ประเพณีการถวาย ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ดูจะได้ประพฤติกันมาช้านานในอาเซียอาคเนย์
โดยเฉพาะในสยามซึ่งได้รับต้นไม้ (หรืออีกสำนวนหนึ่งเรียกว่า ดอกไม้) จากเขมร ลาว เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช เป็นการผูกความสัมพันธ์กันระหว่างประเทศ “น้อง” กับประเทศ “พี่” โดยประเทศน้องฝากเนื้อฝากตัวไว้กับประเทศพี่ ด้วยเครื่องบรรณาการดังกล่าว
ประเพณีนี้แปลกพอใช้ เพราะทางอินเดีย-ลังกา ไม่รู้จัก พระราชประเพณีสยาม โดยมากจะหาต้นตอได้ในพระเวทพระปุราณะ หรือพระไตรปิฎก แต่เรื่องประเทศราชถวายต้นไม้เห็นจะไม่มีเลย อยากทราบว่าทางพม่ารู้จักประเพณีนี้บ้างหรือเปล่า
อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยอธิบายว่า ต้นไม้ที่ถวายนี้จะเรียงรายสองข้างพระราชบัลลังก์เหมือนป่าหิมวันต์รอบเชิงเขาไกรลาส ผมน้อมรับว่า การใช้ต้นไม้ฯ ปลายทางนี้น่าจะมีความหมายดังกล่าว แต่ที่ต้นไม้เหล่านี้ ในชั้นต้นต้องเป็นของประเทศราชถวาย ผมยังข้องใจอยู่เพราะ
1. ในการที่พระมหากษัตริย์สยามจะทำให้พระราชบัลลังก์ของท่านเป็นเขาไกรลาส ท่านหายักษ์แบก ครุฑ และเทพพนม มาเอง ดังนั้น เหตุใดท่านจึงต้องหาต้นไม้ที่จะทำเป็นป่าหิมวันต์มาจากประเทศราชเล่า
2. ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง นี้ ดูจะไม่มีความหมายไปในทางถวายตัว หากว่าเจ้าประเทศราชถวายพระมงกุฎของท่านให้วางไว้แทบเชิงพระราชบัลลังก์ หรือหากถวายฉลองพระบาทเงินทองให้พระเจ้าพี่ทรงเหยียบ ก็จะมีความหมายในทางที่เราพอเข้าใจได้
แต่ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ไม่เห็นเกี่ยว
ผมจึงยังสงสัยอยู่ในประเพณีการถวายต้นไม้นี้ ผมถึงบางอ้อ เมื่อคืนนี้เอง ผมอ่านหนังสือ History of Kingship in Ceylon โดย Tilak Hettiarachchy ในหน้า 21-26 ท่านอ้างตำนานมหาวงศ์ว่า กษัตริย์รุ่นแรกในลังกา (ตั้งแต่พระปรินิพพาน จนถึงรัชกาลพระเจ้าอโศก ในอินเดียราวพุทธศตวรรษที่ 4) ไม่มีพิธีราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์ มีแต่พิธีกรรมง่าย ๆ คือ หลังจากพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคตแล้ว เสนามาตย์จะยก“ยัฎฐํ” ให้กับผู้ที่เขาเห็นว่า สมควรจะครองแผ่นดิน
“ยัฎฐํ” นั้น แปลง่าย ๆ คือ ไม้เท้า ให้หรูหราหน่อยก็คือ พระคฑา เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจ มีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินมีอาญาสิทธิ์ ลงโทษคนในสังคมได้
หลังจากที่ได้ใช้พิธีกรรมง่าย ๆ นี้มาราวสามร้อยปี เข้าสมัยพระเจ้าอโศกครองราชย์ ในอินเดีย ตำนานมหาวงศ์ มีเรื่องแปลก ๆ ที่ ฟังเป็นเทพนิยายว่า พระเจ้าติสสะ ของลังกา ทรงพระกฤษฎาภินิหารยิ่งนักจนเกิดมี “เวณุยัฎฐํ” อันวิเศษ สามต้นขึ้นในลังกา เวณุยัฎฐํ นั้นแปลว่า กระบอก หรือกระบองไม้ไผ่ พระเจ้าติสสะเห็นสำคัญนัก แต่คณะทูตให้เอา “เวณุยัฎฐํ” สามกระบอกนี้ ไปถวายพระเจ้าอโศก ที่กรุงปาฏลีบุตร ในอินเดีย
พระเจ้าอโศก ทรงรับเครื่องบรรณาการด้วยความโสมนัส แล้วจัดเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพิธีกรเพื่อจะอภิเษกพระเจ้าติสสะให้เป็นพระมหากษัตริย์ ถูกต้องตามพระราชประเพณีอินเดีย เป็นองค์แรกในลังกา และพระเจ้าอโศกยกพระนาม“เทวานัมปิยะ” ของพระองค์ให้พระสหาย ท่านจึงทรงพระนามว่า “เทวานัมปิยาติสสราช” ต่อจากนั้นเป็นต้นมา
ต่อจากนี้ไป ผมจะขอตีความเอาเองนะครับ “เวณุยัฎฐํสามลํา” นั้น ผมเห็นว่าน่าจะหมายถึง พระคฑาสามอัน ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจเหนือ “ตรีสิงหละ” คือ กรุงอนุราชปุระ ในภาคเหนือ, มลยรัฎฐ แดนภูเขาในภาคกลาง และโรหณชนบท ในภาคใต้
ที่พระเจ้าติสสะถวายพระคฑาหรือไม้เท้าสามอันนี้ เป็นบรรณาการแด่พระเจ้าอโศก เท่ากับว่า ท่านยกลังกาทั้งเกาะเป็นเมืองขึ้นกับพระเจ้าอโศก และขอความคุ้มครองจากท่าน พระเจ้าอโศกจึงตอบสนองโดยให้เกียรติแก่พระเจ้าติสสะอย่างเต็มบริบูรณ์
ที่พระเจ้าติสสะต้องถวายตัวกับพระเจ้าอโศก เป็นเรื่องความสมดุลทางอำนาจการเมือง แดนทมิฬนั้นอยู่นอกราชอาณาจักรพระเจ้าอโศกก็จริงอยู่ แต่พระเจ้าอโศกท่านทรงมีพระหัตถ์หนัก เมื่อพระเจ้าติสสะฝากแผ่นดินไว้กับพระเจ้าอโศกแล้ว ทมิฬไม่กล้าคุกคาม
ทำไมพระคฑาสามอันของลังกา จึงกลายเป็น “ต้นไผ่วิเศษสามต้น” ในตำนานมหาวงศ์
ผมเข้าใจว่า ผู้ที่แต่งตำนานเมื่อประมาณพุทธศตวรรษ 1000 (พระราชอำนาจของพระเจ้าอโศกหมดไปนานแล้ว) ไม่อยากยอมรับว่า ลังกาด้อยอำนาจถึงต้องถวายแผ่นดินกับอินเดีย ท่านจึงแปลงพระคฑาให้เป็นไม้ไผ่วิเศษคล้ายเป็นเทพนิยายไป
แต่ท่านผู้แต่งตำนานเป็นพระภิกษุ ท่านจึงไม่โกหก เราจึงพอคลำหาความเท็จจริงได้จนถึงวันนี้
แล้วเรื่องนี้มันเกี่ยวกับการที่นครศรีธรรมราช ถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง มายังกรุงศรีอยุธยาอย่างไรล่ะ
ผมว่าเกี่ยวกันอย่างตรงประเด็นเลยทีเดียว คือแต่เดิมนั้นประเทศราชจะถวาย “ยัฎฐํ” เป็นไม้เท้าเป็นกระบองอะไรซักอย่าง หมายถึง พระราชอำนาจ ต่อมาเป็นร้อยปีพันปีเข้าลืมความหมายเดิม เห็น “ไม้” เป็น “ต้นไม้” จึงปักลงไปในกระถาง ลงรักปิดทองติดใบไม้ดอกไม้ทองคำ จึงกลายเป็น ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ก็ถวายเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
หากว่าผมตีความถูก ก็เชิญท่านผู้อ่านที่สนใจประเพณีไทยมาช่วยกันค้นหาต้นตอต่าง ๆ ในลังกา
หากผมตีความผิดพลาดไปโปรดอย่าเอา “ยัฎฐํ” มาไล่ตีผมนะครับ
อ่านเพิ่มเติม :
- “ช้างบรรณาการ” จากรัชกาลที่ 4 จบชีวิตที่ร้านขายเนื้อกรุงปารีส!?
- จริงหรือ!? โจรขุดกรุวัดราชบูรณะ โดนอาถรรพณ์-เป็นบ้า ถือพระแสงขรรค์ไปรำที่ตลาดหัวรอ
- รถไฟจำลอง เครื่องราชบรรณาการจากสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษ
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “การถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ทำไมต้องเป็นต้นไม้?” เขียนโดย ไมเคิล ไรท์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2527
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : การถวาย “ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง” ทำไมต้องเป็น “ต้นไม้” ?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
ความเห็น 0