โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อภินิหารทางกฎหมาย คสช. แพ้ ทักษิณชนะคดีเก็บภาษีขายหุ้นชินฯ กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท

The MATTER

อัพเดต 08 ส.ค. 2565 เวลา 09.33 น. • เผยแพร่ 08 ส.ค. 2565 เวลา 09.19 น. • Brief

วันนี้ (8 ส.ค. 65) มีผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชนะคดีสรรพากร หลังศาลภาษีอากรกลางสั่งพิพากษาให้เพิกถอนประเมินเก็บภาษีขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 17,000 ล้านบาท เนื่องจากดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้ออกหมายเรียกภายในกำหนดเวลา แต่กลับออกหมายเรียก ‘โอ๊ค-เอม’ ผู้เป็นบุตรมาประเมินแทนเจ้าตัว

ผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลภาษีอากรกลางเพิ่งมีคำสั่งพิพากษาคดีความแพ่งที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2549 ซึ่งรวมเป็นเงินกว่า 17,629 ล้านบาท

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาและวินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานถือเอาการออกหมายเรียกบุตรชายและบุตรสาว (‘โอ๊ค’ พานทองแท้ ชินวัตร และ ‘เอม’ พินทองทา ชินวัตร) ในฐานะตัวแทนเชิด เป็นการออกหมายเรียกโจทก์ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรในฐานะตัวการ ถือเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการประเมินต้องออกหมายเรียกไปยังทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ถูกประเมินโดยตรง

แต่เจ้าพนักงานประเมินไม่ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบโจทก์ภายในกำหนดเวลา ประกอบกับนิติกรรมที่ทำขึ้นไม่ก่อให้เกิดการโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ แต่อย่างใด ทักษิณจึงไม่ใช่ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และไม่ใช่มีผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-4 จึง’ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย’ เช่นเดียวกัน แต่เจ้าพนักงานและจำเลย 2-4 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวเพราะเป็นการทำตามหน้าที่

โดยสรุปก็คือ ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้ออกหมายเรียกโจทก์ (ทักษิณ) ภายในกำหนดเวลา แต่กลับออกหมายเรียกลูกมาประเมินแทนเจ้าตัว

คดีนี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่ทักษิณขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ด้วยเงิน 73,271 ล้านบาท เมื่อปี 2549 ต่อมาในช่วงปี 2549-2552 บุตรชายและบุตรสาวของทักษิณ กลับถูกประเมินเรื่องภาษีโอนหุ้นชินคอร์ปฯ ทำนองว่าเป็นตัวแทนของทักษิณจึงต้องเก็บภาษี นำมาสู่การฟ้องร้องคดีนี้

ตามปกติแล้ว กรณีที่ผู้เสียภาษีมาเสียภาษีเงินได้ไม่ครบถ้วน กฎหมายระบุให้ออกหมายเรียกมาไต่สวนภายใน 5 ปี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการออกหมายเรียกทักษิณมาไต่สวนแต่อย่างใด

แต่ในปี 2560 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กลับระบุว่า กรมสรรพกรเคยออกหมายเรียกบุตรชายและบุตรสาว นอมินีที่ถือหุ้นแทนทักษิณมาไต่สวนในปี 2555 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 - 821 ให้ถือว่าเคยออกหมายเรียกนายทักษิณมาไต่สวนแล้ว และทำให้อายุความขยายมาจนถึง 31 มี.ค. 2560

ในขณะนั้น พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อ้างคำพูดของนายวิษณุที่รายงานเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2560 ว่าเรื่องนี้ถือเป็น "อภินิหารทางกฎหมาย"

อ้างอิงจาก

https://www.khaosod.co.th/politics/news_7202710

https://www.matichon.co.th/local/crime/news_3495738

https://www.bbc.com/thai/thailand-39744361?fbclid=IwAR1aHeobUPnKuqp8b-4OTdWvKQEPp5MDv0yaMMB9OtPhQoHd2SQOAbkzktc

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0