักร) 
 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0