โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผู้เชี่ยวชาญทึ่ง! ผึ้งอยู่รอดใต้น้ำได้นาน 1 อาทิตย์ หวังช่วยสู้ภาวะโลกร้อน

Environman

เผยแพร่ 24 เม.ย. เวลา 01.00 น.

ผึ้งสามารถอยู่รอดใต้น้ำได้นานถึง 1 อาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์ได้คันพบความสามารถพิเศษนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ เผยให้เห็นว่าเจ้าตัวเล็กเหล่านี้มีความารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีเพียงใด

ในขณะที่นักนิเวศวิทยา Sabrina Rondeau กำลังตรวจสอบผลกระทบของสารกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผึ้งบัมเบิลบีตะวันออก (Bombus impatiens) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่หลายในภาคตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ ในห้องทดลองที่มหาวิทยาลัย Guelph ในแคนาดาเมื่อปี 2021

โดยทำการเก็บพวกมันไว้ในท่อที่เต็มไปด้วยดินอยู่ในตู้เย็น เพื่อเลียนแบบสภาพแวดล้อมการจำศีลของผึ้งในฤดูหนาวตามธรรมชาติ แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อเปิดตู้เย็นอีกครั้ง เธอก็เห็นว่าท่อบางท่อเต็มไปด้วยน้ำที่เกิดจากการควบแน่น และราชินีผึ้งทั้ง 4 ตัวก็จมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด Rondeau ตกใจมากและเธอคิดว่าผึ้งน้อยเหล่านี้ได้จากเธอไปแล้ว

“ฉันรู้สึกตกใจมาก” เธอบอกกับเว็บไซต์ New Scienctist “ฉันแน่ใจว่าราชินีตายหมดแล้ว” แต่เมื่อเธอนำพวกมันขึ้นมาจากนี้ เจ้าตัวเล็กเหล่านี้กลับเคลื่อนไหวอีกครั้ง “นี่มันน่าแปลกใจมาก” Nigel Raine นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย Guelph และหนึ่งในทีมวิจัยตั้งข้อสังเกต “สิ่งเหล่านี้คือสิ่งมีชีวิตบนบก พวกมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้อยู่ใต้น้ำจริง ๆ”

ดังนั้นเพื่อพิสูจน์ความน่าสงสัยนี้ Sabrina Rondeau จึงได้ทำการทดลองอีกครั้งในงานวิจัยล่าสุดที่มหาวิทยาลัยออตโตวา โดยการแบ่งราชินี 143 ตัวออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะอยู่ในที่แห้งตามปกติ และอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นราชินีที่ต้องอยู่ในน้ำตามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน 8 ชม., 24 ชม. หรือ 1 สัปดาห์

พวกเขาพบว่าขณะที่ทำการศึกษา ผึ้งต่างก็ทำตามพฤติกรรมปกติของมัน บางตัวอยู่ใต้ดิน บางตัวอยู่ใต้น้ำ หรือบางตัวก็ลอยอยู่เหนือน้ำ แต่ทั้งหมดเข้าสู่สภาวะจำศีลที่หยุดการทำงานของร่างกายไว้ และเมื่อพวกมันถูกนำออกมา จากผึ้งตัวเปียก “ก็กลับมาแห้งฟูอีกครั้ง สวยงามเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น” Rondeau บอกกับ Science News

จากทั้งหมด 21 ตัวที่จมอยู่ใต้น้ำตลอดทั้งสัปดาห์ มี 17 ตัวที่รอดชีวิตมาถึง 8 สัปดาห์ต่อมา โดยมีอัตรการรอดชีวิตอยู่ที่ 81% ตัวเลขนี้สร้างความประทับให้กับนักวิทยาศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากมันมีอัตราการรอดชีวิตใกล้เคียงกับราชินีผึ้งที่จำศีลโดยไม่โดนน้ำเลย (88%) หรือพูดง่าย ๆ ว่าจะมีน้ำหรือไม่มีน้ำ ผึ้งก็รอดใกล้เคียงกัน

นักวิทยาศาสตร์ไม่เข้าอย่างชัดเจนว่าทำไมผึ้งที่อยุ่ใต้น้ำถึงรอดชีวิตได้ แต่พวกเขาเชื่อว่ามันเป็นความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม เนื่องจากในทุกฤดูใบไม้ร่วง อุณหภูมิจะเริ่มลดลงก่อนฤดูหนาว ผึ้งตัวผู้และผึ้งงานจะตาย ส่วนราชินีจะจำศีลโดยการขุดโพลงลงไปในดิน

พวกมันสามารถอยู่ในนั้นได้นานถึง 8 เดือนเพื่อรอฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง แล้วออกมาตั้งอาณานิคมใหม่ แต่การจำศีลในพื้นดินก็มีความเสี่ยง เนื่องจากมันอาจกลายเป็นเส้นทางน้ำท่วมที่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ ดังนั้น นี่อาจเป็นวิวัฒนาการเพื่อให้พวกมันมีชีวิตรอดก็เป็นไปได้

“ข่าวนี้ให้กำลังใจอย่างยิ่ง” Rondeau กล่าว เนื่องจาก “หนึ่งในสามของสายพันธุ์ผึ้งบัมเบิลบีทั่วโลกกำลังลดลงในตอนนี้ และหากเราสามารถตัดภัยคุกคามจากน้ำท่วมทิ้งไปได้ เราก็จะสามารถมุ่งความสนใจไปที่ภัยคุกคามอื่น ๆ ที่เรารู้ว่าเป็นอันตรายต่อผึ้งได้อย่างแท้จริง”

ยังไงก็ตามยังมีคำถามที่ต้องการงานวิจัยเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน อย่าง การจมอยู่ใต้น้ำระหว่างจำศีลมีผลกระทบต่อผึ้งในระยะยาวอย่างไรบ้าง? ส่งผลต่อความสามารถของราชินีในการตั้งอาณานิคมใหม่หรือไม่? ผึ้งชนิดอื่นสามารถรอดจากการจมน้ำได้เหมือนกันไหม? และขีดจำกัดสูงสุดของผึ้งในการอยู่รอดใต้น้ำนั้นนานแค่ไหน?

การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า “เรารู้น้อยแค่ไหน และต้องเรียนรู้มากเพียงใดเกี่ยวกับวงจรชีวิตของผึ้งบัมเบิลบี” Elizabeth Crone นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยกล่าวกับ Science News

“ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผึ้งกับดอกไม้เป็นหนึ่งในปรากฏการณืที่ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดในด้านนิเวศวิทยา” เธอกล่าวเสริม “แต่ในทางตรงกันข้าม เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับการทำรัง จำศีล และการสืบพันธุ์ของผึ้ง”

ที่มา

https://royalsocietypublishing.org/…/10…/rsbl.2023.0609

https://www.smithsonianmag.com/…/hibernating-bumblebee…/

https://www.theguardian.com/…/bumblebee-species-common…

https://edition.cnn.com/…/bumblebee-queen…/index.html

Photo : Nigel Raine

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0