โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เรียนรู้ไม่รู้จบ - ศุ บุญเลี้ยง

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 15 เม.ย. 2563 เวลา 11.49 น. • ศุ บุญเลี้ยง

ชาล้นถ้วย ก็ต้องปล่อยให้ล้นไป

วิธีสอนของอาจารย์เซนยามลูกศิษย์คนใดไม่ยอมละวางความรู้ที่ตัวเองติดมา  ขณะอาจารย์สนทนาอาจารย์อาจจะรินชาลงในถ้วย ให้ชานั้นไหลเอ่อล้นถ้วย  จนลูกศิษย์สงสัยว่าท่านอาจารย์ทำเช่นนั้นทำไม

อาจารย์จึงเฉลยว่า  อุปมาเหมือนคนมาเรียนรู้ หากพกพายึดติดความรู้เก่าคิดว่าตัวเองมีมากมาย เวลาสอนก็ยากจะเติมความรู้ใหม่ลงไปได้  อาจารย์อยากให้ทำตัวให้ว่าง ให้มีพื้นที่เรียนรู้  จะได้เติมวิชาเติมความรู้ใหม่ๆใส่ลงไปได้

ปรัชญาจีนว่าต้องรินน้ำชาใส่ถ้วยซึ่งว่างเปล่า

 

เพราะความรู้นั่นแหละที่สกัดกั้นความรู้

 

(ส่วนเรื่องความรู้แบบไหน ขัดขวางทำให้ผู้เรียน ไม่พัฒนาการเรียนรู้ ก็มีงานวิจัยออกมาให้ศึกษาเพิ่มเติมสำหรับนักการศึกษา)

 

มีเรื่องเล่ากันว่า  หนหนึ่งในสมัยก่อน  เคยมีคนสมัครเรียนดนตรีกับอาจารย์ท่านหนึ่ง  ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านคีตศิลป์

ลูกศิษย์รายนั้นขอความกรุณาให้ช่วยลดค่าเล่าเรียนลงสักหน่อยได้ไหม เพราะว่าเคยเรียนดนตรีมาบ้างแล้ว 

อาจารย์กลับบอกว่า ถ้างั้นขอคิดค่าเล่าเรียนเป็นสองเท่า 

สาเหตุเพราะสอนยากกว่าคนซึ่งยังไม่มีวิชามาก่อน

 

ในชีวิตจริงบ่อยหนเมื่อเคยไปสอนแล้วก็เป็นดังว่า  คือคนที่เคยแต่งเพลงมา เคยติดการแต่งแบบเดิมๆ เช่นแต่งกลอนแล้วเอามาใส่ทำนอง 

หากไปแนะนำว่า  การแต่งเพลงนั้นหาใช่การแต่งกลอนแล้วเอามาใส่ทำนองไม่ 

สอนไปแล้วก็มักจะพบว่า  ยากยิ่งที่จะแก้ไข  เพราะเขาติดวิธีเดิมๆ นั้นมานาน

 

แม้ว่าวิธีเดิมนั้นไม่ใช่วิธีที่ผิด แต่เป็นวิธีซึ่งยึดติด  แล้วทำให้พัฒนาได้ยากยิ่ง

 

แต่ก็นั่นแหละไอ้ครั้นจะให้คนซึ่งมีวิชาหรือความรู้มาบ้าง  ยอมปล่อยวางความรู้ตนเองไปเสียหมดมันก็ยากเกินไป

อีกอย่างเราจะรู้ได้อย่างไรว่าวิชาที่อาจารย์จะเอามาใส่ให้ใหม่นั้น  มีดีเลอเลิศจนต้องละวางของเก่า

ดีไม่ดี อาจารย์ก็แค่นักอวดอ้างกำมะลอ 

ดังนั้นคำแนะนำซึ่งพอจะอธิบายให้เห็นภาพก็คือ 

แม้ว่าจะรินชาลงไปในถ้วยเก่าซึ่งมีน้ำอยู่บ้าง  จนกระทั้งน้ำเอ่อล้นออกมานั้น  ย่อมได้พาเอาน้ำเก่าๆ ไหลออกมาด้วย 

และหากเติมน้ำใหม่เข้าไปเรื่อยๆ สักระยะน้ำในถ้วยชา ก็จะหมุนเวียนเอาน้ำใหม่จากกาเข้าไปแทนที่ 

และเปลี่ยนน้ำชาในถ้วยเดิม ให้มีส่วนผสมของน้ำใหม่ปะปนลงไป 

ดีไม่ดีรินไปแรงๆ นานๆ น้ำเดิมๆ ก็เอ่อล้นออกมาจนหมด

 

ดังนั้นการเติมความรู้ จึงไม่จำเป็นถึงกับต้องว่างเปล่า

ถ้าพลังของการเติมนั้นมีมากพอ  ความรู้ความเชื่อเดิมๆ ก็จะล้นออก และมีส่วนผสมใหม่ลงไปปะปน

ไม่เชื่อลองเอาน้ำสีแดงเยอะๆ รินลงไปในชาจางๆ รินไปสักระยะน้ำในถ้วยก็จะกลายเป็นสีแดงไปทั่วทั้งแก้ว 

 

การเรียนรู้ที่ดีน่าจะเป็นแบบนี้มากกว่าจะมาทิ้งสิ่งเดิมเพื่อเติมเต็มสิ่งใหม่

เพราะมีบางความรู้เป็นฐานไว้ต่อยอดได้  แล้วทำไมเราจะไม่เอาของเก่าเป็นฐานเพื่อต่อยอดของใหม่ 

แต่สำหรับคนที่ไม่ยอมรับสิ่งใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ ทัศนะใหม่ๆ 

ก็ย่อมติดอยู่กับความรู้เดิมๆ เป็นกรอบของความรู้ซึ่งปิดกั้นการเรียนรู้ อย่างสิ้นเชิง

 

และแน่นอนว่า ถ้าคนไม่อยากเรียนรู้ ก็จบ

เราพบคนเหล่านี้ได้ทั่วไป ในวงสนทนาและที่ทำงาน

คนที่ทนฟังคนอื่นได้ไม่นานแล้วต้องปล่อยของ  อวดภูมิรู้ของตนออกมา  ไม่มีเวลารับรู้สิ่งใหม่ๆ

 

วันก่อนไปนั่งโต๊ะจีนงานแต่งงาน  มีเพื่อนๆ และรุ่นพี่ที่เคยอยู่โรงเรียนประจำด้วยกัน ครูที่เคยสอนคงสังเกตจึงถามว่า ทำไมเธอจึงไม่ค่อยพูดล่ะ

 

วันนั้นก็ไม่ได้ตอบครูละเอียด 

แต่มานึกทบทวนก็คงเป็นเพราะคิดว่าฟังแล้วได้กำไร ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากรุ่นพี่รุ่นน้อง 

คิดว่าตอนที่ปากใช้กินอาหาร  หูตั้งใจฟัง นั่นแหละ คือกำไรจากการไปร่วมงานเลี้ยง

การพูดไม่ได้ทำให้เรา ฉลาดขึ้น รอบรู้ขึ้น

แต่การอยู่ในวงสนทนาแล้วไม่สนใจคนอื่นพูด หรือไม่พูดกับคนอื่นก็คล้ายสัมภเวสี ที่เหมือนไม่มีตัวตน

คนแบบนี้ก็ไม่สมควรนั่งโต๊ะร่วมวง

 

สิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้คือ  การตระหนักรู้ว่ามีบางสิ่งหรืออีกหลายสิ่งที่ตนยังไม่รู้ 

ขอบเขตแห่งหนของการไม่รู้นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ

อาจเป็นความรู้ประการสำคัญที่จำต้องเรียนรู้

และยิ่งต้องตระหนักในความไม่รู้แห่งตนเพื่อจะได้หาหนทาง  หรือกระบวนการแห่งการค้นหาและค้นพบ

ดังนั้นการเผื่อใจในความไม่รู้จึงจำเป็นยิ่ง 

 

สรุปว่า  การรู้ว่าตนไม่รู้อะไรนั่นแหละคือความรู้อันสำคัญยิ่ง

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากศุ บุญเลี้ยง ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่นได้ที่เพจศุ บุญเลี้ยง

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0