โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้ญี่ปุ่นเข้าใจไทย : ปรัชญาสุขภาพญี่ปุ่น 10 ประการ - ณัฐพล จารัตน์

LINE TODAY SHOWCASE

เผยแพร่ 07 ก.ค. 2565 เวลา 04.44 น. • ณัฐพล จารัตน์

การดื่มสังสรรค์หลังเลิกงานเป็นวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า nomikai (โนมิไค) ส่วนใหญ่จะนัดดื่มสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรือเพื่อน ในร้านเหล้าใกล้สถานีรถไฟ บรรยากาศ

การสังสรรค์มีความครื้นเครงและเต็มไปด้วยบทสนทนาทั้งเรื่องงาน ครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม และรวมไปถึงปรัชญาชีวิต ช่วงที่ผมไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นหรือเมื่อมีโอกาสกลับไปเที่ยวหรือไปทำงานที่ญีปุ่นทุกครั้ง เพื่อนชาวญี่ปุ่นจะนัดสังสรรค์กันที่ร้านเดิม บางครั้งเปลี่ยนร้านบ้าง

ซึ่งแล้วแต่ความสะดวกในการรวมตัวของทุกคน แม้ผมจะเกริ่นเรื่องเป็นการสังสรรค์ในร้านเหล้าญี่ปุ่นเสียยืดยาว แต่ขออภัยที่จะไม่คุยต่อในเรื่องนี้ สิ่งผมจะเล่าสู่กันฟังเป็นเรื่องปรัชญาที่พบจากฝนังในร้านเหล้าญี่ปุ่นที่ไปเป็นประจำ

เมื่อไปสังสรรค์กันที่ร้านเดิม ผมสังเกตเห็นป้ายปรัชญาญี่ปุ่นเขียนด้วยอักษรคันจิภาษาญี่ปุ่นสั้น ๆ ไม่กี่คำ พูดถึงการดูแลสุขภาพ 10 ประการ ก่อนที่จะทราบว่าทั้ง 10 ประการมีอะไรบ้าง ขอให้ท่านเข้าใจก่อนว่า ปรัชญาที่กำลังจะเล่านี้ เป็นแนวคิดของคนญี่ปุ่น

ดังนั้นบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมจึงถูกเขียนด้วยพื้นฐานสำหรับคนญี่ปุ่น แน่นอนว่าย่อมแตกต่างจากมุมมองของไทย ลองมาเริ่มดูตั้งแต่ข้อแรกกันครับ

1. กินเนื้อให้น้อย กินผักให้มาก

การกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด แต่ไม่รวมถึงเนื้อปลา คนเราไม่ควรกินเนื้อสัตว์มากไป นอกจากเนื้อสัตว์จะย่อยยากแล้ว เนื้อสัตว์บางประเภทมีไขมันสูง ไม่ก่อประโยชน์ต่อร่างกาย ส่วนการกินผักให้เยอะ ไม่ใช่เพียงการกินผักใบเขียวเท่านั้น ยังหมายถึง การกินหัวมัน ฝักทอง และถั่วต่าง ๆ

โดยเฉพาะถั่วที่ให้โปรตีนแทนการกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตและระบบขับถ่าย

2. กินเกลือให้น้อย กินน้ำส้มให้มาก

เกลือ หมายถึง รสเค็ม หากกินมากเกินไปจะเพิ่มโซเดียมก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ในเครื่องปรุงรสญี่ปุ่นมีส่วนผสมของเกลือสูงจึงต้องระวัง ควรกินให้น้อย ส่วนการกินน้ำส้มให้มากนั้น น้ำสัม หมายถึง น้ำหมักต่าง ๆ จนเกิดรสเปรี้ยว ที่เกิดจากการหมักผลไม้หรือผัก อุดมด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หรือโปรไบโอติกส์

ดีต่อระบบย่อยอาหารและลำไส้ ในที่นี้ยังรวมถึงน้ำหมักคอมพูชะที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นทั้งในตลาดญี่ปุ่นและไทย ซึ่งน้ำหมักคอมพูชะเป็นที่รู้จักในวัฒนธรรมการกินของญี่ปุ่นมานานมากแล้ว

3. กินน้ำตาลให้น้อย กินผลไม้ให้มาก

ความหวานจากน้ำตาลเพิ่มความหวานเอร็ดอร่อยและให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่เมื่อกินน้ำตาลมากเกินไปโดยไม่ออกกำลังกาย ส่งผลเสียให้ร่างกาย เช่น ความอ้วน โรคเบาหวาน ฝันผุ ส่วนการกินผลไม้ให้มาก หมายถึง แอปเปิ้ล องุ่น ส้ม ลูกพลับ เป็นผลไม้หลัก ๆ ในญี่ปุ่น แต่ไม่ควรกินชนิดหวานจัด

เพราะมีผลเสียเท่ากับการกินน้ำตาล สำหรับคนญี่ปุ่นไม่นิยมกินหวาน อาหารญี่ปุ่นรสชาติหวาน ๆ ไม่ค่อยมี ยกเว้นจำพวกขนมสไตล์ญี่ปุ่น

4. กินคำให้เล็ก และเคี้ยวให้มาก

วัฒนธรรมการกินของคนญี่ปุ่นใช้ตะเกียบคีบอาหาร ควรคีบพอดีคำ คีบคำเล็ก ๆ ไม่ควรเร่งรีบกิน ไม่ควรคีบคำโต ๆ จนเต็มปาก การกินคำเล็กทำให้เคี้ยวง่าย เคี้ยวได้ละเอียด ยิ่งเคี้ยวนาน ๆ จะได้สัมผัสรสของอาหารและช่วยให้อาหารละเอียดก่อนกลืนลงสู่กระเพาะอาหาร เมื่อเคี้ยวละเอียด

กระเพราะอาหารจะไม่ทำงานหนัก ร่างกายจึงไม่ทำงานหนัก ช่วยการย่อยและดูดซึมอาหารไปเลี้ยงร่างกาย

5. สวมเสื้อผ้าให้บางสบายบ้าง โดนแดดให้เยอะหน่อย อาบน้ำบ่อย ๆ

ญี่ปุ่นอากาศหนาวเย็น ถ้าสวมเสื้อผ้าบาง ๆ ไม่สบายแน่ ๆ การสวมเสื้อผ้าบาง ๆ สบาย ๆ หมายถึง การสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ทำจากผ้าฝ้ายธรรมชาติในฤดูร้อน ให้รับแสงแดดบ้างเพื่อให้ผิวได้โดนอากาศบ้าง โดนแสงแดดบ้าง ผิวได้รับวิตามินจากแสงแดดบ้าง ส่วนการอาบน้ำบ่อย ๆ คือ

การทำความสะอาดผิว เวลาอาบน้ำ หรือแช่น้ำให้นำผ้าขัดผิวด้วย ขัดเซลผิวที่ตายแล้วออกไป ถ้าทำได้ผิวจะแข็งแรงและสะอาดสดใส คนญี่ปุ่นอาบน้ำเพียงวันละครั้งเมื่อได้อาบน้ำจะขัดตัวให้สะอาด

6. พูดน้อย ๆ ลงมือทำเยอะ ๆ

เรื่องนี้ไม่ว่าสังคมไทยหรือญี่ปุ่นก็เหมือนกัน ควรพูดน้อย ๆ พอประมาณ อย่าสักแต่พูด อย่าเอาปากทำงาน ให้ลงมือทำงานให้มีผลงานมากกว่าที่จะพูดว่าจะทำ หรือมีแต่คำพูดลอยไปลอยมา พูดแล้วต้องทำ สร้างขึ้นมาให้เป็นชิ้นเป็นอัน ถึงจะสร้างขึ้นมาไม่ได้ดีเลิศ แต่มีชิ้นงาน จับต้องได้

ย่อมดีกว่าคำพูดสวยหรูแต่จับต้องไม่ได้

7. โลภให้น้อย ให้ทานมาก

การให้ทานหรือบริจาคให้มากเป็นความเป็นสมถะและลดความโลภส่วนตน คนญี่ปุ่นมีพื้นฐานการใช้ชีวิตอย่างสมถะและกลมเกลียวกับธรรมชาติ ข้อนี้เหมือนพื้นฐานคนไทย ไม่พยายามสะสมสิ่งของหรือมีของเกินความจำเป็น หากมีมากเกินไปก็ให้แบ่งปันคนอื่น ความสมถะแบบญี่ปุ่น

บางท่านมักอ้างถึงความเป็นมินิมอล หรือหลักวาบิซาบิ (wabi sabi) คือ ความไม่สมบูรณ์ หรือการทำสิ่งที่ขัดกับความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เช่น เรากินน้อย ๆ พออยู่ แต่จะไม่อิ่ม เราพอมีพอกินแต่มนุษย์ต้องการความร่ำรวยเงินทอง

ความสมถะและความเอื้อเฟื้อเป็นแนวทางลดความตระหนี่และความต้องการเกินส่วนหรือกิเลสของมนุษย์

8. อย่าคิดมาก นอนให้หลับ

คนญี่ปุ่นถูกสอนให้อย่าคิดมาก แต่ให้คิดอย่างรอบคอบ โดยคิดคาดคะเนล่วงหน้า จนบางครั้งทำให้คิดวนไปเวียนมาและคิดมาก การนอนไม่หลับ เมื่อนอนไม่หลับร่างการจะอ่อนเพลีย และสมองล้า กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการนอนไม่หลับ นอกจากเสียสุขภาพกายและใจแล้ว

ยังก่อให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัว ไม่คงที่ และเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา

9. ลดการใช้รถ เดินให้มาก

รถในที่นี้คือ พาหนะทุกชนิดและเครื่องทุนแรงที่ปั่นทอนไม่ให้เราเดินหรือใช้กำลังร่างกาย แม้จะสะดวกสบาย แต่ในระยะไม่ไกลและมีเวลาควรเดินออกกำลัง การเดินช่วยให้ได้ออกกำลังกาย การนั่งรถหรือใช้รถใยระยะไกล ๆ คงไม่แปลก แต่ระยะใกล้ คงแทบไม่จำเป็น ยิ่งนั่งรถมาก คนเราจะเคยชิน

รักความสะดวกสบายมากไป ถ้าไปญี่ปุ่นจะเห็นคนญี่ปุ่นเดินเยอะมากและเดินเร็ว อากาศและสถานที่ในญี่ปุ่นเหมาะแก่การเดิน แต่ถ้าข้อนี้จะมาใช้เมืองไทย คงไม่ดี เพราะได้เดินไปพลาง ปาดเหงื่อไปพลาง

10. โกรธให้น้อย หัวเราะให้มาก

อารมณ์เป็นตัวขับเคลื่อนพลังของจิต เมื่อจิตใจแจ่มใส ปราศจากความโกรธ จึงเกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาขึ้น จะเกิดความสุข ความสงบ และสันติทั้งภายในและภายนอก (inner and outer peace) ส่งผลร่างกายก็ยินดีปรีดา ไม่เจ็บป่วยในที่สุด

ปรัชญาญี่ปุ่นนี้ คงไม่พบเห็นได้ทุกร้านที่ท่านเข้าไป เพียงแต่ผมสังเกตเห็นบ่อยครั้งในร้านประจำ หวังว่าจะเป็นปรัชญาการดูแลสุขภาพอีกแนวหนึ่งให้ทุกท่านครับ

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0