ความสุข
เกิดขึ้นได้เฉพาะกับดวงจิต
เพราะไม่มีดวงดาวหรือวัตถุอื่นใดในจักรวาล
ที่จะรู้จักกับรสชาติแห่งความสุขกันได้
.
แต่ธรรมดาเมื่อเกิดสุขกับใจใด
ใจนั้นจะเกิดอาการยึดสุขทันที
หลงเข้าใจว่า นี่เป็นสุขของฉัน
หวงไว้ว่า สุขอย่างนี้จงอยู่กับฉันตลอดไป
.
สุขทางกายว่าน่าหวงนักหนาแล้ว
สุขทางใจยังน่าหวงยิ่งกว่า
เพราะสุขทางกาย
มีความหนักทางกายเป็นตัวตั้ง
ส่วนสุขทางใจ
มีความเบาทางใจเป็นสื่อนำพา
ความหวานชื่นจึงแตกต่างกันลิบลับ
.
สุขทางใจ
อาจเกิดขึ้นจากการวางของหนักภายนอกลง
และการที่ใจจะวางของภายนอกลงได้
ก็ต้องด้วยการติดใจรสชาติของการ ‘วางจริง’ กันบ้าง
วางอนาคตที่น่ากังวล
วางอดีตที่น่าเสียดาย
วางหน้าตาของศัตรู
วางหน้าตาของตัวเอง
จนรู้แล้วว่าการไม่มีโซ่ตรวนมันเบาแขนเบาขาแค่ไหน
.
เมื่อสุขทางใจพัฒนาขึ้นไปเป็นสมาธิ
รสล้ำลึกของสมาธิอาจก่อให้เกิดความหนักไปอีกแบบ
หนักตรงที่ใจอยากเอาสุขนั้นไว้เลย
ไม่อยากให้หายไปไหนอีก
หรือเร่งสั่งเช้าค่ำว่า จงกลับมาอีกบ่อยๆ
บางคนไม่ได้รสวิเวกสุขในสมาธิ
ถึงขั้นใกล้ลงแดง กินไม่ได้นอนไม่หลับก็มี
.
ทั้งหมดทั้งมวล
รวมลงได้ว่าความสุขที่ผู้คนรู้จัก
ล้วนเป็น ‘สุขที่มีเจ้าของ’
ทั้งที่เจ้าของเองก็ไม่เคยรักษาสุขใดไว้ได้เลย
ต่างก็เป็นได้แค่เจ้าของพยับแดด
เจ้าของสิ่งลวงตาลวงใจกันทั้งชีวิต
.
ต่อเมื่อเข้าใจจริงๆว่า
ความสุขอันเกิดจากความมีใจเบาที่แท้
คือรสแห่งความสุขที่ไม่มีเจ้าของ
ความสุขเยี่ยงผู้มีสติกระจ่าง
เห็นความว่างจากสมบัติของผู้ใด
มีแต่สมบัติแห่งความแตกพัง
มีแต่อะไรๆผ่านมาด้วยเหตุ
แล้วหายไปเพราะหมดเหตุ
การทำตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของนั่นแหละ
คือต้นเหตุแห่งทุกข์ที่แท้
.
เมื่อรู้จักสุขที่ไม่มีเจ้าของ
ก็เท่ากับรู้จักความสุขที่พาไปสู่ความพ้นทุกข์
เพราะในที่สุด
จะไม่เหลือตัวผู้สร้างเหตุแห่งทุกข์ขึ้นมา!
.