โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชาวเบรุต 30% เป็นมะเร็ง ผลจากเครื่องปั่นไฟดีเซล สร้าง PM2.5 ทั่วเมือง

Environman

เผยแพร่ 24 เม.ย. เวลา 00.00 น.

มะเร็งพุ่ง 30% ผลจากมลพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์ทุกคนของเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอน และนี่อาจเป็นตัวอย่างในอนาคตของหลายประเทศ หากไม่มีการจัดการที่ดี

หมอกควันปกคุลมเบรุตเกือบทุกวัน แต่นี่ไม่ใช่หมอกยามเช้าที่ทำให้เรารู้สึกสดชื่น แต่กลับเป็นหมอกเมฆสีน้ำตาลที่ทำให้ท้องฟ้าของเมืองมืดลงแม้แต่ในตอนกลางวัน หมอกเหล่านี้มาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลกว่า 8,000 เครื่องที่ให้พลังงานแก่ตึกรามบ้านช่อง และสำนักงานต่าง ๆ ของเมือง

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเหล่านี้สร้างเสียง สร้างกลิ่น และมองเห็นได้ตามท้องถนน แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของมันก็คือ มันสร้างมลพิษทางอากาศและชาวเมืองถูกบังคับให้หายใจเข้าไป

งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งเบรุต (AUB) พบว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานดีเซลที่มีจำนวนมากเกินไปเหล่านี้ ไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งขึ้น 2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยากล่าวว่า มันกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างน่ากังวล

“ผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นน่าตกใจ” Najat Saliba นักเคมีในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นผู้นำการศึกษา กล่าว “มันเกี่ยวข้องกันโดยตรง เราคำนวณความเสี่ยงของโรคมะเร็งโดยพิจารณาจากสารก่อมะเร็งที่ปล่อยออกมาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล ซึ่งบางส่วนจัดอยู่ในประเภทสารก่อมะเร็งประเภท 1A”

อธิบายเพื่อความเข้าใจ นักวิทยาศาสตร์แบ่งสารก่อมะเร็งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ ประเภท 1A - สารที่ทราบกันว่ามีศักยภาพในการก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยอาศัยหลักฐานของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่, ประเภท 1B - สารที่สันนิษฐานว่ามีศักยภาพในการก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยพิจารณาจากหลักฐานจากสัตว์เป็นส่วนใหญ่

และประเภท 2 - สงสัยว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ตามหลักฐานของมนุษย์และสัตว์ แต่ไม่น่าเชื่อถือเพียงพอที่จะใส่สารดังกล่าวในประเภทที่ 1 สารเหล่านี้มักจะมีคำเตือนบนฉลากจากผู้ผลิตเช่น "อาจทำให้เกิดมะเร็ง" หรือ "อาจทำให้เกิดมะเร็งเมื่อสูดดม" และสัญลักษณ์ "อันตรายต่อสุขภาพที่ร้ายแรง"

นับตั้งแต่ครั้งสุดท้ายที่ AUB ได้ตรวจวัดในปี 2017 ทีมวิจัยก็พบว่ามีสารก่อมะเร็งออกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าใน 3 พื้นที่ของเมืองเบรุต เช่นในพื้นที่ที่ชื่อว่า มากัสเสิด หนึ่งในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นกว่าแห่งหนึ่งของเบรุต ชาวเมืองได้รับ PM2.5 สูงสุดที่ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (mcg/m³)

ตัวเลขดังกล่าวมากกว่าถึง 4 เท่าของเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่าไม่ควรให้ผู้คนสัมผัสสารดังกล่าวเกิน 3-4 วันต่อปีที่ระดับ 15 mcg/m³ การคำนวณชี้ให้เห็นว่าผู้คนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น 50% โดยทั่วไปแล้วนับตั้งแต่ปี 2020 ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกในเบรุตประเมินว่าผู้คน 30% ของประชากรทั้งหมดเป็นโรคมะเร็งแล้ว และที่น่าเศร้าก็คือคนส่วนใหญ่ไม่มีเงินรักษา

“เรามีผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมากที่ยังไม่ได้เริ่มการรักษาเลย” Hani Nassar ผู้ก่อตั้งสมาคมช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง กล่าว “พวกเขาแค่ลงเอยด้วยการพูดว่า ‘โอเค ฉันจะตาย ฉันไม่อยากพรากครอบครัวของฉันไปจากบ้าน รถของเรา และอื่น ๆ เพียงเพื่อที่จะจ่ายค่ายานี้”

#สาเหตุมาจากเกมการเมือง

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลนี้เคยเป็นแค่แนวทางในการเติมเต็มช่องว่างด้านพลังงานของประเทศเท่านั้น แต่แล้วในปี 2019 เลบานอนก็เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุด และเมื่อระบบโครงข่ายพลังงานของรัฐใกล้จะล่มสลาย เครื่อดีเซลก็เข้ามาแทนที่ ทุกคนใช้เครื่องนี้เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ในชีวิตประจำวัน

ในปี 2023 ทาง Human Right Watch รายงานว่าการขาดแหล่งจ่ายไฟฟ้าที่เชื่อถือได้นั้นส่งผลกระทบต่อสิทธิ์ในการใช้ไฟฟ้าของประชาชน นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเลบานอนยังคงพึ่งพาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง แม้ทั่วว่าโลกจะพยายามเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนแล้วก็ตาม และนั่นทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ

“บริษัทผู้นำเข้าดีเซลใช้อิทธิพลอย่างมาก โดยมีสาเหตุหลักมาจากความทับซ้อนกันระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัทเหล่านั้นและสถาบันทางการเมือง” รายงานระบุ

Saliba กล่าวว่า เจ้าของผู้ผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและผู้นำเข้าเชื้อเพลิงกำลัง “สร้างรายได้มหาศาลจากการเผาไหม้น้ำมันดีเซลในเมืองและทำให้ผู้คนหายใจไม่ออก” รัฐบาลเลบานอนได้กลายเป็นเหมือนผู้ป่วยอัมพาต ทั้งล้มเหลวในการออกมาตราการกำจัดมลพิษ และต่อต้านการทุตจริต สิ่งนี้ย้อนกลับมาส่งผลต่อประชาชนทุกคน

Saliba เสริมว่า เลบานอนตอนนี้ติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ “ตอนนี้เราเป็นประเทศยากจนมาก ดังนั้นเราจึงขอเงิน(เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ)ทั้งหมดนี้ต่อไป แต่แนวโน้มในทุกภาคส่วน และทุกสิ่งที่รัฐบาลจัดการมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมาคือการรับเงิน ติดตั้งสิ่งที่จำเป็นต้องติดตั้ง แล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการดำเนินงาน หรือมุ่งมั่นพยายามให้มันทำงานต่อไป”

เงินหลายพันล้านดอลลาร์ที่มาจากหน่วยงานระหว่างประเทศได้สูบฉีดเข้าสู่เลบานอน แต่แม้แต่โครงการพื้นฐานที่สุดก็ยังไม่ได้รับการปรับปรุง Julien Jreissati จากกรีนพีซตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกล่าวว่า บางโครงการที่ได้รับทุนนั้นไม่เคยมีการดำเนินงานจริง ๆ เลย

#ปัญหาที่ฝังลึก

แพทย์ด้านเนื้องอกวิทยาที่สัมภาษณ์โดย The Guardian ได้เน้นย้ำว่า แม้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นส่วนสำคัญของโรคมะเร็งในเบรุตก็คือ ‘การสูบบุหรี่’ โดยกว่า 70% ของประชาชนที่เป็นผู้ใหญ่ในเลบานอน สูบบุหรี่เป็นประจำ และ 38% ของทั้งหมดก็สูบบุหรี่ตลอดเวลา

ดร. Fadlo Khuri ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งปอดและคอจาก AUB กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเบรุตคือ ‘สถานการณ์ที่มาบรรจบกัน’ การสูบบุหรี่และการสัมผัสสารก่อมะเร็งในอากาศระยะยาว ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ และท้ายที่สุดคือมะเร็ง

อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่เห็นความสำคัญของสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่กับอัตราการเป็นมะเร็งที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล สิ่งนี้ได้ซ้ำเติมคุณภาพชีวิตของชาวเมืองให้ย่ำแย่ลงไปอีก

“AUB ได้ทำการวัดและสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งพบว่า 40% ของการสัมผัสสารก่อมะเร็งในอากาศของชาวเลบานอนในแต่ละวันนั้นมาจากแหล่งเดียวกัน นั่นก็คือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล” ดร. Khuri กล่าว

ทาง Pia Saadeh หญิงสาววัย 27 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 เมื่อ 6 เดือนก่อน เรียกร้องให้มีการจัดการที่จริงจังจากภาครัฐ

“เครื่องกำเนิดไฟฟ้าควรจะหายไปได้แล้ว” เธอกล่าว “รัฐบาลต้องกลับมาควบคุมภาคไฟฟ้าอีกครั้ง คุณจะซ่อนตัวจากมลพิษของที่นี่ได้ที่ไหน? มันอยู่ในน้ำ ในอากาศ ในสิ่งที่คุณกิน และมีอยู่ทุกที่”

ที่มา

https://today.lorientlejour.com/…/in-pollutant-clogged…

https://www.theguardian.com/…/where-can-you-hide-from…

Photo : Roula Messarra

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0