โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“เอก ทองประเสริฐ” แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้นำเทรนด์ออกแบบเพื่อความยั่งยืนมาใช้กับยูนิฟอร์ม

นิตยสารคิด

อัพเดต 06 มิ.ย. 2566 เวลา 02.35 น. • เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2566 เวลา 02.35 น.
ek-cover
ek-cover

เอก ทองประเสริฐ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะแฟชั่นดีไซเนอร์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับโลก เจ้าของรางวัล Fashion Collection of the Year 2007, International Talent Support จากอิตาลี และ Fashion Weekly Brussels จากเบลเยียม

นอกจากนี้ เขายังเป็นดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ “Ek Thongprasert” และ “Sculpture” แบรนด์สตรีทแฟชั่นน้องใหม่ของตัวเอง ทว่าน้อยคนจะรู้ว่า เอกอยู่เบื้องหลังความสวยงามของยูนิฟอร์มในเครือโรงแรมหรูหลายแห่ง รวมถึงศูนย์การค้าชื่อดัง บริษัทประกันภัย จนถึงสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ หลังจากเมื่อหลายปีก่อน เขาได้ร่วมงานกับ PJ-Garment บริษัทผู้ผลิตยูนิฟอร์มระดับท็อป 5 ของประเทศไทย ก่อนตัดสินใจเปิดตัวแบรนด์ “Wear to Work” (W2W) เมื่อปี 2564 ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการยูนิฟอร์มก้าวสู่การแข่งขันที่ร้อนแรงและน่าสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Happy to Wear, Happy to Work”

IMG_6866.JPG

เปลี่ยนมุมมองจากการออกแบบเพื่อแฟชั่นสู่ “ฟังก์ชัน”
แม้จะเรียนจบปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เอกก็มีความฝันที่อยากจะเรียนต่อในด้านแฟชั่นที่เขาหลงใหล จึงเลือกเรียนต่อปริญญาตรีและปริญญาโทที่ Fashion Department of the Royal Academy of Fine Arts Antwerp ที่แอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม ที่เลื่องชื่อด้านศิลปะและมีอายุกว่า 400 ปี มีศิลปินและดีไซเนอร์ชื่อดังหลายคนเรียนจบจากสถาบันแห่งนี้ เช่นเดียวกับเอกที่สร้างชื่อเสียงให้ดีไซเนอร์ไทยเป็นที่สนใจในเวทีระดับสากล ผลงานเสื้อผ้าของ Ek Thongprasert สะท้อนตัวตนและมุมมองที่เขามีต่อแฟชั่นได้อย่างดี

เมื่อก้าวเข้ามาสู่โลกที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์และเงื่อนไข เพื่อให้ยูนิฟอร์มสอดคล้องกับปรัชญาและวัฒนธรรมของแต่ละองค์กร เอกจึงต้องถอดหมวกใบเดิมในฐานะ “แฟชั่นดีไซเนอร์” เพื่อลดทอนความเป็นตัวตนและกลิ่นอายของ Ek Thongprasert

image_big_609a9f13b703a-1-717x1024.jpg

“ยอมรับว่า การทำงานกับแบรนด์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมุมมองของเราในฐานะแฟชั่นดีไซเนอร์กับมุมมองของลูกค้าอาจแตกต่างกัน การออกแบบยูนิฟอร์มต้องลดทอนความเป็นตัวตนของเราลง ขณะเดียวกันยูนิฟอร์มก็ต้องดูมีสไตล์และไม่น่าเบื่อ ความยากจึงเกิดจากการบาลานซ์ระหว่างฟังก์ชันและความสวยงาม รวมถึงการปรับมายด์เซ็ตให้ตรงกันเสียก่อน เพราะการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นเราจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางได้ แต่การออกแบบยูนิฟอร์มจะต้องเริ่มจากลูกค้า ยิ่งเราออกแบบให้องค์กรใหญ่ ยิ่งมีความหลากหลายของวัยและสรีระ ทำให้เราไม่สามารถที่จะออกแบบยูนิฟอร์มให้ถูกใจทุกคนได้”

“อีกหนึ่งความยากในการออกแบบยูนิฟอร์ม คือเราต้องคำนึงถึงสีสันและฟอร์มขององค์กรด้วย เพราะยูนิฟอร์มเป็นเรื่องของ “ฟังก์ชัน” ขณะที่แฟชั่นเป็นเรื่องของ “กิเลส” เวลาใส่เสื้อผ้าแฟชั่น คนจะมองว่าเราสวยไหม เราดูดีหรือเปล่า ไม่ต้องรู้สึกถึงแบรนด์ก็ได้ แต่รู้สึกถึงความมั่นใจ ขณะที่การสวมยูนิฟอร์มแล้วต้องรู้สึกมั่นใจ รู้สึกถึงแบรนด์ และความรู้สึกของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ สำหรับเอก ยูนิฟอร์มเป็นเหมือนการเล่าเรื่องราวของแบรนด์ผ่านเสื้อผ้า โดยมีพนักงานเป็นภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรด้วยเช่นกัน”

image_big_609a9e6d42f21-1.jpg

แค่ความสวยคงไม่พอ เพราะยูนิฟอร์มคือ “จิตวิญญาน” ของแบรนด์
หลายปีที่ผ่านมาผลงานของคุณเอกเป็นที่จดจำในฐานะแฟชั่นดีไซเนอร์ ศิลปิน และครีเอทีฟชื่อดัง ที่มักจะหยิบยกเรื่องราวต่าง ๆ ทางสังคมและวัฒนธรรม นำมาสื่อสารผ่านการออกแบบเสื้อผ้าและงานศิลปะ อาทิ โปรเจ็กต์ “Charoenkrung Creative District” และ “Made in Charoenkrung” ที่เขานำความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรมตลอดจนวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเจริญกรุง มาถ่ายทอดเป็นนิทรรศการศิลปะและผลงานสตรีทแฟชั่นที่ร่วมจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week 2022

“ผมมองตัวเองเป็นนักเล่าเรื่องผ่านแฟชั่นและผลงานศิลปะ และผมก็เชื่อว่า ยูนิฟอร์มสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์ได้อย่างลุ่มลึกเช่นกัน ในยุคก่อนเราอาจจะเน้นยูนิฟอร์มที่สวยงามมาก่อนการใช้งาน ทั้งที่จริง ๆ แล้วยูนิฟอร์มส่งผลต่อ ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานด้วยเช่นกัน ยูนิฟอร์มสะท้อนจิตวิญญาณของแบรนด์ได้โดยปราศจากคำพูด ยูนิฟอร์มยุคใหม่จึงต้องมีดีมากกว่าความสวย แต่ต้องเน้นฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย ปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามสรีระที่เปลี่ยนไป ช่วยเสริมความมั่นใจ สะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร เมื่อพนักงานสวมใส่แล้วต้องรู้สึกดีกับตัวเอง และรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำงานในองค์กรที่ใส่ใจพวกเขา”

slide03.jpg

Wear to Work จึงเกิดจากความมุ่งมั่นที่จะสร้างมิติใหม่ของการออกแบบยูนิฟอร์มในคอนเซ็ปต์ “Tailor Made” ด้วยการนำเทคนิคในการออกแบบแฟชั่นมาประยุกต์เข้ากับการออกแบบยูนิฟอร์ม ตั้งแต่การเลือกเนื้อผ้าคุณภาพดีจากทั่วโลก การออกแบบที่คำนึงถึงหลักสรีรศาสตร์ของคนหลายช่วงวัย ความคล่องตัวของผู้สวมใส่ ทั้งยังสะท้อนนิยามความเป็น “Life Uniform” หรือยูนิฟอร์มที่ตอบโจทย์การทำงานในทุก ๆ วันได้อย่างลงตัว

“ยูนิฟอร์มทำหน้าที่เป็น Soft element และ Touch point แรก ๆ ที่ลูกค้าจะได้สัมผัสกับแบรนด์ ควบคู่กับการออกแบบตกแต่งสถาปัตยกรรมขององค์กร ซึ่งความประทับใจแรกของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์และความมั่นใจของพนักงานที่มีต่อยูนิฟอร์มที่พวกเขาสวมใส่”

นอกจากนี้ เขายังคำนึงถึงฟังก์ชันการใช้งานที่สะดวกสบาย สร้างความรู้สึกมั่นใจขณะสวมใส่ทั้งในและนอกออฟฟิศ เน้นการตัดเย็บที่เนี้ยบด้วยรายละเอียด ฟิตพอดีกับรูปร่าง สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้สวมใส่ ง่ายในการดูแลรักษา และช่วยยืดอายุการใช้งานของยูนิฟอร์มเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน

artwork-01-16-1536x1086.jpg

ไซส์ที่ไม่พอดีกับรูปร่าง ส่งผลต่อการทำงานและภาพลักษณ์ขององค์กร
ภายใต้การออกแบบที่คำนึงถึงหลักสรีรศาสตร์ ทำให้ยูนิฟอร์มของเอกไม่จำกัดแค่ไซส์ S, M, L, XL และ XXL เพราะเขาแบ่งสรีระของคนไทยออกเป็น 10 แบบ (อ้างอิงจากสถิติของภาครัฐและภาคเอกชน) บวกกับการนำนวัตกรรมของเนื้อผ้าอย่าง Quick dry และ Life wear มาผสมผสานกับการดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยรายละเอียด เพราะยูนิฟอร์มไม่ได้สะท้อนเพียงภาพลักษณ์ขององค์กร หากแต่คือวิถีชีวิตของผู้สวมใส่เพื่อให้พวกเขามีความมั่นใจและเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน

“การที่พนักงานสวมยูนิฟอร์มที่ทำให้พวกเขารู้สึกไม่มั่นใจ ไม่สบายตัว ไม่คล่องตัวในการทำงาน ด้วยเพราะชุดที่คับหรือหลวมจนเกินไป ส่งผลต่อจิตใจและการทำงานเช่นกัน อย่างการเคลื่อนไหวที่ไม่คล่องตัวก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุในระหว่างทำงานได้ สำคัญที่สุด ยูนิฟอร์มที่ดีต้องไม่ยุ่งยากในการดูแลรักษา ไม่ยับง่าย สีไม่ซีดไว เนื้อผ้าไม่เป็นขุย ระบายเหงื่อและความชื้นได้ดี เพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นของบ้านเรา”

นอกจากจะคำนึงถึงเนื้อผ้า ฟังก์ชันการใช้งาน และสรีระที่แตกต่างกันของคนไทย ก่อนจะรับงานออกแบบยูนิฟอร์มให้กับองค์กรใด เขาจึงมักค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ การเคลื่อนไหวทางสังคม รวมไปถึงรับฟังเสียงสะท้อนจากพนักงานและลูกค้าของแบรนด์ด้วยเสมอ

“ทุกวันนี้ Social movement มีส่วนทำให้บทบาทของยูนิฟอร์มเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากที่รับฟังฟีดแบ็กของพนักงานและลูกค้าทำให้เข้าใจว่า ยูนิฟอร์มของธุรกิจบางประเภทอาจจะดูเข้าถึงยากเกินไป จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ดูลำลองและเข้าถึงง่ายมากขึ้น อย่างสมัยก่อน คนทำงานธนาคารจะต้องใส่สูทผูกไทให้ดูภูมิฐานและน่าเชื่อถือ แต่ยุคนี้อาจทำให้ลูกค้ารู้สึกอึดอัดและไม่อยากปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์นั้น ๆ เพราะรู้สึกไม่ได้รับการต้อนรับ แบรนด์สูงส่งกว่า หรือพวกเขาไม่คู่ควรกับแบรนด์ก็เป็นได้”

15467-683x1024.jpg

สนุกกับการ Mix & Match ยูนิฟอร์มในสไตล์ของตัวเอง
แนวทางการออกแบบยูนิฟอร์มเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเห็นได้จากแบรนด์ระดับโลกที่เลือกใช้ยูนิฟอร์มที่ดูลำลอง คล่องตัว ทันสมัย เข้าถึงง่าย และเป็นกันเองมากขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถ Mix & Match ยูนิฟอร์มเป็นสไตล์ของตัวเองได้ด้วย

“บางองค์กรคัดสรรเสื้อผ้าของแบรนด์ต่าง ๆ มาเพื่อให้พนักงานสามารถ Mix & Match เป็นยูนิฟอร์มที่มีสไตล์เป็นของตัวเองได้เลย หรือบางแบรนด์ถึงกับไม่มียูนิฟอร์มเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความเป็นกันเองและเข้าถึงง่าย ขณะเดียวกันลูกค้าก็ยังควรสามารถแยกออกว่า ใครเป็นพนักงาน หรือหัวหน้าจะแต่งตัวแตกต่างจากพนักงานคนอื่น ๆ ของแบรนด์”

artwork-01-2-2048x1448-2.jpg

คุณเอกเคยใช้รูปแบบนี้ในการออกแบบยูนิฟอร์มให้กับบริษัทประกันแห่งหนึ่งเมื่อกว่า 3 ปีก่อน หลังจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีต่อบริษัทประกันภัย จากที่เมื่อหลายสิบปีก่อน ธุรกิจประกันมักจะเชื่อมโยงกับความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้คน ทำให้การออกแบบยูนิฟอร์มต้องดูแล้วน่าเชื่อถือ แต่ทุกวันนี้บริษัทประกันอยากให้ลูกค้ารู้สึกอุ่นใจเหมือนเพื่อนที่คอยให้คำแนะนำที่ดี

“เราศึกษาบริบทในการออกแบบของผ่าน Social movement และ Carbon footprint ที่กำลังขับเคลื่อนธุรกิจหลักของโลกในยุคปัจจุบัน เราจึงออกแบบให้พนักงานสามารถ Mix & Match ยูนิฟอร์มได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งเสื้อเชิ้ต โปโล คาร์ดิแกน สูท กางเกง กระโปรง จนถึงผ้าพันคอ ให้สามารถเปลี่ยนลุกได้ตามต้องการและเหมาะสมกับการทำงานในแต่ละวัน ขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังคงความเป็นหนึ่งเดียวผ่านสีสันและรูปแบบของยูนิฟอร์มได้ด้วย ยูนิฟอร์มยังบ่งบอกหน้าที่ของพนักงานในแต่ละระดับได้ หากเราใส่รายละเอียดในการออกแบบลงไปให้เหมาะสม ดังนั้น แม้จะใส่ยูนิฟอร์มเหมือนกัน แต่บุคลิกภาพและทัศนคติของพนักงานแต่ละคนก็ส่งผลต่อความรู้สึกของลูกค้าที่แตกต่างกันไป”

artwork-capella-08-1-1536x1086.jpg

Sustainable Movement การออกแบบยูนิฟอร์มที่ขับเคลื่อนโลก
ไม่เพียงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือ Climate change จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ยูนิฟอร์มเองก็ได้รับแรงกระเพื่อมจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วยเช่นกัน นั่นทำให้เรื่องของคาร์บอนฟุตปรินต์และความยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ดีไซเนอร์ต้องนำมาปรับใช้กับการออกแบบยูนิฟอร์ม

“ทุกวันนี้หลายองค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนหรือ Sustainable movement และคาร์บอนฟุตปรินต์ กันมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรและนโยบายหลักของประเทศ รวมไปถึงภาพลักษณ์ขององค์กรที่มีต่อเวทีระดับโลก แน่นอนบทบาทของยูนิฟอร์มจึงเป็นมากกว่าภาพลักษณ์ขององค์กร แต่ต้องสะท้อนปรัชญาในการดำเนินธุรกิจที่ลดการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน”

ยูนิฟอร์มของ W2W จึงขับเคลื่อนไปในทิศทางที่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ดังเช่นที่เอกยึดมั่นในแนวทางของ Social movement และ Sustainable movement มาตลอด

“เราจึงต้องออกแบบยูนิฟอร์มให้สอดคล้องกับเรื่องของคาร์บอนฟุตปรินต์ ตั้งแต่การเลือกผ้า กระบวนการผลิต การหมุนเวียนของเสียภายในโรงงาน การรีไซเคิล การลดใช้พลังงานสิ้นเปลืองภายในโรงงาน การย้อมสีที่ปราศจากสารเคมีอันตรายที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จนถึงกระบวนการผลิตที่สามารถยืดอายุการใช้งานของยูนิฟอร์มให้นานขึ้น เพราะนั่นหมายถึง ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน” แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังกล่าวทิ้งทาย

ภาพ : เอก ทองประเสริฐ

เรื่อง : รัสรินทร์ สุนทรกมลรัศมิ์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0